อำแดงเซรามิคส์ ดินเผาพื้นบ้านสู่การส่งออก


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

อำแดงเซรามิคส์ ดินเผาพื้นบ้านสู่การส่งออก "อำแดงเซรามิคส์"นำความรู้ทางศิลปะ มาพัฒนารูปแบบ เครื่องดินเผาด่านเกวียน ทำให้สินค้า ที่เคยเป็น เพียงของ ที่ระลึกพื้นบ้าน กลายเป็นสินค้าส่งออก ที่มีตลาดกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลก

ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาไปทาง ทิศใต้ราว 15 กม. บนถนนสายราชสีมา-โชคชัย สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผา "บ้านด่านเกวียน" ที่รู้จักกันดีทั้งใน และต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมปั้นลอยตัวรูปคน รูปสัตว์ ประติมากรรมแกะสลักฝาผนัง กระเบื้อง กระถาง กระเช้า แจกัน โคมไฟดินเผา อีกทั้งครก โอ่ง ไห ถ้วยชามหลากหลายลวดลาย

ไชยพร-สุดารัตน์ เกิดมงคล สองสามีภรรยา และ น.ส.สุวนีย์ เนตวงษ์ คือ หุ้นส่วนเจ้าของบริษัทอำแดง เซรามิคส์ หนึ่งในผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนบ้านด่านเกวียน

ทั้งไชยพร และสุดารัตน์ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ด้านการค้าการส่งออกมาก่อน แต่หลุดเข้ามาในโลกธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาจากจุดเริ่มต้นในความรักงานศิลปะ ส่วนสุวนีย์เอง ซึ่งตอนนี้เป็นคีย์แมนด้านการตลาดต่างประเทศ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนศาสตร์ด้านประติมากรรมฝาผนัง ที่มหาวิทยาลัย Texas A&M เมือง Corpus Christi สหรัฐอเมริกาภายใต้ทุนของ Fullbright ทั้ง ที่เรียนจบด้านบรรณารักษ์โดยตรง แต่ด้วยใจ ที่เป็นศิลปินหลงใหลในงานศิลปะเป็นทุนเดิม จึงเลือก ที่จะมาทำงานด้านนี้

อำแดงเซรามิคส์มีแผนกออกแบบผลิตภัณฑ์ และประติมากรรม ที่โดดเด่น ได้สร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาหลายรูปแบบ หลาย ประเภท ภายใต้เหตุผลที่ต้องการสร้างความแปลกใหม่แตกต่างไปจากสินค้าของคู่แข่งขัน เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทใหม่แต่เพียงรายเดียวในด่านเกวียน ประดับด้วยวัสดุใบไม้สีต่างๆ เครื่องปั้น ที่มีลวดลาย Texture ใหม่ๆ และถักสาน ด้วยหวายหรือเชือกปอ รวมถึงการประดับด้วยหอยทะเลรูปทรงแปลกๆ

ขณะเดียวกันยังทำการออกแบบ เฉพาะให้กับลูกค้าเฉพาะราย ทำให้สนองตอบตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น เช่น ออกแบบกระเช้าแขวนให้กับ Matsuda trading Co.,Ltd.

นอกจากนี้ยังออกแบบกระดาษ และไหประดับของใหญ่ ให้กับ Kallesoe Import ประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น

แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว สามารถคงรายได้ และเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ สร้างยอดขายให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนกับผลกำไร ที่ต่ำลงของผลิตภัณฑ์ ที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้

ไชยพรกล่าวถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด ของบริษัทอำแดงเซรามิคส์ว่าต้องการเป็นบริษัทผลิต และส่งออก ที่สมบูรณ์ครบวงจรในตัวของมันเอง โดยจัดตั้งโชว์รูมแสดง และจำหน่ายสินค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรป และประเทศอเมริกา เพื่อทำตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ และเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะมั่นใจว่ามาตรฐานการออกแบบเครื่องปั้นดินเผาของไทยไม่เป็นรองประเทศใด โดยมีจุดเด่น ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากมือล้วนๆ (Pure Hand Made)

