ทีเอกับความหวังบรอดแบนด์

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดบนหน้าจอพีซี ร้องคาราโอเกะออนไลน์ได้ที่บ้าน หรือพบหมอได้จากหน้าจอพีซีโดยไม่ต้องไปคลินิก เล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนที่อยู่ต่างแดน นี่คือส่วนหนึ่งของการแสวงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ที่เกิดจาก broadband

นี่จะเป็นจุดหักเห และการเริ่มต้นของประวัติศาสตร์โฉมใหม่ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อสาร แต่จะมีผลต่อทุกอุตสาหกรรม ในการนำเสนอบริการต่างๆ ในอนาคต" ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทีเอ) กล่าวอย่างมั่นใจในการเปิดตัวแถลงข่าว เปิดตัวพันธมิตรข้อมูลอิน เทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ Broadband Community

นอกเหนือจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือทีเอ ออเร้นจ์ ที่กำลังขับเคี่ยวอยู่ในตลาดแล้ว การผลักดันบริการบรอดแบนด์ เป็นภารกิจสำคัญที่ศุภชัยได้ตั้งความหวังเอาไว้มากๆ

ความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือของเมืองไทยที่มีมากกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ทีเอจำเป็นต้องสร้างจุดแข็งใหม่ หวังพึ่งพารายได้จาก โทรศัพท์พื้นฐานเพียงอย่างเดียวคงทำได้ยาก และทุกวันนี้สัดส่วนการใช้งานด้านข้อมูลผ่านโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของรายได้ ก็ยิ่งทำให้บริการบรอดแบนด์กลายเป็นตัวเลือกที่สำคัญ ที่ทีเอเชื่อมั่นว่าจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตัวเองได้ใหม่อีกครั้ง

"แม้ว่าคนจะใช้บริการด้านเสียงเป็นพื้นฐานอยู่ก็จริง แต่ต่อไปจะหันมาใช้เรื่องของ content กันมากขึ้น" ศุภชัยบอก

บริการบรอดแบนด์ จัดเป็นเทคโน โลยีที่ยกระดับการสื่อสารข้อมูลทางโทรศัพท์ ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ตลอดเวลา ทำให้การรับข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล ที่เป็นมัลติมีเดีย คือได้ทั้งเสียง ข้อมูล และภาพ เทียบเท่าโทรทัศน์ เช่น วิดีโอออนดีมานด์ การถ่าย ทอดสด (Live Broadcasting) VDO Conference E-learning ชอปปิ้งออนไลน์ ธนาคารออนไลน์

ตัวอย่างของความสำเร็จของบริการบรอดแบนด์ในบางประเทศ เช่นเกาหลี และไต้หวัน กลายเป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลายแห่งในเอเชีย หันมาให้ความสำคัญกับบริการนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นจีน กลุ่มนิวส์คอร์ป ของเจ้าพ่อสื่ออย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอค รวมถึงทีเอ

หลายปีมานี้ ศุภชัยมุ่งให้น้ำหนักไป กับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกใหม่ e-commerce ในหลายมิติ ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจในลักษณะของบีทูบีผ่านบริษัทพันธวณิช และบริการทางด้านบรอด แบนด์ ซึ่งศุภชัยเชื่อว่าขีดความสามารถของ บริการบรอดแบนด์ไม่ใช่เรื่องของบริการสื่อสารปกติธรรมดา แต่จะมีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน

"คนจะบริโภคเนื้อหามากขึ้น อีกหน่อยถ้าอยากจะทานอาหาร อยากจะติดต่อกับเพื่อน หรือลูกหลาน แค่ click เข้าไปฝากข้อความได้ด้วยภาพหน้าคนให้เราดูแล้ว" ศุภชัยบอก

ความเอาจริงเอาจังในบริการบรอดแบนด์ ทำให้ทีเอเปิดฉากรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้ ผ่านบริการบรอดแบนด์ของบริษัทเอเซีย มัลติมีเดีย ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูง 3 รูปแบบ คือ เคเบิลโมเด็ม บริการ ADSL และบริการล่าสุดคือ TA Metronet ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อด้วยระบบ LAN ให้กับอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงข่ายจะมีความเหมาะสมใช้ในการรับส่งข้อมูล แต่หากไม่มีเนื้อหา หรือแอพพลิเคชั่นก็เปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อหาท้องถิ่นที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ แม้ว่าทีเอ จะเป็นเจ้าของเนื้อหาอยู่บ้าง ไม่ว่าจะบริการ ทีเอโฟนคลับ ที่ให้บริการข้อมูลฟรีแก่ลูกค้า ทีเอที่เปิดให้บริการมาแล้วถึง 7 ปี มีเนื้อ หาจากรายการข่าว ชาแนล 7 ของยูบีซี

แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับบริการอย่างบรอดแบนด์ ที่ยังจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีบรอดแบนด์ ในการทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบสื่อสารระหว่างกัน ส่งภาพที่เป็นวิดีโอ และที่สำคัญคือความหลากหลาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายบรอดแบนด์เพียงอย่างเดียว ทีเอจึงต้องขยายบทบาทเข้ามาในส่วนของการสร้างเนื้อหา เป็นผู้รวบรวมเนื้อหา (aggregate content) จากเจ้าของเนื้อหาอีกต่อหนึ่ง โดยดำเนินการผ่านบริษัท ลูกที่ชื่อ Interactive Media service จะทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเนื้อหาของบรอดแบนด์ เป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับเจ้าของเนื้อหาขนาดกลาง และรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนมากพอมาเช่าใช้ และเป็นด่านหน้าในการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าผ่านเว็บไซต์ www.tabroadband.com

"เนื้อหาบางอย่างที่เราคิดว่าดี เกิดได้ แต่เจ้าของเนื้อหาเขาไม่มีเงินทุนพอ หรือมองไม่เห็น เราจะไปร่วมลงทุนกับเขาก็ได้" ศุภชัยบอก

การแถลงข่าวเปิดตัวบริการร่วมกับพันธมิตรทั้ง 9 ราย ที่จะเป็นผู้ให้การเนื้อหา เริ่มตั้งแต่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป ยูบีซี บี.เอ็ม.มีเดีย (ไทยแลนด์) และฟรีวิวโซลูชั่นส์ นอกจากจะเป็นการประกาศถึงความพร้อมในการเข้าสู่ธุรกิจทางด้านบรอด แบนด์ และเป็นโครงการนำร่องที่ทีเอจะใช้ แสวงหาความร่วมมือกับเจ้าของเนื้อหาขนาดกลางๆ และรายย่อยต่อไป

การถ่ายทอดสดการวิเคราะห์หลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะเป็น ส่วนหนึ่งของบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่นเดียวกัน รายการข่าวของเนชั่นชาแนล ในยูบีซี 8 ที่ไม่ได้ออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ หรือรายการข่าวย้อน หลังที่ให้เลือกดูได้ตามต้องการ

"นี่คือ การปฏิรูปสื่อโดยที่เราไม่ต้อง รอคณะกรรมการ กทช." เทพชัย หย่อง บรรณาธิการใหญ่เครือเนชั่นบอก ความหมายของเทพชัยคือ การที่เขาจะมีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอขอ ใบอนุญาตจากรัฐ ไม่ต้องถูกเซ็นเซอร์เหมือนที่ผ่านมา

ในขณะที่การดูรายการถ่ายทอดคอนเสิร์ต หรือมิวสิกวิดีโอ หรือ karaoke on demand ที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปถึงบ้าน หรือ chat กับดาราแบบ Real time เกมออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเล่นเกมร่วมกันผ่านอินเทอร์ เน็ต นี่คือตัวอย่างของบริการที่เกิดขึ้นจาก เครือข่ายบริการบรอดแบนด์ หรือแม้แต่การ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกับแพทย์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของเนื้อหาที่มีความแตกต่างกันไป ยังเป็นโจทย์ที่พวกเขาต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ในการค้นหาสูตรของการคิดค่าบริการของเจ้าของเนื้อหาแต่ละราย ที่จะมีทั้งการเก็บเป็นรายเดือน หรือจำนวนการใช้ หรือเหมา เป็นแพ็กเกจ

"เราต้องมาดูว่า ลูกค้าสั่งซื้อเพลงคาราโอเกะ 1 เพลง จะคิดเงินเขาเท่าไร ก็ต้องมาเฉลี่ยกับแผ่นวีซีดีคาราโอเกะดูว่า ราคาเท่าไรจึงจะเหมาะสม" อภิรักษ์ โกษะ โยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทจีเอ็ม เอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยกตัวอย่าง

แม้พวกเขาเหล่านี้จะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดจากบรอดแบนด์ แต่ธุรกิจนี้ก็ยังเป็นแค่การเริ่มต้น ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ไม่มีใครรู้ว่า content ใดจะเป็น killer application ที่โดนใจผู้บริโภคจนเกิดความนิยมขึ้นมา การสร้างความหลากหลายของเนื้อหาเป็นเรื่องจำเป็นที่ทีเอต้องแสวงหาต่อไป เช่นเดียวกับจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ยังจำกัดอยู่มาก ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับพวกเขา

