เสือกำลังตื่น?

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

กับวิกฤติแห่งความน่าเชื่อถือของบรรษัทอเมริกัน ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับตลาด ไม่แปลกใจที่นักลงทุน เริ่มแสวงหาความมั่งคั่งกับตลาดหุ้นภายในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะบรรดากองทุนรวมที่เริ่มมีความสุขกับ ตัวเลขผลประกอบการ

แทบไม่น่าเชื่อว่าประเทศเสือเศรษฐกิจที่เพิ่งสร้างความอัปยศอดสูอย่างไทย อินโดนีเซีย รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่นและอินเดียจะเป็นตลาดที่สร้างผลตอบแทนด้านการลงทุน ในระดับที่น่าพอใจให้กับบรรดากองทุนตราสารทุนหรือกองทุนหุ้น

"ปัจจุบันตลาดหุ้นเอเชียมีมูลค่า ดีกว่าตลาดในอเมริกาและยุโรป" Kes Visuvalingam ผู้ดูแลการลงทุนในตลาดทุนประจำสิงคโปร์แห่ง First State Investments กล่าว โดยบริษัทนี้มีผู้จัดการ กองทุนกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพวกเขาสามารถสร้างรายได้ดีเกินคาดในตลาดทุนของภูมิภาคเอเชีย

"หลายๆ บริษัทมีราคาต่ำต่อเมื่อเทียบกับรายได้ หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชี" เขากล่าว

ผลการรวบรวมข้อมูลของ Lipper Asia พบว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดทุนเอเชียให้ความสำคัญและเน้นกลยุทธ์การลงทุน ไปยังหุ้นที่มีสินทรัพย์ขนาดเล็กไปถึงกลางและผู้จัดการกองทุนมักจะเน้นถือยาว และระมัดระวังช่วงตลาดกำลังทะยานขึ้น

ผู้จัดการกองทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในเอเชียบอกว่าภูมิภาคแห่งนี้มีความ อ่อนแอเพียงเล็กน้อยกับความไม่สม่ำเสมอทางบัญชี เมื่อเทียบกับอเมริกาที่ความไว้วางใจเริ่มถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ รวมถึงผู้จัดการกองทุนระดับอาวุโสขึ้นไปในเอเชียไม่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นในบริษัทที่เข้าลงทุนหรือโบนัส

"ตลาดหุ้นอเมริกาอยู่ในภาวะกระทิงอันแข็งแกร่งมานานกว่า 10 ปีแล้ว และเป็นช่วงเวลาสำหรับการจ่ายค่าตอบ แทนให้กับผู้บริหารอาวุโสที่ทำผลงานได้สวยหรู" Robert Conlon ผู้จัดการกองทุนแห่ง Investec Asset Management Asia ในฮ่องกงบอก "นั่นเป็นแรงจูงใจให้พวกเขากระตือรือร้นสร้างผลกำไร"

หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานว่า ผลประกอบการของกองทุนรวมตราสารทุนในอินโดนีเซียในไตรมาสสองของปีนี้ขยับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 21% และ 74% ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2544-45

ด้านกองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดอื่นๆ เฉลี่ยสร้างผลตอบแทนด้วยอัตราเติบโตช้าเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยในประเทศไทยให้ผลตอบแทนประจำไตรมาสเฉลี่ย 11%, ญี่ปุ่น 6.6% และอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 21% ขณะที่การลงทุนในตลาดอื่นๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันผลตอบแทนดิ่งหัวลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะกองทุนหุ้นแถบละตินอเมริกาผลงาน ย่ำแย่ที่สุดตกลงเฉลี่ยถึง 22% ตามด้วยฟิลิปปินส์ 17% ไต้หวัน 16% ส่วนใน อเมริกาผลตอบแทนหดตัวเฉลี่ย 13%

หากพิจารณาถึงกองทุนหุ้นที่สร้างผลงานได้ดีระดับหัวแถบ คือ Aberdeen Select Indonesia Equity Fund บริหารงานโดยกองทุนรวม Aberdeen Asset Management Asia โดยไตรมาสสองประกาศผลตอบแทนสูงถึง 35% และ 87% ในระหว่าง 6 เดือนแรกของปี

Devan Kaloo หนึ่งในทีมผู้บริหาร กองทุนรวมดังกล่าวเล่าถึงความสำเร็จของการทำงานว่า ทีมงานพยายามคัดสรรบริษัทที่จะเข้าลงทุนต้องมีผลงานในอดีตและมูลค่าสินทรัพย์ที่ดีและน่าเชื่อถือ "บริษัทที่ว่าคือหัวใจแห่งกระบวนการการลงทุนของพวกเรา หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนต้องติดตามการดำเนินธุรกิจและพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี"