จุดเริ่มต้น

ในห้วงปี พ.ศ.2515-2517 ขณะที่เป็นนักศึกษาคณะออกแบบแผนกศิลปกรรม และประติมากรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ทั้งไชยพร และสุดารัตน์พร้อมกับ เพื่อนนักศึกษาราว 10 กว่าคนได้มีโอกาสมาสัมผัสบ้านด่านเกวียนโดยการนำของอาจารย์ทวี รัชนี-กร หัวหน้าแผนกฯ เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาทดลองวิชา ที่ร่ำเรียน

ด้วยการนำความรู้ด้านศิลปะการ ออกแบบแนะนำกับกลุ่มชาวบ้าน ที่ทำเครื่องปั้นดินเผาขายเป็นงานอดิเรกหลังฤดูการทำนา ซึ่งเครื่องปั้นดินเผา ที่ชาวบ้านทำกันอยู่นั้น ยังคงเป็นจำพวกครก โอ่ง ไห ไม่มีการสร้างสรรค์ออกแบบรูปทรงใหม่ๆ แต่อย่างใด

แต่ด้วยใจรักในงานศิลปะ และมีโอกาสทดสอบวิชาความรู้ ที่มีอยู่กับงานเครื่องปั้นดินเผาร่วมกับชาวบ้าน การได้คลุกคลีกับงานปั้น เตาเผาในช่วงนั้น ยิ่ง ทำให้เกิดความหลงใหลในงานประติมากรรมมากยิ่งขึ้น

ภายหลัง ที่จบการศึกษาในปี 2518 ไชยพรพร้อมกับ เพื่อนสนิทคือ สุวนีย์ ซึ่งแม้จะเรียนอยู่คนละศาสตร์ และต่างสถาบันแต่มีใจรักในงานศิลปะเช่นเดียว กัน และสุดารัตน์รุ่นน้องร่วมสถาบัน ที่เรียนแผนกเดียวกับไชยพรเลยตัดสินใจลงขันร่วมกันรวบรวมเงินได้ 5 พันบาทมาเช่าที่ดินชาวบ้าน และสร้างเตาขุด 1 เตาพร้อมกับจ้างช่างปั้น 1 คน เพื่อทำเครื่องปั้นดินเผาขาย

ไชยพรเล่าว่าตอนนั้น เพิ่งจบใหม่ๆ ไฟ ที่อยากทำงานศิลปะแรงมาก อยู่ในช่วง ที่การเมืองกำลังระอุ เพื่อนๆ จำนวนไม่น้อยได้หนีเข้าไปใช้ชีวิตในป่า แต่สำหรับตัวเขาเลือก ที่จะใช้ชีวิตศิลปินในเมืองมากกว่า ไม่ได้นึกด้วยว่าเมื่อออกแบบ ปั้น เผาออกมาแล้วจะขายได้หรือไม่

กลางวันก็นั่งออกแบบคิดรูปทรง เครื่องปั้นใหม่ๆ ใส่สีสัน ที่แปลกตา ซึ่งชาวบ้านไม่ทำ เช่น หน้ากาก โอ่งดิน ที่มีการขึ้นรูปรอบๆ, ดอกไม้ หรือแม้แต่อ่างบัว ออกแบบเสร็จก็ให้ช่างปั้นตามแบบ เราไม่ต้องการปั้นแค่ภาชนะ แต่พยายามนำศิลปะมาใช้ให้เกิดความสวยงามมากที่สุด อย่างครก ที่ชาวบ้านปั้นเป็นรูปทรงธรรมดา ก็นำมาแกะลาย แบบเดิมขายได้แค่ 5 บาท แต่พอเราประยุกต์ศิลปะเข้าไปก็ตั้งราคาขายเป็น 15 บาท

