สมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าตัวเชื่อมในความสัมพันธ์ไตรภาคี

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ วัลลภ เจียรวนนท์ กำลังนำพาสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าสถาบันในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย สนองคุณสถานศึกษาเก่าของพวกเขา สมดังความหมายของ A.M. ที่หมายถึงสถานศึกษาประหนึ่งบ้านเกิด รักสถาบันประดุจผู้บังเกิดเกล้า

หากบทบาทของพระสงฆ์ในคณะ Company of Mary อยู่ที่การเผยแผ่ธรรมต่อสังคม โดยมีภคินีในคณะ Daugthers of Wisdom เป็นผู้ช่วยเหลืองาน และดูแลเยาวชนที่กำลังจะมาเป็นนักบวชใหม่ ขณะที่ ภราดา ในคณะ Brothers of St.Gabriel ทำหน้าที่คอยอุปัฏฐากคณะสงฆ์ พร้อมกับช่วยเหลือให้การศึกษาแก่ผู้ยากไร้ ในลักษณะ ความสัมพันธ์ไตรภาคี (tripartite) ที่หมุนให้กิจกรรมของคณะมงฟอร์ตในช่วงศตวรรษ ที่ผ่านมา ก้าวไปข้างหน้าแล้ว

การเกิดขึ้นของสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าสถาบันในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียล แห่งประเทศไทย (Confederation of St.Gabriel's Foundation of Thailand Alumni Association : CGA) ก็กำลังดำเนินไปในลักษณะภาพจำลองความสัมพันธ์ไตรภาคีในศตวรรษใหม่นี้อย่างชัดเจน

สถาบันในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ทั้ง 14 แห่งแน่นอนว่าอยู่ภายใต้การบริหารจัดการด้านการศึกษา โดยภราดาในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (St.Gabriel's Foundation Thailand) ขณะที่นักเรียนนักศึกษา มีสมาพันธ์สมาคมผู้ปกครอง และครูสถาบันในเครือฯ (Confederation of St.Gabriel's Foundation of Thailand Parents and Teachers Association : CGPTA) คอยสนับสนุนด้านปัจจัยสำหรับการศึกษา และยังเป็นผู้ที่คอยกล่อมเกลาในด้านจริยธรรมให้แก่เยาวชนเหล่านี้ โดยมี CGA ทำหน้าที่เป็นอุปัฏฐาก สถาบันที่เปรียบเสมือนผู้มีพระคุณ และยังดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลในโอกาสต่างๆ กันอีกด้วย

สมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ เป็นองค์กรที่ริเริ่มจัดตั้งขึ้นใหม่ และมีสถานะอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ 72 พรรษาด้วย เหล่าศิษย์เก่าในเครือจึงคิดที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสดังกล่าว

เป็นโอกาสมงคลของการเกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 สมาพันธ์ กล่าวคือสมาพันธ์สมาคมผู้ปกครองและครูสถาบันในเครือฯ (Confederation of St.Gabriel's Foundation of Thailand Parents and Teachers Association : CGPTA) ที่มี ชุมพล พรประภา เป็นนายกสมาพันธ์ และสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าสถาบันในเครือมูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (Confederation of St.Gabriel's Foundation of Thailand Alumni Association : CGA) ภายใต้การนำของ วัลลภ เจียรวนนท์ ซึ่งล้วนมีส่วนก่อรูปความสัมพันธ์ไตรภาคีนี้

"ความคิดที่จะรวมสมาคมศิษย์เก่าของสถาบันในเครือ เพื่อจัดตั้งสมาพันธ์มีมา นานก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยจัดตั้งเป็น คณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาความเป็น ไปได้ และทาบทามขยายความคิดออกไปให้นายกสมาคมแต่ละแห่งรับทราบและเข้าใจตรงกัน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นปี" วัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็น นายกสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ ในช่วงเวลาก่อตั้งนี้ บอกกับ "ผู้จัดการ"

บุคคลที่เข้ามาร่วมปรึกษาและดำเนินการเพื่อให้สมาพันธ์ฯ เกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงแรก ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าสถาบันในเครือฯ ที่มักคุ้นและร่วมสังสรรค์อยู่ในสมาคมอัสสัมชัญ ที่ตั้งอยู่แถวกล้วยน้ำไท ถนนพระราม 4 เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นวัลลภ เจียรวนนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอัสสัมชัญ (AC), จรัญ บุรพรัตน์ ศิษย์เก่าจากอัสสัมชัญศรีราชา (ACS), สนั่น อังอุบลกุล ศิษย์เก่าจากอัสสัมชัญพาณิชย์ (ACC) และชลิต ลิมปนะเวช ศิษย์เก่าจาก อัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (ABAC) ก่อนที่จะมีการส่งผ่านความคิดนี้ไปสู่ พล.อ.อัครเดช ศศิประภา นายกสมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล ในลำดับต่อมา