นอกจากนี้ส่วนประกอบอื่นที่สร้างความสำเร็จให้กับ Aberdeen Select Indonesia Equity คือการมีวินัยด้านการขาย "มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหุ้นที่คุณถืออยู่" Kaloo บอก โดยประมาณ 64% ลงทุนในหุ้นกลุ่ม consumer & retail "เป็นหุ้นที่มีการจัดการที่ดีและมีราคาไม่สูงมากนัก"

แน่นอนสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ตัวเลขผลตอบแทนออกมาสวยหรู หนีไม่พ้นความแข็งแกร่งของการบริโภคภายในอินโดนีเซีย โดยตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคไตรมาสแรกของปีเพิ่มสูงขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับในประเทศอื่นของภูมิภาคเดียวกันที่ความต้องการบริโภคเติบโตขึ้น จากการลดลงของอัตราดอกเบี้ยและความง่ายของการปล่อยสินเชื่อรายย่อย

อย่างไรก็ตาม Kaloo ยังพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่ประสบความสำเร็จ แท้ที่จริงเกิดจากมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่เข้าลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก "เป็นตัวขับเคลื่อนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งหุ้นในตลาดอินโดนีเซียล้วนแล้วแต่มีราคาถูก และปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้นและพวกเรายังคงมองตลาดในแง่บวก"

ส่วนกองทุนรวมข้ามชาติที่สร้างผลตอบแทนอันดับรองลงมา คือ India-invested Reliance Vision Fund บริหารงานโดย Reliance Asset Management โดยไตรมาสสองที่ผ่านมาทำตัวเลขผลตอบแทนในระดับ 35% ถือเป็นกองทุนรวมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอินเดียในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

K.Rajagopal หัวหน้าแผนกการลงทุนของ Reliance Asset Management ที่มีฐานการลงทุนในกรุงบอมเบย์กล่าวว่า นโยบายการทำงานจะมุ่งเน้นไปยังบริษัท ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ดี "และเมื่อไรที่หาบริษัทคุณสมบัติแบบนี้ไม่ได้เราไม่กลัวเพราะจะถือเงินสดแทน และทุกวันนี้ประมาณ 21% เป็นการลงทุนในเงินสด"

การบริหารกองทุนดังกล่าวมักจะให้น้ำหนักไปยังหุ้นกลุ่มที่กำลังปรับฐานและมีแนวโน้มมูลค่าที่ดี โดย 18% ลงทุนให้หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ, 11% ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสารสนเทศ และอีก 9% อยู่ในหุ้นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรม

"ตลาดของอินเดียมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงระดับความสะดวกสบายของนักลงทุนต่างชาติ และบรรยากาศของอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ" Rajagopal ชี้ "แต่ความท้าทายท่ามกลาง ความเติบใหญ่ คือ การพัฒนาของอุตสาหกรรมพื้นฐานภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคพลังงาน ที่สำคัญการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันซึ่งมีผลต่อระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น"

สำหรับในประเทศไทยกองทุนที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ Thai-invested Siam Fund บริหารโดย Credit Agricole Asset Management ในระหว่างไตรมาสที่สองของปีมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 28% และตลอดทั้งปีนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วถึงเดือนเดียวกันของปีนี้ให้ผลตอบแทน 39%

Reginald Tan หัวหน้าฝ่ายวิจัยของกองทุนดังกล่าว กล่าวว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้น ซึ่งช่วยให้พอร์ตการลงทุนแข็งแกร่งตามไปด้วย "เป็นเรื่องราวที่รับรู้กันดีในทุกวันนี้ว่าการบริโภคคือพลังขับเคลื่อนที่แท้จริงให้ไทยเติบโต"

โดยเป้าหมายกองทุนนี้มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อสังหา ริมทรัพย์ ก่อสร้าง สื่อสาร และพลังงาน โดยปัจจุบันเข้าถือหุ้น บง.ทิสโก้, บง.เกียรติ นาคิน, แอลพีเอ็น ดีเวลล็อปเม้นท์, แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และเอเชียน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์

ในระหว่างที่ความน่าเชื่อถือฝั่งของบรรษัทในอเมริกากำลังอ่อนแอ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากกว่าความน่ากลัวในสายตาของ Tan สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย "คุณจะต้องไว้วางใจในบริษัทที่ตัวเองลงทุน และพวกเราเชื่อว่าสิ่งที่ไม่ดีกำลังถูกปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.