เดือนแรกๆ ที่ทำกันนั้น ขายได้ไม่กี่ชิ้น แต่ก็ทนทำไป เพราะทำแล้วมีความสุขใช้ความรู้มาทดลองอย่างใจอยากจะทำ เอามาวางขายข้างถนนให้นักท่องเที่ยวสะดุดตา หลังจากนั้น ก็เริ่มมีคนสนใจงาน ที่ทำมากขึ้น รายได้ขยับเป็นเดือนละ 4-5 พันบาทอาจจะดูมาก แต่เมื่อแบ่งกัน 3 คนแล้วก็พอเลี้ยงชีพได้

ในปี 2519 ได้เกิดการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจการค้าของเครื่องปั้นดินเผาอำแดง ก็ว่าได้ เมื่อ Mr.Sumita Koksai Print จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำกิจการนำเข้า-ส่งออกในไทย คือ บริษัท แฟนซี ไทย ได้มาเห็นการทำงานของเราก็เกิดความรู้สึกประทับใจ และอยากจะสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง จึงสั่งทำนกฮูกกระเช้าไปขาย ที่ญี่ปุ่น 1 ตู้ คอนเทนเนอร์ สร้างความตื่นเต้นให้กับไชยพร และ เพื่อนเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็กลัวว่าจะทำส่งตามออร์เดอร์ไม่ทัน จึงจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านด่านเกวียนช่วยทำ

ไชยพรทำการออกแบบรูปทรง ปั้นเป็นตัวอย่าง และฝึกให้ชาวบ้านทำให้ได้อย่างต้นแบบ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็รวบรวมแพ็กจัดส่งด้วยการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อ ขายตัวละ 25 บาท จากต้นทุนโดยเฉลี่ยตัวละ 5 บาท ได้เงินก้อนใหญ่ก้อนแรกประมาณ 3 หมื่นบาท

บทเรียนธุรกิจบทแรก ที่ไชยพรได้รับจากการรับงานของ Mr.Sumita ในขั้นตอนการผลิต ซึ่งจ้างชาวบ้านมาช่วยทำให้นั้น ไม่สามารถควบคุมระบบการทำงานได้ เพราะทำบ้าง หยุดบ้างตามวิถีชาวบ้าน ยิ่งมีงานเทศกาลงานบุญในพื้นที่ด้วยแล้วจะหยุดทำงานไปกันเลย ไชยพรกับ เพื่อนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลงมือปั้น และเผาเองให้ได้มากที่สุด หากไม่เช่นนั้น จะไม่ทันตามกำหนดส่งของ

หลังจากหมดงานของ Sumita แล้ว กลุ่มไชยพรก็ได้มานั่งถกกันว่าจะผลิตอะไร ที่แปลกใหม่ และน่าจะขายได้ในวงกว้าง

ในที่สุดก็ได้ออกแบบผลิตสร้อยดินเผา ซึ่งยังไม่มีการผลิตในด่านเกวียน ทำออกมาใหม่ๆ ก็ยังขายไม่ได้ เพราะตลาดคนไทยไม่คุ้นกับเครื่องประดับประเภทนี้ จึงหันไปจับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศแทน

แต่ด้วยนครราชสีมาไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ต่างชาติเดินทางมากันน้อยก็เลยช่วยกันขนไปตั้งแผงขาย ที่พัทยา ขณะเดียวกันก็จ้างเด็กนักเรียนไปเร่ขายแถวศูนย์การค้าสยาม ในกรุงเทพฯ

การหันมาจับตลาดชาวต่างชาติครั้งนี้เป็นการตัดสินใจได้ถูก เพราะนักท่องเที่ยวให้ความสนใจในความแปลกใหม่ของสร้อยคอ ที่ทำมาจากดินเผา ต่างซื้อกลับไปฝากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ที่บ้านกันเป็นแถว