แน่นอนว่า นายกสมาคมศิษย์เก่าของสถาบันในเครือแต่ละแห่งย่อมมีความเห็นต่อการจัดตั้งสมาพันธ์ฯ ไปในทิศทางใกล้เคียงกัน โดยต่างย่อมเห็นชอบในหลักการ และหากจัดตั้งขึ้นได้จริงก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาพื้นฐานของการรวมกลุ่มผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ ก็คือประเด็นว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ และระเบียบวาระ ข้อบังคับ ต่างๆ ของสมาพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้

งานของคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1998 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกทั้งเมื่อสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ ปรากฏตัวเป็นองค์กรจัดตั้งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว งาน ที่คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ รับช่วงจากคณะกรรมการเฉพาะกิจ ย่อมหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

"ปกติวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าฯ แต่ละแห่งจะมีระยะเวลาประมาณ 2 ปี คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ ก็เช่นกัน แต่ละชุดที่เลือกเข้ามาจะมีวาระ 2 ปี โดยนายกสมาคม และเลขาธิการ หรือ กรรมการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากแต่ละสมาคมฯ จะเป็นกรรมการสมาพันธ์ฯ โดยตำแหน่ง แต่ปัญหาอยู่ที่สมาคมแต่ละแห่งมีกำหนดวาระไม่ตรงกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะ"

วัลลภ เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาพันธ์ฯ เป็นคนแรก จากการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1999 และครบวาระ 2 ปีของการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ไปแล้ว ก่อนที่จะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกเป็นครั้ง ที่ 2 และจะหมดวาระอีกครั้งในปี ค.ศ.2003

ภารกิจของวัลลภในช่วง 2 ปีแรกเน้น หนักไปที่การวางรากฐานของสมาพันธ์ฯ ให้มีความเป็นสากลและคงความน่าเชื่อถือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อม รวมถึงความพยายามที่จะหาทุนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาพันธ์ฯ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นโจทย์ที่ต้อง ทำการบ้านหนักพอสมควรเลยทีเดียว

แม้ว่าสมาชิกในคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ จะประกอบขึ้นด้วยนักธุรกิจ และผู้ที่ประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งมีความพร้อมที่จะบริจาคเงินหรือให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ ต่อสมาพันธ์ฯ แต่สำหรับวัลลภและคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ แล้ว กรณีดังกล่าวอาจนำมาซึ่งข้อครหา และปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส ในระยะยาวได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สมาพันธ์ฯ จำเป็นต้องยืน อยู่ได้ด้วยระบบมิใช่โดยการสนับสนุนของบุคคลเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

"สมาคมศิษย์เก่าฯ แต่ละแห่ง ก็มีแผนงานกิจกรรมที่จะหาทุนเหมือนกัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ในฐานะที่สมาพันธ์ฯ เป็นองค์กรที่ใหญ่กว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้กิจกรรมของสมาพันธ์ฯ ไปมีรูปแบบหรือวิธีการที่ทับซ้อนกับกิจกรรมของแต่ละสมาคมฯ หากแต่ต้องเอื้อประโยชน์ให้ สมาคมฯ เหล่านั้นด้วย"

ตรรกวิธีของวัลลภ ในฐานะหัวขบวนของสมาพันธ์ฯ ต่อกรณีดังกล่าว นอกจากจะบอกเล่าให้เห็นถึงความสำคัญในเชิงอุปถัมภ์ ที่เป็นรูปแบบหลักของปฏิสัมพันธ์ในสังคมไทยแล้ว ในด้านหนึ่งยังสะท้อนฐานคิดในระดับองค์กรที่เขาสังกัดอยู่ไม่น้อย

ก่อนหน้านี้ CGA เคยมีงานกิจกรรมระดมทุนขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 ภายใต้ชื่องาน CGA Fair ซึ่งเป็นงานมหกรรมสินค้า ที่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดยโรงงานหรือ บริษัทที่มีผู้ประกอบการเป็นศิษย์เก่าในเครือ และครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.2001 ที่ดำเนินกิจกรรม ระดมทุนผ่านการแสดงชุด Shanghai Show ซึ่งในทัศนะของวัลลภ กิจกรรมทั้งสองครั้งยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และทำให้เขาต้องคิดหาวิธีใหม่ที่ได้ประโยชน์มากกว่า ก่อนที่จะได้บทสรุปว่าด้วยการออกบัตรเครดิต CGA Visa Card

