|
"เอไอเอส" จับมือ "โดโคโม" เปิดตัวแอดวานซ์เอ็มเปย์
ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอไอเอสจับมือเอ็นทีที โดโคโม ให้บริการเอ็มเปย์ หรือการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ พร้อมวางแผนต้องมีลูกค้าใช้งานในหลักล้านคนและมีร้านค้าเข้าร่วมบริการหลักแสนร้านค้า เตรียมต่อยอดบริการร่วมกับโดโคโมด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Contact less Card และ 2D Barcode
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสหรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสร่วมทุนกับบริษัท เอ็นทีที โดโคโม ในสัดส่วน 70/30 ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เปิดตัวบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต จากธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจให้บริการธุรกรรมการเงินบนโทรศัพท์มือถือรายแรกในประเทศไทย
เอไอเอสเปิดให้บริการเอ็มเปย์ ตั้งแต่ปลายปี 2547 แต่ต้องหยุดทำการตลาดชั่วคราวเนื่องจากรอใบ อนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากบริการเอ็มเปย์มีการ นำเงินมาพักไว้ในระบบซึ่งจำเป็นต้องได้รับอนุญาต ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการเอ็มเปย์ประมาณ 5 หมื่นราย มีร้านค้าเข้าร่วมให้บริการประมาณ 1,500 ร้านค้า
"เราเลือกลงทุนร่วมกับโดโคโม เพราะ 3 ปัจจัยหลักคือ โดโคโมประสบความสำเร็จเรื่องโมบาย ดาต้ามาก มีรายได้สูงสุดในโลกในบริการด้านนี้และเป็นผู้ให้บริการที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในญี่ปุ่น"
เอไอเอสยังไม่ได้วางเป้าหมาย การตลาดหรือเป้าหมายด้านรายได้ เพราะมองว่าเอ็มเปย์อยู่ในช่วง เพิ่งเริ่มให้บริการ จำเป็นต้องให้ความรู้กับตลาดและสื่อสารกับตลาดให้เข้าใจประโยชน์ของบริการเอ็มเปย์ ที่แตกต่างจากการสื่อสารด้านข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือแบบเดิมๆ เนื่องจากเป็นการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงิน
"ผมคิดว่าคงใช้เวลาสัก 1 ปีจึงจะเห็นผลของบริการเอ็มเปย์ ซึ่งผมอยากเห็นลูกค้าเป็นหลักล้านคน"
บริการเอ็มเปย์เป็นการใช้โทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็ม แอดวานซ์ หรือวัน-ทู-คอล ในการชำระค่าสินค้าบริการไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าใช้โทรศัพท์มือถือ การเติมเงิน จ่ายค่าอาหาร ซื้อตั๋วภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทุกที่ซึ่งมีเครื่องหมาย mPAY สำหรับการเติมเงิน mCASH เพื่อใช้บริการ เอ็มเปย์ สามารถเติมได้ผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือใช้วิธีการตัดเงินจากบัญชีธนาคารหรือตัดเงินจากบัตรเครดิต ซึ่งวงเงิน mCASH สำหรับลูกค้าแต่ละรายจำกัดไว้ที่ 3 พัน บาท
"เอไอเอสลงทุนระบบประ-มาณ 100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาคุ้มทุนประมาณ 4-5 ปี ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมบริการ ผมอยากให้มีสัก 1 แสนร้านค้า" นายสมประสงค์กล่าว
นอกจากนี้ เอไอเอสยังอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการร่วมกับเอ็นทีทีอย่าง Contact less Card หรือบัตรที่ไม่ต้องอาศัยการสัมผัสในการอ่านข้อมูล โดยอยู่ในโทร-ศัพท์มือถือซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการกลางปีหน้าเช่นการซื้อสินค้า ผ่านเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ รวมทั้งเทคโนโลยีเรื่อง 2D บาร์โค้ดซึ่งเป็นระบบบาร์โค้ดที่สามารถ บรรจุข้อมูลได้มากกว่าบาร์โค้ดปัจจุบัน
ด้านมาซายูกิ ฮิราตะ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เอ็นทีที โดโคโม อินคอร์- ปอเรชั่นกล่าวว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนให้บริการใหม่ๆที่เกี่ยวกับโทรศัพท์ มือถือ โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคมีศักยภาพในการจับจ่ายมากขึ้น การใช้งานบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าการใช้งานธุรกรรมการเงินบนโทรศัพท์มือถือผ่านบริการเอ็มเปย์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศ ญี่ปุ่นเอง โดโคโมเริ่มให้บริการธุรกรรมการเงินบนโทรศัพท์มือถือในชื่อว่า Osaifu Keitai หรือ Mobile Wallet เมื่อกลางปี 2547 ซึ่งในขณะนี้มีคนใช้บริการ 5 ล้านคนโดยมีร้านค้าร่วมให้บริการจำนวน 2.2 หมื่นร้านค้าและมีเครื่องเวนดิ้ง แมชชีนประมาณ 4,900 เครื่อง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|