ทราบทีหลังว่าสร้อยคอดินเผาดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานฮือฮามากในยุโรป และต่อมา Mr.Sumita ก็ได้หวนกลับมาสั่งให้อำแดงเซรามิคส์ผลิตสร้อยคอดินเผาส่งให้อีกล็อตใหญ่ ได้เงินมาเป็นทุน อีก 3-4 หมื่นบาท

คู่แข่งเพิ่มดิ้นหาส่งออก

ในยุคที่อำแดงเซรามิคส์โดยกลุ่ม ของไชยพรเริ่มธุรกิจเครื่องปั้นดินเผานั้น ร้านค้าโรงงานไม่ได้มีมากเหมือนดังเช่น ที่เห็นทุกวันนี้ เพราะส่วนใหญ่การผลิตยังคงดำเนินไปตามวิถีชาวบ้าน ผลิตออกมาเท่า ที่สามารถขายได้ให้กับนักท่อง เที่ยว ที่แวะเวียนไปยังด่านเกวียนเท่านั้น

แต่เมื่อชื่อเสียงเครื่องปั้นดินเผาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น กลุ่มอาจารย์ และนักศึกษาด้านศิลปะหรือแม้แต่ผู้ที่สนใจในงานด้านนี้ และเห็นช่องทางการค้า จึงทยอยเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานตั้งร้านขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ปี พ.ศ.2525 เป็นต้นมา

ศิลปะ การค้าได้ประยุกต์สอดรับกันอย่างกลมกลืน และมีการพัฒนาเรื่อยมา บ้านด่านเกวียนในปัจจุบันจึงกลายเป็นหมู่บ้านร้านค้าเครื่องปั้นดินเผา ศูนย์รวมผองช่างปั้นหัวการค้าจำนวนมาก

การขยายตัวของชุมชนการค้าด่านเกวียนดังกล่าว ไชยพรได้ย้อนความว่าเมื่อคู่แข่งเพิ่มขึ้น ในตอนแรกก็เกิดความท้อแท้ เพราะกลัวเสียลูกค้า แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่าการทำธุรกิจเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขัน สิ่งที่อำแดงต้องทำคือ การปรับตัว เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยนำระบบการจัดการมาประยุกต์ใช้กับการทำงานแบบครอบครัว และต้องหันไปพึ่งตลาดส่งออกให้มากที่สุด

ในปี 2529 สุวนีย์ได้ตัดสินใจไปขอคำแนะนำกับกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ของอำแดงเซรามิคส์ไปต่างประเทศ ซึ่งได้จังหวะ ที่กรมส่งเสริมฯ กำลังจะไปจัดงาน Solo Show ที่เอ็ดมันตัน แคนาดา พอดี ในที่สุดก็ได้รับเลือกให้เดินทางไปร่วมงาน แม้สุวนีย์จะไม่มีความรู้ด้านการส่งออก และภาษาอังกฤษเลยก็ตาม

ผลจากการร่วมแสดงสินค้าครั้งแรกได้ออร์เดอร์สินค้ามาราว 2,000 เหรียญสหรัฐ แต่ ที่คุ้มค่ามากกว่าคือ ได้มีโอกาสเรียนรู้ธุรกิจส่งออก และได้รู้จักกับผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะมอนทานา ซึ่งเขาก็สนใจในเครื่องปั้นดินเผา ที่มีเนื้อดินดำๆ อยู่แล้ว ส่งผลให้ในอีก 3 ปีต่อมาสุวนีย์ได้ทุน NEA จากรัฐบาลอเมริกาไปเป็น Resident Artist ประจำศูนย์ศิลปะ Archie Bray Foundation เมืองเฮเลนา รัฐมอนทานา

ในปี 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ส.ส.นครราชสีมา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นยุคที่ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้เปิดตลาด ส่งออกอย่างจริงจัง ผลจากนโยบายจัด ตั้งศูนย์บริการส่งออก ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมไทย วางกรอบนโยบายให้บรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต

พร้อมกันนั้น ก็ได้หันมาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เข้าอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการตลาดส่งออก

