St. Gabriel ชื่อที่ทรงความหมาย

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ภราดาหลุยส์ โบวีโน (Bro. Louis Bauvineau) ซึ่งเป็นผู้ศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ในหนังสือ History of The Brothers of St. Gabriel โดยบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ นักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต มรณภาพจนถึงความก้าวหน้าของคณะเซนต์คาเบรียลในสมัยปัจจุบัน ได้ระบุถึงความหมายของชื่อคณะเซนต์คาเบรียลไว้อย่างน่าสนใจในบทความชื่อ "Gabriel Deshayes" ตีพิมพ์ใน Magazine นิตยสารราย 3 เดือนของคณะเซนต์คาเบรียล เล่มที่ 102 ฉบับประจำ "มิถุนายน 1991" หน้า 54 ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปได้ว่า

ชื่อดั้งเดิมของคณะเซนต์คาเบรียล คือ "ภราดาคณะพระจิต" (Brothers of the Holy Spirit) ซึ่งก็ทำให้ระลึกถึงชีวิตใหม่ในพระจิตเจ้า ชื่อใหม่อาจดูเหมือนไม่สร้างแรงบันดาลใจเท่าชื่อเก่า แต่เมื่อมาพิจารณาด้วยการแปลความตามตัวอักษรแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความหมายลึกซึ้งทีเดียว

ชื่อ คาเบรียล ได้มีการกล่าวถึงถึง 3 ครั้ง ในพระคัมภีร์ Bible คือ Book of Daniel บทที่ 8 และ 9 และใน Luke's Gospel บทที่ 1 ข้อ 11-20 และ 28-38 ในข้อแรกๆ ของ Luke's Gospel เมื่อกล่าวถึง ซาคาเรีย (Zechariah) โดย คาเบรียล (Gabriel) ได้บอกว่า "ฉันคือ คาเบรียล ฉันรับใช้อยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า"

"คำว่า คาเบรียล นั้นแปลว่า 'พลังของพระเจ้า, วีรบุรุษของพระเจ้า' การเป็นภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ก็คือการมีชีวิตอยู่ต่อหน้าพระเจ้าเสมอ เพ่งพิศและสักการะพระองค์ "ยืนเฝ้ารับพระบัญชา' จากพระองค์เสมอ ย้ำถึงความจริงที่ว่า เราอยู่ 'กับ' พระองค์ และนี่ก็คือหัวใจของชีวิตคริสต์ชน (พระเจ้าอยู่ในเราและเราอยู่ในพระเจ้า)"

คาเบรียล นั้นเป็นทั้งผู้สื่อข่าวของพระเจ้าและวีรบุรุษของพระองค์ ข่าวที่คาเบรียลนำมานั้นเป็นข่าวประเสริฐที่สำคัญมากๆ ข่าวที่ว่าพระเจ้ากำลังจะบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อมาเปลี่ยนสภาพของมนุษย์ และทำให้หลุดพ้น ข่าวนี้อยู่ในการแจ้งต่อซาคาเรีย และแม่พระ คือการแจ้งถึงการบังเกิดและเนรมิตโลกเสียใหม่

คาเบรียล มิได้พอใจอยู่กับการแจ้งข่าวเท่านั้น หากยังได้อธิบายในคำตอบที่ให้กับซาคาเรีย และมารี ที่ยังไม่เข้าใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไรด้วย โดยระบุว่า "เรามาเพื่อให้ปรีชาญาณและความเข้าใจแก่ท่าน" ซึ่งเป็นการแสดงตนในฐานะครูที่ดี ชี้ชวนผู้ที่เป็นนักการศึกษาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเอาใจใส่และอดทน นี่คือความหมายของการเป็นภราดาคณะเซนต์คาเบรียล

ท้ายที่สุด คาเบรียล เป็นท่านแรกที่สรรเสริญมารี "วันทามารีอา เปี่ยมด้วยหรรษทาน พระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน" เช่นเดียวกับภราดาคณะเซนต์คาเบรียลที่เมื่อสวดสายประคำ ก็จะปฏิบัติ ด้วยความเคารพรักดังที่คาเบรียล แสดงในสภาพท่าคุกเข่า มือประทับที่อก ตามภาพ "เทวทูตแจ้งสาร" ในหนังสือกฎของคณะ

"ขอบคุณบิดามารดาของคุณพ่อ Deshayes ที่ให้นามนักบุญองค์อุปถัมภ์ท่านว่า คาเบรียล และทำให้ภราดาซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมท่ามกลางภารกิจต่างๆ สรรเสริญแม่พระและประกาศข่าวประเสริฐด้วยการเป็นภราดาคณะเซนต์คาเบรียล"

อรรถาธิบาย ที่ภราดาหลุยส์ โบวีโน กล่าวถึง คณะเซนต์คาเบรียลนี้ ย่อมชัดเจนทั้งในมิติของความศรัทธาที่มีต่อพระแม่มารีอา และบทบาทของภราดาที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการเป็นผู้ประกาศ หากแต่ยังดำเนินไปในฐานะนักการศึกษาที่จะจรรโลงความรู้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ภราดาในมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อภราดาในคณะชุดแรก ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ 100 ปีล่วงมาแล้ว

พร้อมกับการลงหลักปักฐานและทวีบทบาทต่อสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาไทย อย่างน่าสนใจยิ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.