เมื่อค่าเงินบาทแข็งตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข็งตัวขึ้นอย่างผิดปกติของค่าเงินบาท ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่ครบรอบ 5 ปีเต็มของวิกฤติการเงินในประเทศไทย เป็นสิ่งที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับคนหลายส่วนของประเทศ

ค่าเงินบาทในเดือนนี้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 41 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับในเดือนก่อนหน้า ที่เคลื่อน ไหวอยู่ในระดับ 43-44 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ และถือเป็นอัตราที่ค่าเงินบาทแข็งตัวที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา

ผู้ส่งออกสินค้า เริ่มกดดันรัฐบาลให้เข้ามาจัดการกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

หากวิเคราะห์การแข็งตัวของค่าเงินบาทในครั้งนี้ นับว่าเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งจากปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทาง จิตวิทยา

ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เหตุผลสำคัญเกิดขึ้นจากการอ่อนตัวลงของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุเช่นกัน

ในเดือนกรกฎาคม ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญๆ ล้วนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา กำลังประสบกับภาวะถดถอย ลงมาอีกครั้ง หลังจากมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงต้นปี ประกอบกับปัญหาความโปร่งใสในการดำเนินงานกับบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีผลทำให้เกิดการเทขายหุ้นขนานใหญ่ ตลอดจนวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ยังคงความรุนแรงอยู่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา

การอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์ ส่งผลให้เงินสกุลในย่านเอเชียแข็งค่าขึ้นรวมทั้งค่าเงินบาท

ผนวกกับปัจจัยทางจิตวิทยา จากคำพูดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในการประชุมพรรคไทยรักไทยช่วงต้นเดือนว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับ 30 บาท ได้ก่อให้เกิดแรงเก็งกำไรเงินบาท จนทำให้มีค่าแข็งขึ้นอย่างผิดปกติ

รวมถึงปัจจัยทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งแบงก์ชาติปิดทำการ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปแทรก แซงความผันผวนของค่าเงินบาทได้ มีผลให้ความเคลื่อนไหวของ ค่าเงินบาทในวันที่ 25 กรกฎาคม แกว่งตัวในช่วงกว้างถึง 80 สตางค์ ต่อ 1 ดอลลาร์ และเป็นที่มาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเอ่ยปากตำหนิการดำเนินงานของแบงก์ชาติอย่างเป็นทางการผ่านทางสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม แม้ปรากฏการณ์ผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ จะไม่ยืดเยื้อ และค่าเงินเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงอีกครั้งในเดือนสิงหาคม

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้ช่วยจุดประกายความตื่นตัวของนักธุรกิจไทย ให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการทำธุรกรรม ที่ต้องอิงกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินมากขึ้น

เพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ทำให้ทุกคนไม่สามารถวางใจได้ว่า ค่าเงินที่นิ่งอยู่มาเป็นเวลาปีกว่า จะเริ่ม กลับมาผันผวนได้อีกเมื่อไร

กระแสเงินที่ไหลเข้าออกในแต่ละวัน มันไวเสียจนต้อง เตรียมตัวตั้งรับให้ทัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.