หากจะวัดการโหวตเพื่อคัดเลือกผู้จัดทำ แผนฟื้นฟูกิจการบริษัทปิโตรเคมีกัลไทย
(ทีพีไอ) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2543 เป็นปรากฏ การณ์การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด
รายได้ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว
การจัดพิธีเซ็นสัญญาควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเหล็กระหว่างบริษัทเอ็น.ที.เอส.
สตีลกรุ๊ป (NTS) และบริษัทเหล็กก่อสร้างสยาม และบริษัทเหล็กสยาม ในเครือซิเมนต์
ไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ที่มีความสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน
เพราะการเซ็นสัญญาครั้งนี้ มิได้มีความหมายเพียงแค่การปรับโครงสร้างหนี้เพียงอย่างเดียว
แต่ยังหมายถึงปรับโครงสร้างกิจการของทั้ง 3 บริษัทที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน
รวมถึงการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเหล็กเกือบทั้งระบบ
บริษัททั้ง 3 แห่ง เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกันและ เคยเป็นคู่แข่งกันเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ประสบกับวิกฤติ
เมื่อทั้ง 3 กิจการสามารถรวมกันได้ ก็จะมีการนำกำลังการผลิตส่วนที่เหลือมาจัดสรร
เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันเอง และเพิ่มการแข่งกับผู้ผลิตเหล็กจากต่างชาติได้
แผนการรวมกิจการของทั้ง 3 บริษัท เป็นสิ่งที่มีการเจรจากันมานานไม่ต่ำกว่า
3 ปี หลังจากที่อุตสาหกรรมเหล็กของ ไทย ต้องประสบกับภาวะหนี้สินภายหลังการลอยตัวค่าเงินบาท
ซึ่งนอกจากทั้ง 3 บริษัทแล้ว ยังได้มีการเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่อีก
2 ราย คือกรุงเทพผลิตเหล็ก (BSI) และน่ำเฮงสตีล รวมทั้งบริษัทอื่นๆ ที่ได้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินมาเข้าร่วมโครงการด้วย
แต่รายอื่นๆ ยังติดปัญหาทางเทคนิคของรายละเอียดการ รวมกิจการบางประการ
การเจรจาจึงมีความคืบหน้าเพียง 2 ราย คือระหว่าง NTS และเครือซิเมนต์ไทย
ซึ่งได้จัดให้อุตสาหกรรมเหล็ก ไม่เป็นอุตสาหกรรมหลักของเครือไปแล้ว
ตามรายละเอียดของสัญญา ภายหลังการควบรวมกิจการ มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาใหม่ในนามบริษัทมิลเลนเนียม
สตีล มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 หมื่นล้านบาทสัดส่วนการถือหุ้นประกอบด้วยกลุ่มซิเมนต์ไทย
โฮลดิ้ง 45% กลุ่มเจ้าหนี้ของ NTS 44.65% กลุ่ม McDonald และ MCL 6.58% และกลุ่ม
ผู้ถือหุ้นเดิมของ NTS ประมาณ 3.77%
มิลเลนเนียม สตีล จะเข้าไปซื้อทรัพย์สินและหนี้สินของทั้ง 3 บริษัทเดิม
ซึ่งจะทำให้ มิลเลนเนียม สตีล มีสินทรัพย์รวม 1.7 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น
8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการเซ็นสัญญา ปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ
3,900 ล้านบาท สัญญากู้ระยะยาว 4,400 ล้านบาท
หลังจากนั้นจะได้รับเงินกู้ก้อนใหม่ เพื่อ ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ
จากธนาคารธนชาติ ธนาคารนครหลวงไทย และบริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม วงเงินประมาณ
2,000 ล้านบาท
การผลิตเบื้องต้น มิลเลนเนียม สตีล จะเริ่มผลิตเหล็กเส้น จากโรงงานของทั้ง
3 บริษัท ในอัตราการผลิต 7 แสนตันต่อปี จากกำลังการผลิตรวมปีละ 1.7 ล้านตัน
จากนั้นจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กใหม่ๆ จากที่ผลิตอยู่เดิมตามความเหมาะสมของเครื่องจักรในแต่ละโรงงาน
เพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ประกอบเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น เหล็กเพลาล้อ
เหล็กลวดคาร์บอนสูง นอตสกรู ฯลฯ
และในเดือนตุลาคมนี้ มิลเลนเนียม สตีล ก็จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยได้รับเงื่อนไขพิเศษที่ยังไม่ต้องกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป แต่บริษัทเองก็มีแผนที่จะกระจายหุ้น
หลังจากได้ดำเนินกิจการไปแล้วระยะหนึ่ง
สำหรับโครงสร้างการบริหารมิลเลนเนียม สตีล จะมีวิรัช กฤตผล เป็นประธานกรรมการบริหาร
สันติ ชาญกลราวี เป็น ผู้จัดการใหญ่
ส่วนสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหาร NTS เจ้าของวลี "ไม่มี ไม่หนี
ไม่จ่าย" เมื่อครั้งที่ NTS ประสบปัญหาทางการเงินใหม่ๆ ยังคงมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในฐานะประธานกรรมการ
และดูเหมือนเขาจะเป็นคนที่โล่งอกมากที่สุด เมื่อการเซ็น สัญญาครั้งนี้
เสร็จสิ้นลง