ความจริง ความหวัง ความอยู่รอด

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพยายามรักษาความน่าเชื่อและความคาดหวัง ให้กับนักลงทุนจากธุรกิจจัดการกองทุนรวมยุคปัจจุบัน

ดูเหมือนว่าโลกกำลังเล่นตลกกับบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ครั้งหนึ่งออกกองทุนหุ้นทุน (Equity Fund) ให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 16 กองทุน มี ผู้ถือหน่วยกว่า 80,000 ราย แต่สุดท้ายเมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศอนุญาต ให้ควบรวมกองทุนเก่าประเภทเดียวกันได้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนจุกจิก แน่นอน บลจ. ไทยพาณิชย์ย่อมไม่พลาดโอกาสที่ดีเช่นนี้

"เรากำลังรอประกาศของ ก.ล.ต. เพราะเรามีกองทุนสมัยเก่าเป็น 10 กอง เดิมเป็นกองทุนปิด ออกมาทีละ 5,000 ล้าน บาท มันเป็นเบี้ยหัวแตก หากกฎเกณฑ์อันนี้ออกมาเป็นการดีเราก็จะขอมติผู้ถือหน่วย ซึ่งตอนนี้ก็ขอเพียง 50% รวมกันเข้ามาเป็นกองเดียวซึ่งจะช่วยประหยัดได้สารพัดอย่างเลย" ธีระ ภู่ตระกูล กรรมการ ผู้จัดการ บลจ.ไทยพาณิชย์อธิบาย

เขายังอธิบายอีกว่า เมื่อ ก.ล.ต.เปิดโอกาสให้ดำเนินการ บริษัทจะมีการรวมกอง ที่เคยเป็นกองปิดในอดีตและทุกวันนี้เป็น กองเปิดแล้ว ส่วนมากเป็นกองทุนหุ้นทุน คือ หุ้นที่แต่ละกองทุนซื้อนี่เป็นหุ้นชุดเดียวกัน ลงทุนเหมือนๆ กัน ซึ่งมีความลำบากเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ซื้อหุ้นหนึ่งหุ้นก็ต้อง place 10 กอง ซึ่งความจริงน่าจะยุบเป็น กองเดียว เพราะหน้าตาไม่แตกต่างกันเลย

อย่างไรก็ตาม การรวมกองทุนเป็นเรื่องจุกจิกพอสมควรสำหรับ บลจ.ไทยพาณิชย์ เพราะมีผู้ถือหน่วยกว่า 80,000 ราย จึงต้องมาขอมติอะไรต่างๆ เป็นงานหนักหน่วงแต่ก็ต้องทำ "ก.ล.ต. ขอความร่วมมือ มาว่า เขาอุตส่าห์แก้กฎเกณฑ์นี้ให้แล้ว หากใครไม่ทำจะโดนจับตา"

กองทุนหุ้นของ บลจ.ไทยพาณิชย์เกือบทั้งหมดล้วนมีมูลค่าหน่วยลงทุนหรือ NAV ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน หากพิจารณาตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมา (3 ปีหรือมากกว่านั้น) ซึ่งลักษณะนี้ก็ไม่ต่างไปจากกองทุนหุ้นของ บลจ.อื่นๆ ที่มีอายุใกล้เคียงกัน

ส่วนกองทุนที่ธีระให้ความสนใจมากในเวลานี้คือ กองทุนเซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆ ตัวที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นลงใกล้เคียงกับดัชนีหลักทรัพย์ไทย (Set Index) เหตุผลที่ชอบกองนี้เพราะมีหุ้นหลายตัวที่ออกมาจากกลุ่มฟื้นฟูกิจการ "หุ้นวิ่งดีมากแต่บางครั้งซื้อไม่ทันก็มาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนนี้แทนเพราะมันวิ่งตามดัชนีอยู่แล้ว"

กองทุนรวมดังกล่าวมีลักษณะ "ผสมผสาน" ระหว่างกองทุนปิดและกองทุนเปิด อยู่ในกองเดียวกัน ซึ่งเหมาะสมกับนักลงทุน ในรูปแบบ Passive Portfolio Management เพราะกองทุนเลือกลงทุนในหุ้นไม่เกิน 120 บริษัท ในตลาดหุ้นไทย เน้นไปยังหุ้นที่มีสภาพคล่อง (Liquidity) และมูลค่าตลาด (Market Capitalization) สูง

