ความจำเริญก้าวหน้าในพันธกิจของ ภราดาในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมของสถาบันการศึกษา ในเครือมูลนิธิฯ 14 แห่ง ที่สามารถรองรับนักเรียนได้
ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ภายใต้ชื่ออัสสัมชัญแต่ละแห่ง
หรือเซนต์คาเบรียล, มงฟอร์ต และเซนต์หลุยส์ และแม้กระทั่งระดับอุดมศึกษา
ย่อมเป็นประจักษ์พยานแห่ง ความสำเร็จของคณะภราดาเหล่านี้เป็นอย่างดี
แม้ว่าสถาบันในเครือมูลนิธิแต่ละแห่งจะดำรงสถานภาพ และมีลักษณะเฉพาะเป็นเอกเทศอย่างเท่าเทียมกัน
โดยมีสัญลักษณ์ ของแต่ละสถาบันเป็นเครื่องหมายประจำสถานศึกษา แต่ภายใต้ร่มธงของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
นี่คือ ตราสัญลักษณ์ที่สถาบันในเครือมูลนิธิฯ ทุกแห่งถือเป็นตราประจำสถาบันร่วมกัน
และเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกความหมายและปรัชญา ในการดำเนินชีวิตสำหรับนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันในเครือเหล่านี้ด้วย
ความหมายของตราสัญลักษณ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ต่างมีความหมายที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันดังนี้
A.M. คือ Ave Maria ในภาษาละติน ตรงกับภาษาไทยว่า "วันทา มารีอา" ซึ่งเป็น
คำสดุดีของอัครเทวดาคาเบรียล หรือเซนต์ คาเบรียล มีต่อพระมารดาของพระเยซูคริสต์
และช่อดอกซ่อนกลิ่นสีขาวบนพื้นสีน้ำเงินเป็น เครื่องหมายแสดงถึงความบริสุทธิ์
โดยอีกนัยหนึ่ง A.M. ยังหมายถึง Alma Mater ในภาษาละติน หรือในภาษาอังกฤษ
ว่า Mother College ซึ่งเป็นการเปรียบสถาบันการศึกษา ประหนึ่งเป็นบ้านเกิด
และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รวมถึงความรักสถาบันที่เปรียบประดุจผู้บังเกิดเกล้า
รูปเรือใบ ซึ่งเปรียบได้กับ "นาวาแห่ง ชีวิต" ที่จะต้องต่อสู้คลื่นลมและแสงแดดไปจนถึงฝั่ง
และยังเป็นการให้คติสำหรับคิดคำนึงเสมอว่า "ชีวิตคือการต่อสู้"
รูปดวงดาวอยู่ในท้องฟ้าเหนือเรือที่กำลังสู้คลื่นลม หมายถึงแสงแห่งความหวัง
ซึ่งก็คือ แสงธรรมแห่งศาสนา และแสงแห่งปัญญา จากสรรพวิทยาการที่ได้รับจากสถานศึกษา
รวมกันเป็นดวงประทีปส่องนำชีวิต ซึ่งก็คือ ผู้ที่อยู่ในเรือ ไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางได้ด้วย
คุณธรรม และปัญญา
เครื่องหมาย กางเขน และอักษร D S ซึ่งเป็นตัวย่อจากภาษาฝรั่งเศส Dieu Seul
ที่มีความหมายว่า จงทำงานทุกอย่างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระเจ้า ซึ่งเป็นคติพจน์ของนักบุญหลุยส์
มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (Saint Louis Marie Grignion de Montfort) ผู้สถาปนาคณะเซนต์คาเบรียล
อีกนัยหนึ่ง D ยังหมายถึง Divinity หรือศาสนา ซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
เครื่องหมาย ไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและความเสียสละ ขณะที่ S
หมายถึง Science ซึ่งก็คือวิทยาการ ความรู้ ที่เป็นพื้นฐานของความมีเหตุผล
โดยทุกคนควรมุ่งหาความรู้อยู่เสมอ และ ยิ่งมีความรู้ฝ่ายโลกมากเท่าใด ก็ควรสนใจหาความรู้ฝ่ายธรรมให้มากขึ้นเท่านั้น
โล่ที่เป็นกรอบล้อมรอบตราสัญลักษณ์ทั้งสี่ เป็น Coat of Arms เป็น Honours
หมายถึง เกียรติประวัติ และคำยกย่องสรรเสริญ ที่สถาบันได้รับมาจากพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองอำนาจ
ทั้งในและนอกประเทศ
พวงดอกไม้และกิ่ง Laurel ที่ประดับโล่ หมายถึง ชัยชนะ และความสำเร็จ ซึ่งมีที่มาจากนักกีฬาที่มีชัยชนะจากการแข่งขันในสมัยโบราณจะได้รับเกียรติ
ให้สวมพวงมาลัยดอกไม้จากกษัตริย์ ซึ่งก็คือ เป็นมาลัยเกียรติยศที่จะเตือนใจทุกคนให้กระทำความดี
เพื่อเชิดชูและจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียงของสถาบันมิให้เสื่อมสูญสลายไป
Brothers of St. Gabriel หมายถึง ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ที่ยอมสละชีวิตและได้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน
เข้ามาช่วยเผยแพร่ความรู้และความดีงามให้แก่เยาวชนไทย
ส่วนคำ LABOR OMNIA VINCIT (Labour conquers all things) ที่อยู่ใต้ชื่อ
Brothers of St. Gabriel เป็นคติพจน์ (Motto) ประจำใจของชาวสถาบันในเครือคณะภราดาเซนต์คา
เบรียลที่จะต้อง "ชนะอุปสรรคทั้งปวงด้วยความวิริยะอุตสาหะ"
สัญลักษณ์นี้นับเป็นศูนย์รวมแห่งความรำลึกของชาวสถาบันในเครือคณะภราดาเซนต์คาเบรียล
ที่แม้จะอยู่ต่างสถาบัน แต่ก็มีจุดรวมน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นเครื่องช่วยเตือนจิตใจถึงชีวิตในครอบครัวใหญ่ที่สัมพันธ์กันด้วยลักษณะเครือญาติ
เป็นพี่เป็นน้อง (Brothers)
ในอีกมิติหนึ่ง ตราสัญลักษณ์นี้ จึงเป็นประหนึ่ง Brand of Brothers ที่มีความหมายกว้างไกลครอบคลุมผู้คน
ซึ่งเป็นผลิตผลที่เกิดจากกระบวนการศึกษาของสถาบันในเครือฯ และ กำลังก้าวเดินทวีบทบาทสำคัญอยู่ในเกือบทุกวงการของสังคมไทย
โดยมิได้มีความหมายคับแคบ หยาบกร้าน แข็งเกร็ง ในลักษณะที่แวดวงธุรกิจและการตลาดประชาสัมพันธ์นิยมที่จะกำหนด
นิยามให้กับสินค้าแต่ละชนิดในห้วงเวลาปัจจุบัน เพราะการบริหารการศึกษาเป็นธุรกิจ
ที่ต้องประเมินด้วยมาตรฐานพิเศษแยกออกมาอย่างประณีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่
สัญญะ (sign) ได้รับการให้คุณค่ามากกว่า เนื้อหาและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง
เช่นนี้
สิ่งที่น่าสนใจติดตามก็คือ ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนี้ โครงข่ายความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ภายใต้
Brand of Brothers นี้ จะยังใช้ได้จริงอยู่หรือไม่