|

"ลุฟท์ฮันซ่า" หวังเป็นผู้นำไอทีเปิดอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน
ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ลุฟท์ฮันซ่า พัฒนาสู่ความเป็นผู้นำในการลงทุนนำระบบไอทีเข้ามาปรับใช้ในการให้บริการลูกค้าบนสายการบิน ล่าสุดจับมือคอนเนกชันโดยโบอิ้งติด "Fly Net" เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าของสายการบินมากกว่าตั้งเป้า เรื่องรายได้ ชูความปลอดภัยระดับมาตรฐาน อนาคตเตรียมอำนวยความสะดวกพัฒนาจอโทรทัศน์ให้เล่นเน็ตได้
ไอริส ฟิชเชอร์ eCommerce Manager Thailand Cambodia Laos Myanmar สายการบิน ลุฟท์ ฮันซ่า กล่าวว่า ลุฟท์ฮันซ่าเป็นสายการบินที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านไอทีตลอดมา โดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำในการให้บริการด้านไอทีก่อนสายการบินอื่น ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วผ่านเว็บไซต์ หรือแม้แต่การเช็กอินผ่านโทรศัพท์มือถือ
ล่าสุดลุฟท์ฮันซ่าร่วมมือกับคอนเนกชันโดยโบอิ้ง เปิดให้บริการ "FlyNet" อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครื่องบินนับเป็นสายการบินแรก ของโลกที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครื่องบิน โดยอยู่ในระหว่างการติดตั้งบริการ "FlyNet" ของเครื่องบินระยะยาวของลุฟท์ฮันซ่าทั้งหมด เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการ "FlyNet" ในทุกเที่ยวบินทั้ง 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯและเยอรมนี (เมืองมิวนิก)และบริการเที่ยวบินต่อจากกรุงเทพฯสู่กัวลาลัมเปอร์และโฮจิมินห์ซิตี้ โดยในอนาคตอันใกล้จะเปิดให้บริการในเส้นทางสาย เอเชีย-แปซิฟิกเกือบทั้งหมด
ภายใต้ความร่วมมือของ 2 พันธมิตรครั้งนี้ คอนเนกชันโดยโบอิ้งเป็นผู้พัฒนาระบบตลอดจนอุปกรณ์เสาอากาศเพื่อติดตั้งบนเครื่องบิน ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบแลนไร้สายด้วย W-LAN บนแล็ปท็อปของตัวเอง ตลอดจนรับส่งอี-เมลได้เหมือนทำงานบนพื้นดิน โดยการทำงานผ่านเซิร์ฟเวอร์ของเครือข่ายใช้ CoreNet Box ของRockwell Colline กับระบบปฏิบัติการที่ทางลุฟท์ฮันซ่าเป็นผู้พัฒนาขึ้นเองเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขความปลอดภัย
ผู้บริหารลุฟท์ฮันซ่ากล่าวว่า ที่ผ่านมาการใช้โทรศัพท์มือถือหรือระบบสื่อสารอื่นไม่สามารถใช้บนเครื่องบินได้เพราะส่งคลื่นสัญญาณ รบกวนกัน แต่ "FlyNet" เป็นการสื่อสารด้วยความถี่ต่ำ ใช้การสื่อสารผ่านเสาอากาศที่มีการติดตั้งกลางลำเครื่องบินโดยการรับ-ส่งข้อมูลผ่านจุดรับสัญญาณดาวเทียมกว่า 10 จุด เชื่อมต่อไปยังคอมพิวเตอร์ผ่านระบบแลนด์ไร้สาย
โดยอุปกรณ์ทั้งหมดในระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จะนำมาเชื่อมต่อกับ WLAN ได้รับการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยและถูกต้องตามกฎ Joint Authority ของยุโรปที่มีการทดสอบแล้วว่าไม่มีการรบกวนระบบการทำงานบนเครื่องบินโดยได้รับประกาศนียบัตรยืนยันว่าไม่ส่งคลื่นรบกวน
ผู้ต้องการใช้บริการ "FlyNet" สามารถลงทะเบียนใช้บริการโดยจ่าย ค่าบริการผ่านบัตรเครดิตผ่านทางเว็บไซต์ Lufthansa.com โดยการใช้งานแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วน พอร์ทัลของลุฟท์ฮันซ่า เป็นส่วนที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยไม่คิดค่าบริการ และส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตที่ต้องเสียค่าบริการที่แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. แบบ "InternetFlight" คิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายอัตราเดียวตลอดการเดินทาง 29.95 เหรียญหรือประมาณ 1,198 บาท หรือ 19.95 เหรียญ (798 บาท)ในกรณีบินต่ำกว่า 6 ชั่วโมง และ 2.ค่าบริการแบบ "Internet Minutes" คิดค่าบริการนาทีละ 9.95 เหรียญ (ประมาณ 398 บาท ) สำหรับ 30 นาทีแรก และนาทีต่อไปคิดนาทีละ 25 เซ็นต์ (ประมาณ 10 บาท)
ไอริสกล่าวว่า ปัจจุบันลุฟท์ ฮันซ่าเปิดให้บริการ "FlyNet" แล้วกับสายการบินลุฟท์ฮันซ่าทั่วโลก ส่วนประเทศไทยเริ่มให้บริการตั้งแต่ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีลูกค้าสนใจใช้บริการจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายของลุฟท์ฮันซ่า ที่ต้องการสร้างมูลค่าของการให้บริการแก่ผู้โดยสารบนเครื่องบิน โดยไม่มุ่งหวังเรื่องรายได้ที่จะได้เพิ่มมากขึ้นจากการให้บริการอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นส่วนที่คอนเนกชันโดยโบอิ้งเป็นผู้ได้รับ ส่วนลุฟท์ฮันซ่าจะได้ในส่วนของการโปรโมตเป็นสายการบินที่มีอินเทอร์เน็ตให้บริการบนเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากลุฟท์ฮันซ่าแล้ว ยังมี เจเอแอล เอสเอเอส เอเอ็นเอ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไซล่าแอร์ไลน์ และโคเรียนแอร์ไลน์ที่เริ่มทยอยเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบของคอนเนกชันโดยโบอิ้ง ส่วนค่ายอินเทอร์เน็ตแนร์โรว์แบนด์ Tenzing ก็เตรียมเปิดให้บริการกับสายการบิน คาเธ่ย์ อิมิเนตส์ ไอเบอร์เรีย เวอร์จิ้น ยูไนเต็ด คอนติเนนตัล และนอร์ทเวสต์
ในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครื่องบินกันมากยิ่งขึ้น แต่ลุฟท์ ฮันซ่าก็จะใช้จุดขายของจำนวนเส้นทางการบินที่ทั่วถึงของการเปิดให้บริการพร้อมอยู่ในระหว่างการพัฒนา จอดูทีวีที่ติดตามที่นั่งให้สามารถใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ได้เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ต้องนำคอมพิวเตอร์ไปเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|