การอาศัยหลักการกระจายการลงทุนเข้ามาช่วยในการลงทุน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นรายตัวของนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไป และลดความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนได้

ส่วนการออกกองทุนใหม่ๆ เขามองว่า บลจ.ไทยพาณิชย์มีกองทุนประเภท ต่างๆ ครบแล้วและไม่อยากเป็นเหมือนสมัยก่อนที่มีการออกกองทุนประเภทเดียว กันหลายกอง ขณะที่สินค้าที่ซื้อได้ก็มีอยู่จำกัด "เรามีค่อนข้างครบแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกองใหม่มากมายมหาศาล ทั้งๆ ที่ไส้ในก็ไปลงในสิ่งเดิมๆ หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วแลกเงิน"

บอนด์ FIDF
ส่งผลกระทบตลาดพันธบัตร

สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ช่วยชาติของกองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี สังเกตได้จากดัชนีตราสารหนี้ที่สะท้อนออกมาจากการออกพันธบัตรดังกล่าวอย่างชัดเจน กล่าวคือ ดัชนีปรับตัวลดลงตลอดเมื่อยังไม่มีความชัดเจนในการออกพันธบัตร แต่ครั้นมีความชัดเจนเกิดขึ้นดัชนีดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในสภาพเดิม เพราะว่าสภาพคล่องในระบบตลาดเงินไม่ได้หายไป ทั้งนี้อัตราสินเชื่อต่อเงินฝาก (loan to deposit ratio) ของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่งอยู่ระหว่าง 80%-85% สะท้อนสภาพคล่องที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือและภาวะเงินเฟ้อยังยืนอยู่ในระดับ 1% ดังนั้นจึงไม่มีความกดดันเรื่องเงินเฟ้อว่าต้องมีการปรับดอกเบี้ยอะไร

เมื่อพิจารณา 3 ปัจจัยหลักนี้พบว่า การออกพันธบัตรช่วยชาติไม่มีผลกระทบต่อเรื่องอัตราดอกเบี้ยสักเท่าใด และ บลจ. ไทยพาณิชย์มองว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะเข้าสู่ภาวะปกติ คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยสามารถเคลียร์ภาระหนี้ 5 แสนกว่าล้านบาทได้ ปลดหนี้ออกไป การปล่อยสินเชื่อเกิดเป็นปกติ สภาพคล่อง จึงจะหมดไปโดยเฉพาะเมื่อดูสภาพตลาดสหรัฐฯ คาดว่าดอกเบี้ยไม่น่าขึ้นในเร็ววัน เพราะสถานะเงินดอลลาร์และตลาดทุนมีการปรับตัวลงมาก เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีอย่างที่คาดหวังกัน

สำหรับผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาดรองนั้น มีการปรับตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี "อย่างไรก็ดีตอนนี้มีคนเริ่มมองข้ามไปแล้วว่าการออกพันธบัตรในปีต่อๆ ไปอีก 3 แสนกว่าล้านบาทนั้นจะเป็นอย่างไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ได้มีเยอะมากเท่าใด" ธีระกล่าว

ด้านผู้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ ดูเหมือนไม่มีการคำนวณผลตอบแทน ที่แท้จริงและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ผลตอบแทนที่ได้จากการถือพันธบัตรไม่ได้มีมากอย่างที่โฆษณากัน เพราะมีการเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ด้วย และหากมีการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด ผลตอบแทนที่ได้ยิ่งลดน้อยลงไปอีก

"โอกาสที่คนจะไถ่ถอนพันธบัตรก่อนครบกำหนดอายุมีค่อนข้างมาก เพราะ คาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าโอกาสที่อัตรา ดอกเบี้ยในตลาดเงินจะปรับเพิ่มขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้สูง"