"อาจารย์ชลิต (ลิมปนะเวช) ท่านเป็นคนคิด ซึ่งก็ลงตัวมาก ไม่ใช่เพียงเพราะสมาพันธ์ฯ จะระดมทุนได้เท่านั้น หากยังเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ศิษย์เก่าในเครือจะได้รับ ความสะดวกที่ผู้ปกครองและครูพึงจะมี รวมถึงการมีช่วยสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันในเครือในอนาคต"

วัลลภไม่รีรอที่จะกล่าวถึงบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดในโครงการต่างๆ อย่างให้เกียรติและเปิดเผย เขาเล่าถึงที่มาที่ไปในเรื่องนี้ โดยเชิญ ชลิต ลิมปนะเวช นายกสมาคมศิษย์เก่า ABAC และเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชา Marketing Communication ของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมพูดคุยกับ "ผู้จัดการ" ด้วย

ความลงตัวของ CGA Visa Card สามารถไล่เรียงได้ตั้งแต่การเป็นเครื่องมือที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายศิษย์เก่า ที่กำลังเติบโตอยู่ในภาคธุรกิจที่หลากหลายให้ ประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในลักษณะของ privilege card พร้อมๆ กับการเป็นสัญลักษณ์ในฐานะสมาชิกของเครือข่ายกำลังจะเติบโตขึ้นนี้ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะ CGA หากยังรวมถึง CGPTA และสถาบันในเครือมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นการก่อรูปความสัมพันธ์ไตรภาคี (tripartite) ที่เชื่อมถึงกันและขยายเป็นครอบครัวขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการระดมทุนแบบ endowment fund สำหรับการเคลื่อนตัวของสมาพันธ์ฯ ไปสู่งานสาธาณกุศลเป็นลำดับต่อไป

งานวางรากฐานภายใต้บทบาทบนตำแหน่งนายกสมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่าฯ ซึ่งจะสิ้นสุดวาระที่ 2 ลงในช่วงปี ค.ศ.2003 ดูเหมือนจะสั้นเกินไปสำหรับสิ่งที่วัลลภ เจียรวนนท์ มุ่งหมายจะให้องค์กรแห่งนี้ ดำเนินไปอยู่ไม่น้อย แต่นั่นย่อมมิได้หมายความว่าเขาจะต้องอยู่บนตำแหน่งนี้สืบไป แม้ว่าโครงการย้ายที่ทำการสมาพันธ์ฯ ซึ่งขณะนี้ใช้พื้นที่ของสมาคมอัสสัมชัญ ที่กล้วยน้ำไท ไปอยู่บนพื้นที่ชั้น 19 ซึ่งเป็นชั้นกึ่งกลางของอาคาร The Cathedral of Learning อาคารที่สูง 38 ชั้น ในวิทยาเขตบางนา จะยังอยู่ไกลกว่าความเป็นจริงพอสมควร

"ในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เช่นนี้ ความต่อเนื่องมีความจำเป็นจะต้องตั้งลำต้นให้ตรงเสียก่อน การจะใช้เงินลงทุนตกแต่งพื้นที่เพื่อทำที่ทำการสมาพันธ์ฯ เป็นเรื่องที่อาจทำเป็นลำดับต่อไป ซึ่งกรรมการหลายท่านก็มีความเหมาะสมและมีความพร้อมที่จะสานงานในส่วนนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุม" วัลลภกล่าวอย่างไม่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะบนตำแหน่งนี้เลย เพราะในความเป็นจริงเขายังมีบทบาทด้านงานสาธารณกุศล และอื่นๆ อีกมากเหลือเกิน

เขาอาจจะเป็น เจียรวนนท์ ที่ไม่ได้ปรากฏตัวเป็นข่าวต่อสาธารณชนมากเท่ากับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ศุภชัย เจียรวนนท์ ที่กำลังปลุกปั้น Orange ให้มีอนาคตสดใส แต่สำหรับผู้คนในแวดวงสังคม โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในองค์กร ที่ประกอบกิจกรรมสาธารณกุศลแล้ว วัลลภ เจียรวนนท์ ย่อมไม่ใช่คนแปลกหน้า หากตระหนักดีว่า วัลลภเป็นผู้ที่สนองงานอยู่ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทยิ่งท่านหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.