ทั้งส่งเสริมให้เดินทางไปร่วมงาน แสดงสินค้าในเทศกาลงานต่างๆ โดย เฉพาะในต่างประเทศ อำแดงเซรามิคส์ ได้มีโอกาสไปประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ที่ประเทศเยอรมนีจนได้รับรางวัลชนะเลิศเครื่องปั้นดินเผา ชนิดไม่เคลือบ

อำแดงเซรามิคส์ได้ปรับระบบการจัดการ โครงสร้างการบริหารอีกครั้ง เพื่อสอดรับกับการทำตลาดที่ต้องเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เพราะ ที่ผ่านมาตลาดจะกระจุก ภายในประเทศเป็นหลักมากกว่า ด้วยการเตรียมพร้อมในส่วนการผลิต จ้างช่างปั้นแบบประจำจำนวน 10 คน จ้างนักศึกษาคณะออกแบบสถาบันราชภัฏราชมงคล เพื่อทำหน้าที่แกะสลักในลักษณะ Part time อีก 10-15 คน

ขณะเดียวกันก็เข้าไปช่วยสอนอบรมชาวบ้านในเรื่องงานปั้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ตัวไหน ที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วเห็นว่าน่าจะขายได้ก็รับซื้อมาเพิ่มมูลค่าต่อ

การทำธุรกิจในช่วงนี้ค่อนข้างลื่นไหล ยอดสั่งซื้อทั้งในประเทศ และต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มากนัก แต่ก็สามารถทำให้อำแดงมีเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละเดือนมากขึ้น นอกจากนี้ก็ได้รับงานประติมากรรมตกแต่งโรงแรมให้กับโรงแรมหนองคาย แกรนด์ ผลิตกระเบื้องปูหลังคาอาคารต่างๆ ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี (มทส.)

จับกลยุทธ์ใหม่ ใช้ศิลปะกรุยทางตลาด

ในส่วนของสุวนีย์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดเองก็ทำงานหนักมากขึ้น รุกแนะนำตัวบุกเบิกตลาดต่างประเทศค่อนข้างถี่ เพราะหลังจากเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ที่เอ็ดมันตันในปี 2539 แล้ว ครั้งต่อๆ มาก็เข้าร่วมงานแสดง ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ทุกปี

ในต่างประเทศก็ไป เช่น ที่ ญี่ปุ่น 4 ครั้ง อเมริกา 2 ครั้ง มาเลเซีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์

พร้อมกันนั้น ก็รับงานเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบคู่ไปด้วย คือ ในปี 2530 รับเชิญไปทำ Work shop ในรายการ Meet Ms Suwanee ที่โรงแรม Tanjung Aru Beach, Sabah ประเทศมาเลเซีย

ปี 2531 เป็นอาจารย์สอนพิเศษวิชาประติมากรรมฝาผนัง ที่ Ceramic Promotion Center เมืองกาฐมานฑุ ประเทศเนปาล เป็น Lecturer ที่มหาวิทยาลัยมิซซุรี่, ร่วมแสดงงานศิลปะ ที่ Holter Museum รัฐมอนทานา

ปี 2534-2535 เป็นอาจารย์สอนพิเศษ ที่ Arizona State University เมือง Tempa รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ภายใต้ทุน Aee (Asuab Cultural Counsil) แสดงงานศิลปะเดี่ยว ที่ Ly-cium Museum อริโซนา และเป็นผู้อภิปรายเรื่อง Women Artiston Mural ในงานประชุมทางวิชาการ Ceramic Art ของ NCECA (National Counsil on Education in the Ceramic Arts )

