จี้กทช.ทบทวนไลเซนส์ดัมป์มือถือต่ำทุนยึดสากล


ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีดีอาร์ไอยันไลเซนส์มือถือใหม่ที่ไม่ให้ดัมป์ราคาต่ำกว่าต้นทุน ผิดหลักเกณฑ์สากลและของไทย เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ กีดกันการแข่งขัน บล็อกรายเล็กไม่ให้เกิด จี้กทช.ทบทวน เอไอเอส สวนกลับเป็นการวางกรอบในการแข่งเสรี เชื่อเป็นการส่งผล ดีกับรายเล็กมีโอกาสแจ้งเกิด

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการออกใบอนุญาตหรือไลเซนส์ใหม่ให้บริการมือถือซึ่งรวมถึงระบบ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่า ใบอนุญาตที่กทช.จะออกให้เป็นประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีโครงข่าย แต่ไม่แยกระหว่างผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือผู้ให้บริการรายอื่นหรือผู้ประกอบการรายใหญ่กับผู้ประกอบการทั่วไปออกจากกัน ซึ่งตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2512 มีการแบ่งผู้ประกอบการเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการรายใหญ่ 2.ผู้ประกอบการทั่วไปซึ่ง เป็นรายเล็ก

มุมมองของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตมือถือของกทช.เห็นว่า เป็นการทำผิดหลักเกณฑ์สากลและหลักเกณฑ์ของไทย เนื่องจากหลักเกณฑ์ทั่วโลกห้ามผู้ให้บริการรายใหญ่ขายต่ำกว่าต้นทุน แต่ให้รายเล็กขายต่ำกว่าต้นทุนได้ เพราะหากให้รายเล็กกับรายใหญ่ขายในราคาเท่ากัน รายเล็กไม่มีโอกาสเกิด

"สิ่งที่กทช.ทำผิดหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในระดับสากลและของไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการกีดกันการแข่งขัน บล็อกรายเล็กออกจากตลาด"

ในสายตาของทีดีอาร์ไอเห็นว่า การออก ใบอนุญาตมือถือใหม่ กทช.ต้องทบทวนให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ รายใหญ่ผูกขาด เอไอเอสสวนกลับ

แหล่งข่าวจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า การออกใบอนุญาตใหม่เป็นการประกาศไว้เป็นกรอบ เป็นกติกาโดยทั่วไปซึ่งจะออกมาเป็นชุดๆ ของกทช. เพื่อให้อุตสาหกรรม โทรคมนาคมโดยรวมเกิดสมดุลทั้งในแง่ของผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ เมื่อกทช.ออกเป็นกรอบกติการ ถือเป็นการทำให้เกิดการแข่งขันเสรี ถูกต้องตามระบบทั่วโลก

"หลักการที่ออกมาถูกต้อง เพราะทุกประเทศในโลกต้องมีองค์กรกำกับดูแลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำแบบมั่วตั้ว" แหล่งข่าวกล่าวและว่า การมีกฎกติกาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ถ้าปล่อยทำการตลาดเหมือนที่ผ่านมาจะทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์ อย่างมีการดัมป์ราคาลงมากๆ ซึ่งเป็นการทำเอามันในระยะสั้นๆ แล้วทำให้เกิดปัญหากับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เช่น ให้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเครือข่ายที่วางไว้รองรับไม่เพียงพอ หรือเกิดการแจม เป็นต้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ราคาค่าบริการมีการกำหนดราคาขั้นต่ำและเพดานสูงสุดไว้อยู่แล้ว ถ้าศึกษาเรื่องของราคาทั่วโลกจะเห็นว่า หากปล่อยให้รายใหญ่ดัมป์ราคารายเล็กไม่ได้เกิด เพราะผู้ที่มีเครือข่ายครอบคลุมมากกว่าจะได้เปรียบ อย่างกรณีที่มีการดัมป์ราคาลงไปเหลือนาทีละสลึง แต่ต้องจ่ายค่าเชื่อมโครงข่าย หรืออินเตอร์คอนเน็กชัน ชาร์จ หนึ่งบาท ลักษณะอย่างนี้จะแจ้งเกิดได้อย่างไร สำหรับกติกาใหม่ที่ออกมา เชื่อน่าจะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสเกิดมากกว่า

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส กล่าวว่า จากการที่กทช.มีแนวทางในการออกไลเซนส์ใหม่ให้กับผู้ให้บริการทั้งหลาย โดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในแง่ลูกค้าที่ได้รับบริการ อันจะส่งให้การแข่งขันด้านราคาอย่างมากในปัจจุบันหมดไป เพราะผู้บริโภคทุกรายต้องได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน หากจะมองในแง่การตลาดนับจากนี้ต่อไปคงเป็นเรื่องเร็วไป ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อ ดูความเปลี่ยนแปลง แต่การตลาดจริงๆ ก็มีทางออกของการแข่งขันในรูปแบบการบริการและการดูแลลูกค้าเป็นจุดแข่งขันกันได้อยู่แล้ว

ส่วนเรื่องแนวคิดที่ว่า ผลของข้อกฎหมายภายใต้ไลเซนส์ใหม่นี้ จะส่งผลดีกับเอไอเอส โดยเฉพาะรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในฐานะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด แต่ไม่เน้นสงครามราคามาแต่ต้นนั้น แต่จะมองกลยุทธ์ด้านการให้บริการเป็นหลัก ออเร้นจ์ขอเวลาศึกษา

ด้านนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น ซึ่งรับผิดชอบด้านกลยุทธ์และการกำหนดโปรโมชัน ทั้งของทรูและทีเอ ออเร้นจ์ กล่าวว่า การออกใบอนุญาตใหม่ของกทช.จะมีกระทบกับตลาดและ รายได้อย่างไร คงไม่สามารถให้คำตอบได้ในขณะนี้ เพระเป็นของใหม่สำหรับไทย ต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดสักระยะก่อน

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในหมวดสิทธิของผู้ใช้บริการ มาตรา 47 ที่ระบุว่าหากผู้ใช้บริการพบว่าผู้ให้บริการเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการสูงกว่าที่ กทช. กำหนดหรือผู้ให้บริการรายอื่นหรือ เรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ใช้บริการสามารถขอดูข้อมูลจาก ผู้ให้บริการได้ นอกจากนี้ มาตรา 66 ยังระบุอีกว่าผู้ให้บริการจะต้องแจ้งค่าบริการที่จะประกาศใช้ก่อนจะใช้จริงภายในระยะเวลาที่กำหนดรวมทั้งเสนอต่อ กทช. เมื่อมีการเรียกขอด้วย หากผู้ให้บริการรายใดไม่ปฏิบัติตาม จะถูกปรับวันละ 2 หมื่นบาทหรือในกรณีร้ายแรงจะเพิกถอนใบอนุญาตทันที

ตามกฎหมายดังกล่าวจะทำให้แนวการตลาดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถดัมป์ราคาจนต่ำกว่าต้นทุนได้ ค่าบริการประเภทนาทีละ 25 สต. 50 สต.หรือ 1 บาทจะไม่มีอีกต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.