จุดกำเนิดของคณะภราดาเซนต์คาเบรียล (The Brothers of St. Gabriel) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานในปัจจุบัน
อาจสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงช่วงปี ค.ศ.1711-1716 จากการที่ St. Louis Marie
Grignion de Montfort ได้เปิดโรงเรียนการกุศลในลักษณะ Free School ขึ้นที่เมือง
ลา โรแซล (La Rochelle) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กยากไร้ ด้อยโอกาส
ซึ่งการตั้งโรงเรียนดังกล่าวเป็นวิธีการในระยะเริ่มแรก ที่ทำให้งานเผยแผ่ธรรมของนักบุญ
หลุยส์ มารี มีผลสืบถาวรต่อมา
ในยุคแรกเริ่มคณะภราดาที่นักบุญ หลุยส์ มารี จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยงานด้านการศึกษาแก่เด็กยากไร้ดังกล่าว
ใช้ชื่อว่าภราดาคณะพระจิต (The Brothers of the Holy Spirit) แต่ภายหลังการมรณกรรมของนักบุญหลุยส์
มารี ในปี ค.ศ. 1716 บทบาทและกิจกรรมของคณะภราดายังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าดำเนินไปอย่างไร
กระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ.1789-1799 ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีการคุกคามคณะสงฆ์
และนักบวช อย่างกว้างขวาง โดยในปี ค.ศ.1790 มีกฤษฎีกายกเลิกพระสงฆ์ออกมา
สำหรับคณะมงฟอร์ต ที่ประกอบด้วยคณะสงฆ์ ในคณะแม่พระ (The Company of Mary),
คณะภคินี (Sisters) ในคณะธิดาแห่งปรีชาญาณ (The Daughters of Wisdom) และคณะภราดาใน
The Brothers of the Holy Spirit แล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและโหดร้ายที่สุด
โดยพระสงฆ์ 2 องค์ถูกฆาตกรรมระหว่างจะขึ้นเรือไปสเปน ภคินีในคณะธิดาแห่งปรีชาญาณถูกกิโยตีน
(guillotine) และฆาตกรรม 13 คน ขณะที่ภราดาในคณะพระจิตก็ถูกฆาตกรรมถึง 3
ท่านในช่วงนี้ และสูญหายไปอีกจำนวนหนึ่งด้วย
การเริ่มต้นครั้งใหม่ของคณะเซนต์คาเบรียลเกิดขึ้นเมื่อ Father Gabriel
Deshayes (1767-1841) พระสงฆ์จากสังฆมณฑล St.Anne d'Auray ในแคว้นบริตานี
(Brittany) ได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะของคณะมงฟอร์ตในช่วงปี ค.ศ.1821 และนับเป็นจุดเริ่มของการฟื้นฟูคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในลำดับต่อมา
ก่อนหน้าที่ Father Gabriel Deshayes จะได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะของคณะมงฟอร์ตนั้น
คณะภราดาในสังกัดยังอยู่ภายใต้ชื่อ ภราดาแห่งพระจิต (The Brothers of the
Holy Spirit) กระทั่งในปี ค.ศ.1835 เมื่อจำนวนของพระสงฆ์ และภราดาในคณะมงฟอร์ตเพิ่มมากขึ้นจนมีความเป็นอยู่แออัด
ทำให้ต้องมีการหาที่อยู่ใหม่ให้กับคณะภราดา พร้อมกับการคิดตั้งชื่อบ้านหลังใหม่นี้
และได้ใช้ชื่อ บ้านเซนต์คาเบรียล ตามชื่อของ Father Gabriel Deshayes ซึ่งเป็นเจ้าคณะฯ
ขณะนั้น โดยภราดาที่เข้าอยู่ในบ้านหลังนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะภราดาบ้านเซนต์คาเบรียล
ในที่สุด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ว่าระหว่าง Louis Marie
กับ Gabriel Deshayes ใครคือผู้ก่อตั้งคณะ ภราดานี้กันแน่ ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงยาวนานกว่า
100 ปี
ความขัดแย้งดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ภราดาภายในคณะเท่านั้น หากยังขยายตัวลุกลามไปเป็นความตึงเครียดระหว่างคณะภราดา
กับคณะพระสงฆ์ในคณะแม่พระ ที่ดำเนินไปท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ในลำดับต่อมา
ก่อนที่ความขัดแย้งจะยุติลงอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1968 หลังการเฉลิมฉลอง
250 ปีแห่งการมรณกรรมของ St. Louis Marie Grignion de Montfort ความสมานฉันท์ในครอบครัวมงฟอร์ต
จึงกลับคืนมาอีกครั้ง
กิจกรรมและบทบาทของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลในช่วงสมัยของ Gabriel Deshayes
ยังจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ในเขตประเทศฝรั่งเศส แม้ว่า Father Gabriel Deshayes
จะมีความคิดและพยายามต่อเนื่องมานานถึง 15 ปี ที่จะเปิดโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกและตาบอดในอเมริกา
แต่เมื่อ Father Gabriel Deshayes ถึงแก่มรณกรรมในปี ค.ศ.1841 ทุกอย่างก็เงียบหายไปอีกครั้ง
การขยายตัวไปต่างประเทศของคณะเซนต์คาเบรียลเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1888
โดยเริ่มต้นที่แคนาดา ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวไปต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นช้ากว่าคณะนักบวชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาคณะอื่นๆ
ในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภราดาคณะโพลเอเมิล ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1824 เดินทางไปถึงกัวดาลูป
เซเนกัล กียานา และตาฮิติ มานานก่อนหน้านั้นแล้ว หรือในกรณีของคณะมารีส (The
Marist Brothers ก่อตั้งในปี ค.ศ.1817) ที่ไปถึงแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1867
เลบานอน 1868 ออสเตรเลีย 1871 และอเมริกา 1846
กระนั้นก็ดีในช่วงเริ่มศตวรรษที่ 20 ดูเหมือนจะเป็นห้วงเวลาของความปั่นป่วนครั้งใหม่ในฝรั่งเศส
เพราะความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรและรัฐในฝรั่งเศสอยู่ในความตึงเครียดอีกครั้ง
อันเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อเริ่ม "สาธารณรัฐที่สาม" ในปี ค.ศ.1870
ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายโรงเรียนในปี ค.ศ.1880 และเสื่อมทรามลงอีกเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ที่รู้จักกันในนาม
The Dreyfus Affair ในปี ค.ศ.1894-1906 ซึ่งเป็นเหตุให้โรงเรียนกว่า 3,000
แห่งถูกปิด และนักบวชกว่า 20,000 คนถูกขับไล่ พร้อมกับการออกกฎหมายไม่อนุญาตให้มีนักบวชอีกต่อไปด้วย
ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ ได้ส่งผลให้นักบวชจากฝรั่งเศสแพร่กระจายไปทั่วโลก
โดยประเมินกันว่ามีสงฆ์มิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสจำนวนสองในสามของพระสงฆ์
และนักบวชชายหญิงจำนวนสี่ในห้าของนักบวชที่มีอยู่ในฝรั่งเศสขณะนั้น เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหยั่งรากใหม่ในดินแดนอื่นๆ
ด้วย
ในกรณีของประเทศไทยที่ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ
ค.ศ.1901 ก็ย่อมอยู่ภายใต้บริบทของสถานการณ์เช่นว่านี้ไม่ต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนว่า
ผลสัมฤทธิ์ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลในดินแดนแห่งนี้ จะก้าวไปไกลจากจุดเริ่มต้นอย่างไม่อาจเทียบได้