"วี.ชอป" พลิกเกมรบสู้ยักษ์เทศส่งมินิเอ็กซเพรสเจาะรากหญ้า


ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

วี.ชอป ปรับกระบวนท่ารบใหม่ บุกคอนวีเนียนสโตร์ งัดสารพัดโปรเจกต์ ส่งมินิเอ็กซเพรสลุยระดับรากหญ้า วางตำแหน่ง วี.ชอป เป็นเหมือนแม็คโคร ส่งกระจายสินค้าให้กับเครือข่าย วางเป้าผุด วี.ชอป 20 สาขาต่อเดือน

นายเอกราช วิสารทสกุล บริษัท มินิมาร์ท เอ็กซเพรส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านวี.ชอป เปิดเผยกับ ผู้จัดการรายวันŽ ว่าบริษัทฯเตรียมเปิดโครงการสนับสนุนชุมชนและผลิตภัณฑ์ของชุมชน จำนวน 10 โครงการ โดยเริ่มจากโครงการ "มินิเอ็กซเพรส" ซึ่งเป็นการเปิดร้านค้าย่อยภายในชุมชม ที่บริษัทฯเป็นผู้ลงทุนให้ชาวบ้านร้านละ 3 หมื่นบาทขึ้นไป เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี รวมทั้งเพื่อกระจายรายได้และสร้างความเจริญให้กับชุมชน

นอกจากนั้น ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีเกือบ 1 พันสาขา ให้ครบ 5 หมื่นสาขาภายในอนาคต โดยจะพัฒนาร้านวี.ชอป 1 แห่งให้กลายเป็นจุดกระจายสินค้าให้กับร้านค้าในโครงการมินิเอ็กซเพรสจำนวน 50 แห่ง ส่งผลให้จำนวนสาขาทั้งหมดของบริษัทฯ (ร้านวี.ชอป รวมร้านมินิเอ็กซ-เพรส) มีประมาณ 5 หมื่นแห่ง ถือเป็นการพัฒนารูปแบบของร้านวี.ชอป จากเดิมที่เป็นเพียงร้านค้าปลีก ก็จะเพิ่มรูปแบบของร้านค้าส่งด้วย โดยบริษัทฯตั้งเป้าที่จะเซ็นสัญญาเปิดร้านวี.ชอปสาขาใหม่เดือนละ 20 สาขา และบริษัทฯจะลงทุนเปิดร้านมินิเอ็กซเพรส 50 แห่งต่อร้านวี.ชอป 1 สาขา เพื่อเป็นการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าในราคาขายส่งให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ด้วย

โครงการค้าส่งดังกล่าวที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทฯสิ้นปี 2548 เพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านบาท นับจากเดือนมกราคม 2547 ถึงธันวาคม 2548 และคาดว่าสิ้นปีหน้าจะมีรายได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าเพียง 1-2 ชิ้น มาเป็นซื้อทีเดียวยกแพก

ปัจจุบันจำนวนสาขาของบริษัทฯเติบโตอย่างมากโดยใช้เวลา 10 ปีนับตั้งแต่เปิดสาขาแรกในปี 2538 เปิดสาขาได้เกือบ 1 พันสาขาทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นการนำอาคารพาณิชย์ที่ปิดกิจการทิ้งไว้มาปรับปรุงเปิดเป็นร้านวี.ชอป ขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำมันแพงนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานมากนัก โดยบริษัทฯยังคงมียอดขายเติบโต 15% เนื่องจากผู้บริโภคเดินทางน้อยลงหาซื้อสินค้าที่ใกล้บ้านมากขึ้น รวมทั้งระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งร้านวี.ชอปเน้นขายของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว

"คอนวีเนียนสโตร์ถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่กระจายทุกหมู่บ้าน เพราะไม่ต้องเดินทางเข้าไป ซื้อสินค้าในตัวเมือง ระบบค้าส่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้า มา จะทำให้ร้านวี.ชอปเป็นเหมือนแม็คโครประจำอำเภอ"

นอกจากนั้น บริษัทฯมีโครงการไทยช่วยไทย โดยร่วมมือกับซัปพลายเออร์ที่มีสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นมาลดราคาเป็นพิเศษ เริ่มต้นในร้านวี.ชอป 100 สาขาแรกก่อน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยุคที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้

สำหรับกลยุทธ์การตลาดของร้านวี.ชอป จากนี้ จะเน้นการขายตรง 1 ชั้น โดยออกบัตรสมาชิก เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดเป็นการขายตรง 4 ชั้น ซึ่งจะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมให้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการวี.ชอป ชอปปิ้งทางทีวี ซึ่งบริษัทฯลงทุนจ่ายค่าโฆษณาให้เฉลี่ย นาทีละ 3 แสนบาท เพื่อโฆษณาสินค้าของร้าน 20 รายการต่อเดือน

บริษัทฯมีโครงการวี.ชอป 5 ดาว เพื่อพัฒนามาตรฐานบริการร้านสะดวกซื้อในไทย โดยมุ่งหวังให้วี.ชอปซึ่งเป็นแบรนด์ของคนไทย อยู่ในประเทศไทย มีศักยภาพที่จะขยายสาขาแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศอย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น และแฟมิลี่มาร์ทได้

"ด้านคุณภาพสามารถพัฒนาตามกันทัน ส่วนจำนวนของร้านนั้น เราค่อยๆ ขยายสาขา โดยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง โดยวี.ชอปมีจุดขายด้านต้นทุนบริหารร้านที่ต่ำ จึงมีศักยภาพที่จะเปิดสาขามากกว่าแบรนด์ต่างประเทศอย่างเซเว่นฯ อีกทั้งเงื่อนไขการเปิดร้านนั้น เพียงนับจำนวนหลังคาเรือน 7-8 ร้อยหลังก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว ขณะที่เซเว่นฯติดเงื่อนไขต้องนับจำนวนหลังคาเรือนได้ไม่น้อยกว่า 1 พันหลังขึ้นไป"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.