สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ นับวันบทบาทยิ่งโดดเด่น


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 2 กันยายน เป็นวันแรกที่สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ จะ เข้าไปเริ่มทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) คนใหม่ แทนยอดชาย ชูศรี ที่เพิ่งขอลาออกเพื่อกลับเข้าไปทำงานที่แบงก์ชาติ

ถือเป็นการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเป็นครั้งแรก หลังจากที่เขาใช้ชีวิตการทำงานกว่า 20 ปีที่ธนชาติ ตั้งแต่ยังเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จนแยกตัวออกมาเป็นบริษัทหลักทรัพย์

ตำแหน่งล่าสุดของเขาที่ธนชาติ คือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บทบาทของสมเจตน์ นับว่าโดดเด่นขึ้นมาก นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เขาเป็นเทรดเดอร์ค้าหุ้นรุ่นแรกๆ ตั้งแต่สมัยตลาดหุ้นเริ่ม บูมขึ้นใหม่ๆ ในช่วงปี 2520-2522 ซึ่งยังใช้ระบบเคาะกระดาน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความจำนงจะซื้อจะขาย แทนที่จะใช้วิธีการจับคู่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เหมือนในปัจจุบัน

ช่วงเวลาเกือบ 25 ปี ตั้งแต่ตลาดหุ้นเริ่มบูมขึ้นมาครั้งแรก จนถึงขณะนี้ สมเจตน์จัดได้ว่าเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จ ในวิชาชีพสูงสุดผู้หนึ่ง เขาสามารถก้าวขึ้นถึงตำแหน่งเบอร์หนึ่งบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ ขณะที่เทรดเดอร์ในรุ่นเดียวกับเขาอย่างกัมปนาท โลหะเจริญวนิช ยังต้องช่วยภควัต โกวิทวัฒนพงษ์ ปลุกปล้ำบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ ที่ร่วมกันแยกตัวออกมาตั้งใหม่ ได้ 2 ปี


ในวงการค้าหุ้นแล้ว แม้อาวุโสของสมเจตน์จะอ่อนกว่า แต่หากเทียบบารมีแล้ว เขาก็มีไม่ด้อยไปกว่าวิโรจน์ นวลแข เท่าใด นัก ดังนั้นเมื่อวิโรจน์ถูกทาบทามให้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เมื่อ 2 ปีก่อน สมเจตน์จึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สืบทอดตำแหน่งต่อจากวิโรจน์

และหากวัดด้วยสายสัมพันธ์ที่เขามีต่อคนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้ สมเจตน์ก็อยู่ในกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจอย่างใกล้ชิดคนหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง เขาเคยถูกคาดหมายว่าจะเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แทนพิชา ดำรงค์พิวัฒน์ ที่ลาออกไปเป็น CFO ให้กับทีพีไอ แต่เขาก็ไม่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว โดยทำหน้าที่เพียงแค่รักษาการ และประธานคณะทำงานแปรรูป เพื่อนำ ธอส.เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

กับการเข้ามารับตำแหน่งใน บสท.ครั้งนี้ ว่ากันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้คัดเลือกเขาเข้ามาด้วยตัวเอง

บสท. เป็นองค์กรที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้ความสำคัญเป็นอย่าง ยิ่ง เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบสถาบันการเงิน ถือเป็นนโยบายแรกสุดที่รัฐบาลนี้เริ่มดำเนินการ มีการจัดเวิร์คชอปกันตั้งแต่ยังไม่ได้มีการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี

แต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าช้ามาก

ช้าจน พ.ต.ท.ทักษิณต้องออกปาก และตามมาด้วยการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร

ตามความตั้งใจแล้ว สมเจตน์วางเป้าหมายว่าจะอยู่ที่บสท.เพียง 2 ปี เพราะการเข้ามาของเขานั้นเป็นลักษณะของการ ขอยืมตัวมาจากบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ

2 ปีนี้เขาคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อพิสูจน์ว่าคนที่เกิด และเติบโตอยู่กับธุรกิจหลักทรัพย์มาตลอด 25 ปี เมื่อจำเป็นต้อง เปลี่ยนมารับงานใหม่ ซึ่งเป็นงานที่ต้องนำความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาหนี้เน่าแล้ว เขาก็สามารถทำสำเร็จได้เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.