ที่ผ่านมา ทีเอใช้เงินลงทุน 600 ล้าน บาทในการวางโครงข่ายบริการบรอดแบนด์ ให้ครอบคลุมผู้ใช้ 20,000 หลังคาเรือนในเขตกรุงเทพฯ และกำลังขยายเพิ่มเป็น 90,000 หลังคาเรือน ใช้เงินลงทุนอีก 200-300 ล้านบาท และมีแผนจะวางโครงข่ายในหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ หาดใหญ่ ขอนแก่น โคราช และพัทยา

แต่มีลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านบริการ TA Express และ เคเบิลโมเด็มอยู่เพียงแค่ 2,000-3,000 ราย แม้จะคิดเป็นสัดส่วน 50% ของตลาดรวมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีทั้งหมด 4,000 ราย แต่นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว สูง ที่อยู่ในอัตราเฉลี่ยเดือนละ 1,500-2,000 บาท ยังไม่รวมอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

"เราอยากไปติดตั้งเครือข่ายบรอดแบนด์ทุกบ้าน บ้านละ 2 เมกะไบต์ต่อวินาที แต่เฉพาะค่าอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว ต้นทุน เป็นแสน" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทีเอบอก

ต้นทุนหลักของการให้บริการอิน เทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นเรื่องของค่าเช่าวงจรความเร็วสูง International Gateway ที่ต้องเช่าจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ทางออกหนึ่งที่จะใช้แก้ปัญหาก็คือ การจัดทำแพ็กเกจสำหรับการเรียกดูเฉพาะเนื้อหา ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าวงจร

ยิ่งเมื่อมาดูถึงเนื้อหาที่เป็นที่นิยมในเกาหลี และไต้หวัน ที่มีหนังโป๊ เกมพนัน ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ มาเป็นเนื้อหา ส่วนกีฬา เพลง และภาพยนตร์ ยัง จัดอยู่ในอันดับรองลงมา ที่สร้างความนิยม ให้ด้วยแล้ว คำถามถึงความสำเร็จของธุรกิจ บรอดแบนด์ จึงไม่ใช่แค่ใช้เงินทุน และระยะเวลาเพียงอย่างเดียว

แต่สำหรับศุภชัยแล้ว เขาเชื่อมั่นว่า นี่คือยุทธศาสตร์ใหญ่ของทีเอ เป็น next growth ที่จะมาทดแทนการใช้งานทางด้านเสียง

"ต่อไปคำว่าโทรศัพท์จะหายไป กลายเป็น broadband access" ศุภชัยบอกถึงความเชื่อมั่นของเขา

จะว่าไปแล้ว โมเดลของการเข้าสู่ธุรกิจบรอดแบนด์ของทีเอ ก็ไม่แตกต่างไปจากสตาร์ทีวีของกลุ่มนิวส์คอร์ปมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง บรอดแบนด์ราคาถูกลง และกระจายออกไปให้กว้างมากที่สุด

ทีเอจะใช้เครือข่ายของธุรกิจที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกเคเบิลทีวี ที่มีข่ายสายเคเบิลโมเด็ม และ set top box พร้อมอยู่แล้วเพียงแต่ต่อสายเชื่อมเข้าไปก็ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทันที ค่าบริการ ก็สามารถเก็บได้จากบิลใบเดียวกับค่าบริการ เคเบิลทีวียูบีซี หรือโทรศัพท์พื้นฐาน

แทนที่จะให้เอเซียแอคเซส ไอเอสพีในเครือเพียงรายเดียว ทีเอใช้กลยุทธ์การสร้างพันธมิตรด้วยการเปิดไอเอสพีรายอื่นๆ ที่ต้องการให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี สามารถมาเช่าใช้สายไฟเบอร์ ออพติกที่เอเซีย มัลติมีเดีย ในเครือทีเอเป็น ผู้ลงทุน เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความ เร็วสูง

ในเวลาเดียวกันทีเอ เป็นผู้รวบรวมเนื้อหาลงไปให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับเนื้อหา แทน ที่จะเป็นแค่ความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว

เมื่อถึงเวลานั้นทีเอจะกลายเป็นผู้ให้บริการในตลาดบรอดแบนด์ไม่กี่รายที่มีเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจร มีเครือข่ายที่เข้าถึงลูกค้า มีพันธมิตรที่ป้อนเนื้อหาที่หลากหลาย มีรายได้ที่เก็บเนื้อหาที่ไร้ขีดจำกัด ไม่ต้องหวังพึ่งรายได้ทางเสียง

เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความหวังของทีเอจะเป็นจริงได้เมื่อไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.