ส่วนทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนนั้นเขาแนะนำกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีความสะดวกในแง่ที่สามารถได้ผลตอบแทนเต็มที่ ซื้อขายคล่อง ทำได้ทุกวันทำการ และมีการกระจายความเสี่ยง นี่จึงเป็นทางออกสำหรับผู้ฝากเงินที่พลาดโอกาสการซื้อพันธบัตรฯ ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) เป็นกองทุนที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเป็นการลงทุนที่สามารถนำไปช่วยหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างพนักงานบริษัทจะเริ่มซื้อกันตั้งแต่ในเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อให้บริษัทคำนวณเกี่ยวกับการหักภาษีในช่วงต้นปีถัดไป

เรียกร้องเปิดเสรีกองทุน FIF
รอบหลัง

ด้านกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศหรือ FIF ที่ปิดการขายและมีการ นำเงินออกไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ปรากฏว่า หลายกองทุนมีผลการดำเนินงานต่ำลง เพราะเจอสถานการณ์ค่าเงินผันผวน ดอลลาร์อ่อน บาทแข็ง และสภาพตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ และยุโรปมีความผันผวนมาก ทำให้ขาดทุนกันเป็นแถว

"พวกเราค่อนข้างจะผิดหวังกับ ก.ล.ต.ที่ให้ออกกองทุนมาในตอนนี้ เป็นจังหวะเวลาที่แย่มาก โดยเฉพาะตลาดต่างชาติดิ่งเหว เงินบาทแข็งค่า ทำให้ขาดทุน คือที่ผิดหวังและเสียดาย เพราะตอนนั้นเราเสนอโครงการเข้าไป แต่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะตอนที่เสนอเป็นกองทุนที่ค้ำประกันเงินต้น และค้ำประกันผลตอบแทน ขั้นต่ำ 3% ต่อปี และเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งเราเก็งไว้แล้วว่าเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้น และที่ผิดหวังคือนี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้ออกไปลงทุนต่างประเทศ นี่ยังไม่ถึง 6 เดือน เหลือ 8 บาทอย่างนี้ ผิดหวังมาก"

หาก บลจ.ไทยพาณิชย์ได้ออกกองทุน FIF จะทำสวอปเงินลงทุนที่ออกไป ต่างประเทศกลับมาเป็นบาท และมีการ การันตีกับนักลงทุนไทยว่าลงทุนกับเรา 5 ปี 10 ปี เงินต้นไม่หาย เราการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปีด้วย

สิ่งที่ธีระเป็นห่วงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนออกไปข้างนอกแล้วผิดหวัง คือ ความไว้วางใจ เพราะ ก.ล.ต.เองเคยทำการสำรวจแล้วพบว่า 77% ของนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามกลับมา สิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด คือ การค้ำประกันเงินต้นและค้ำประกันผลตอบแทน

สำหรับการเปิด FIF รอบถัดไปเขาคิดว่าควรจะเปิดเสรี ไม่ควรเอา 5 รายเดิม ซึ่งล็อตแรกก็ยังขายไม่หมด ล็อตต่อไปก็คงจะขายไม่หมดอีก นอกจากนี้กองทุนยังมีจุดยืนไม่มั่นคงด้วย บางกองทุนบอกว่าจะลงทุนในสหรัฐฯ พอตลาดสหรัฐฯ ไม่ดี ก็กลับมาลงทุนในเอเชีย อันนี้หากมีการจัดการไม่ดีพอ จะทำให้นักลงทุนมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับกองทุนรวม

"ผมถึงได้บอกว่าการขายครั้งแรกเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ ก.ล.ต.อยากจะเห็นเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่กองทุนทำ ที่บอกว่าต้องมีขั้นต่ำหมื่นบาท ให้กระจายสู่รายย่อย คุณดูบางกอง ครึ่งหนึ่งของกองเป็น กองทุนประกันสังคมซื้อไป ส่วนที่เหลือก็เป็นพวกเศรษฐี มันไม่ถึงมือนักลงทุนรายย่อยเลย ก.ล.ต.ต้องเปิดเสรี ควรจะเปิดเสรี ว่าใครมีความสามารถขายได้ให้ขายไป มันจะเป็นการดีแก่ผู้บริโภค ผมเสียดายมาก เป็นครั้งแรกที่ออกไป ควรมีการป้องกันตัวเองที่ดีกว่านี้"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.