ไชยพรยอมรับว่าการเดินสายรับเป็นอาจารย์พิเศษของสุวนีย์นั้น มีผลต่อการขายผลิตภัณฑ์อำแดงเซรามิคส์เป็นอย่างมาก เพราะได้คลุกคลีกับบรรดาศิลปินชั้นนำต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้จับกระแสแฟชั่นในงานศิลป์ได้ดี โดยนำแนวคิด รสนิยมศิลปะของทางตะวันตกมาประยุกต์ในการผลิตงานเครื่องปั้นดินเผา เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดนั้น ๆ ไม่นับรวมกับคำสั่งซื้อเฉพาะแต่ละราย ยอดออร์เดอร์แต่ละเดือนขยับเพิ่มสูงขึ้น

ต่อมาในปี 2537 ไชยพร สุดารัตน์ และสุวนีย์จึงตัดสินใจจดทะเบียนเป็นบริษัท อำแดงเซรามิคส์ จำกัด อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในกิจการให้กับลูกค้า และจะได้ทำการตลาดส่งออกอย่างจริงจังภายใต้การส่งออกของอำแดงเอง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกของอำแดงได้ทำผ่านบริษัทชิปปิ้ง

มาถึงในช่วงนี้อำแดงฯ พบจุดแข็ง และข้อได้เปรียบของตัวเองในการทำธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาส่งออกแล้วว่าจะใช้ "ศิลปะนำการตลาด" โดยมีสุวนีย์เป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศโดยใช้เวทีงานศิลปะ งานบรรยายเป็นสื่อกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งวิธีการนี้สามารถ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้ามากขึ้น เป็นการทำตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้อย่างถึงความต้องการ

การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติทำให้เราได้เห็นถึงรสนิยม ที่แท้จริงของเขา สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับสินค้าได้อย่างกลมกลืน "เกิดเป็นศิลปินในเมืองไทยนั้น เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ศิลปินจะเก่งขนาดไหนหากทำศิลปะอย่างเดียว เลี้ยงตัวเองได้ยาก ดังนั้น ศิลปินอย่างเราจำเป็นต้องทำงานศิลป์เชิงพาณิชย์ ประยุกต์ศิลปะเข้ากับตัวงาน เพื่อให้ขายได้มากที่สุด" ไชยพรกล่าว

ปัจจุบันอำแดงเซรามิคส์ทำตลาดส่งออกมากถึง 80-90% แต่จากการเพิ่มขึ้นของผู้ส่งออกเครื่องปั้นดินเผารายใหม่จำนวนมาก จึงพยายามเพิ่มช่องทางขายให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยช่องว่างของคู่แข่งขันหรือคู่ค้า โดยได้เสนอช่องทางขาย และบริการให้ลูกค้าได้เลือกใช้ในหลายทางมากขึ้น คือ 1. ขายสินค้าผลิตภัณฑ์ดินเผาในราคา ณ โรงงานโดยไม่มีการบริหาร Packing ซึ่งลูกค้าบางรายสามารถประหยัดด้วยการทำเองได้

2. ขายสินค้าบวก Packing สำหรับการส่งออก

3. ขายสินค้าบวกค่า Packing บวกค่าทำเอกสารส่งออก

4. ขายสินค้าบวกค่า Packing บวกการจัดการให้มีการส่งออกหรือ ที่เรียกว่า ราคา FOB

5. ขาย Packing แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจาก ที่ใดก็ได้

6. ขาย Packing บวกเอกสารส่งออก และเป็น Trader รับหาสินค้าจาก ที่อื่นตามความต้องการของลูกค้า เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ประติมากรรมทองเหลือง เทียนแท่ง ฯลฯ เพื่อให้สามารถได้ลูกค้า ที่ต้องการซื้อสินค้าอื่นๆ หรือสินค้าจากโรงงานอื่น

นโยบายนี้ได้เริ่มใช้แล้วกับลูกค้าประเทศใกล้เคียงเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งกับบริษัทผู้ส่งออกในเมืองไทย ที่ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง ส่วนนโยบาย เพื่อเพิ่มยอดขายในประเทศก็ทำเช่นกัน โดยการเสนอสินค้า ที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่, นำสินค้าในสต็อก ที่มีอยู่ไปแลกกับสินค้าอื่น เช่น ต้นไม้ หินประดับสวน เครื่องปั๊มน้ำ ทำให้ได้สินค้าใหม่เข้าร้าน นำมาเพิ่มเป็นตัวเลือกในการขายปลีกเพิ่มยอดขายหน้าร้านประจำวัน

