|

พาณิชย์คุมนำเข้าเหล็กบีบแจ้งตัวเลขล่วงหน้า
ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"สมคิด" หนุนแนวคิดใช้ระบบ "นำเข้าสอดคล้องการ ผลิต" จี้เอกชนเร่งส่งแผนนำเข้าล่วงหน้า และตัวเลขสต๊อกรายเดือนเช็ก ความเคลื่อนไหวการนำเข้า "สวัสดิ์" ชี้ครึ่งปีหลังตลาดเหล็กซบลดกำลังการผลิต เชื่อครึ่งปีหลังลดนำเข้า 35%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ และนำเข้าเหล็กว่า จากการหารือในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่ม ผู้ประกอบการเหล็กที่จะช่วยภาครัฐแก้ปัญหาขาดดุลการค้า โดยมั่นใจว่าแนวโน้มการนำเข้าสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มลดลง โดยทางกลุ่มผู้ประกอบการเสนอระบบการบริหารการนำเข้าสินค้าให้สอดคล้องกับการผลิต (Just in time system:JIT) พร้อมกับกำชับไปยัง 3 กลุ่มสินค้าที่มีการ นำเข้าสูงทำให้ไทยขาดดุลการค้าคือ น้ำมัน เหล็ก และทองคำ
"ได้กำชับภาคเอกชนว่า ขอให้ทำทุกอย่างให้พอดีกับการผลิต นำเข้ามาก็ต้องสอดคล้องกับกำลังการผลิต และส่งออก ซึ่งจากการร่วมมือกันอย่างดีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าดุลการค้าในเดือน ก.ค.จะดีขึ้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะขาดดุลหรือเกินดุลแน่ แต่มั่นใจว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ตัวเลขการส่งออก และดุลการค้าของไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ" นายสมคิด กล่าว
พร้อมกับมอบหมายให้นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สั่งการให้ผู้ประกอบการ รีบทำแผนการนำเข้าล่วงหน้า และสต๊อกสินค้า มารายงานต่อกระทรวงพาณิชย์
จี้แผนนำเข้าล่วงหน้า-ตัวเลขสต๊อก
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่มเหล็ก ให้ส่งแผนการนำเข้าล่วงหน้าในช่วงครึ่งปีหลัง และตัวเลขสต๊อกสินค้า ที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ทางฝ่ายราชการและเอกชนต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน นำมาใช้ในการพิจารณาหากพบตัวเลข ผิดปกติก็จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมการนำเข้า
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการรับฟังข้อมูลของผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่ ที่อ้างเหตุผลว่า สาเหตุของการนำเข้าเหล็กที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงครึ่งปีแรก เพราะมีบางบริษัทจำนวนหนึ่งที่ไม่มีโรงงานผลิตในประเทศ ได้ไปกว้านซื้อเหล็กสำเร็จรูป และเหล็กกึ่งสำเร็จรูปราคาถูกจากต่างประเทศ เข้ามาขายราคาต่ำ กว่าเหล็กที่ขายอยู่ในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการ ได้ตกลงร่วมกันในการจัดทำแผนตัวเลขการนำเข้าเหล็กในช่วงครึ่งปีหลัง ที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต เพื่อนำมาประมาณการตัวเลขการนำเข้าตลอดทั้งปีล่วงหน้า ครึ่งปีหลังตลาดเหล็กซบลดนำเข้า
นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริษัท มิลเลนเนียมสตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในภาพรวมการนำเข้าเหล็กในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ น่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 35% ของการนำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายเริ่มลดกำลังการผลิตลงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะตลาดขณะนี้อยู่ในช่วงขาลง ทำให้มั่นใจว่า การนำเข้าจะลดลงตามไปด้วย
"เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้า เพราะมีบางบริษัทที่นำเข้าเหล็กสำเร็จรูปราคาถูกจากประเทศ เพื่อนบ้าน เข้ามาขายทุ่มตลาดในไทย ในขณะที่ผู้ผลิต เหล็กในประเทศนำเข้าวัตถุดิบเหล็กกึ่งสำเร็จรูปมาผลิตเป็นอีกทอดหนึ่งทำให้ต้นทุนสูงกว่า ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาติดตามพฤติกรรมการนำเข้าเหล็ก ของบริษัทดังกล่าว" นายสวัสดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ยินดีจะให้ความร่วมมือตามที่กระทรวงพาณิชย์ให้จัดทำแผนโครงสร้างการผลิตให้สอด คล้องกับการนำเข้า แต่ขณะนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการโรงงานผลิตเหล็กในประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีศักยภาพพอที่จะสต๊อกสินค้าเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาอยู่ที่ว่ามีบริษัทผู้นำเข้าสินค้าเหล็กสำเร็จรูป ประเภทเหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กเคลือบดีบุก โดยนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านของ ไทย และประเทศในแถบเอเชีย เข้ามาขายทุ่มตลาดในประเทศ ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าสินค้า เครือสหวิริยาฯเพิ่มเป้าส่งออกเหล็ก
นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องการข้อมูลนำเข้าเหล็กล่วงหน้า โดยผู้ประกอบการได้ยืนยันที่จะนำส่งข้อมูล ดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าตัวเลขการนำเข้า เหล็กในช่วง 5 เดือนนี้จะลดลง เพราะตัวเลขการสั่งซื้อเหล็กลดลงอยู่แล้ว รวมทั้ง รมต.สมคิดต้องการ ให้ผู้ประกอบการบริหารสต๊อกสินค้าให้หมุนรวดเร็วขึ้น
สำหรับเครือสหวิริยาฯมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่เคยส่งออก ปีละ 10% จะเพิ่มขึ้นเป็น 20% เพื่อช่วยลดการ ขาดดุลการค้าของไทย ซึ่งในครึ่งปีหลังนี้มีตัวเลขการ สั่งซื้อเหล็กในมือแล้ว 5 พันล้านบาท โดยบริษัทฯจะเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้มากขึ้นกว่านี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|