รวมถึงการออกเยี่ยมเยือน และบริการลูกค้าถึง ที่ เช่น งานด้านประติมากรรม ฝ่ายออกแบบ และฝ่ายการตลาดจะเดินทางไปถึง ที่ ที่มีการก่อสร้างอาคาร เพื่อเสนอแนวทางการออกแบบประติมากรรมให้เหมาะสมกับอาคาร และความต้องการของลูกค้า รวมถึงเพิ่มบริการติดตั้ง และซ่อมแซมอีกดัวย

ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มประสิทธิ ภาพด้านการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการโรงงาน จัดการงานบุคคล ด้วยการจัดส่งเข้ารับการอบรม สัมมนาเท่า ที่โอกาสจะอำนวย หรือจัดหาวิดีโอมาให้ศึกษา พร้อมทั้งอบรมให้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำเข้ามาใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต อีเมล

ตั้ง Agency ต่างประเทศ

ไชยพรกล่าวถึงการทำตลาดต่างประเทศว่า นอกจากทีมงานบริหารของบริษัทอำแดงจะดำเนินการเองแล้ว ที่ผ่านมาก็ได้ทำสัญญากับบริษัท Inter Cosmo จากประเทศสิงคโปร์ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะสินค้าประติมากรรมฝาผนังใน 11 ประเทศเป็นเวลา 2 ปี ยอดขายไม่ต่ำกว่ากว่า 3 ล้านบาท/ปี

ขณะที่บริษัทแห่งหนึ่งจากประเทศเบลเยียมได้ติดต่อขอเป็น Agency เครื่องปั้นดินเผา และประติมากรรมฝาผนังประจำภาคพื้นยุโรปเช่นกัน แต่ทางอำแดงได้ปฏิเสธ เพราะรับไม่ได้กับเงื่อนไขสัญญา ที่เขาต้องการจะดูแลตลาดทั้งยุโรป โดยค่าใช้จ่ายในการทำโชว์รูม การจัด Display นั้น อำแดงต้องรับผิดชอบทั้งหมด ขณะที่ค่าคอมมิชชั่น ก็จะขอมากถึง 30-40% ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นการเอาเปรียบอำแดงเซรามิคส์จนเกินไป

ส่วน ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองอยู่ในขณะนี้คือ บริษัท SANEL Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งจะขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องปั้นดินเผาประดับบ้าน และสวน เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ด้วยข้อเสนอยอดขายไม่ต่ำกว่า 20 ตู้คอนเทนเนอร์/ปี หรือปีละไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท

กว่า 24 ปีที่อำแดงเซรามิคส์ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในหมู่บ้านด่านเกวียน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลัก 4 ประเภทคือ

ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา

ผลิตภัณฑ์ประติมากรรม

ผลิตภัณฑ์กระเบื้องดินเผา

ผลิตภัณฑ์กิ๊ฟต์ชอป

รวมกำลังผลิตกว่า 70%

ออกแบบ และกระจายงานให้ชาวบ้านทำการผลิตให้โดยเจ้าหน้าที่ของอำแดงควบคุมการผลิต โดยเฉลี่ยมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศประมาณ 2 ตู้คอนเทนเนอร์/เดือน มูลค่าราว 3 แสนบาท/ตู้คอนเทนเนอร์

ความภาคภูมิใจของบริษัทอำแดงเซรามิคส์คือ ได้รับรางวัล Expo Award ในฐานะผู้ส่งออกดีเด่นจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลให้ใช้ตราสัญลักษณ์ THAILAND BRANDNAME เมื่อเดือนกรกฎาคม 2542



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.