100 ปีแห่งพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ คณะเซนต์คาเบรียลประเทศไทย

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะภราดา ที่เดินทางถึงเมืองไทยหลังจากที่ Missionaries รุ่นแรกๆ ได้พยายามเพาะหน่ออ่อนของคริสต์ศาสนาให้งอกเงยในสยามประเทศ มานานกว่า 200 ปี แต่ดูเหมือนว่าภารกิจของพวกเขา จะประสบสัมฤทธิผลมากกว่าคณะใดๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว

แม้ว่าการเดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสต์ธรรมของนักบวชคณะ Dominican, Franciscan และ Jesuit ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทย จะเกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่ดูเหมือนว่าความพยายามที่จะลงหลักปักฐานคริสต์ศาสนาในไทย เกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อเริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 ไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพระนารายณ์มหาราช อันเป็นผลจากการติดต่อการค้ากับชาติตะวันตกในระยะนั้น จนเกิดเป็นนิคมชาวต่างชาติ ในกรุงศรีอยุธยาหลายแห่งด้วย

การเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาของ Thomas de Valguarnera นักบวชแห่งคณะ Jesuit จากเกาะ Sicily ของอิตาลี ในฐานะวิศวกรประจำราชสำนัก เมื่อปี ค.ศ.1655 และการเข้ามาในสยามของนักบวช ฝรั่งเศสคณะ Missionnaires Etrangeres de Paris : MEP (Foreign Missions Society of Paris) ภายใต้การนำของ Bishop Lampert de la Motte เมื่อปี ค.ศ.1662 ได้รับการบันทึกไว้ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์คาทอลิกในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ Bishop Lampert de la Motte แห่งคณะ MEP ที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นบุคคลแรกๆ ที่ได้จัดตั้ง College General ขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาแบบคาทอลิกตั้งแต่ในปี ค.ศ.1665 แล้ว

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าสิ่งที่ได้เริ่มต้นขึ้นในครั้งนั้น มิได้ก่อให้เกิดความต่อเนื่องอย่างมีระบบมากนัก แม้ว่าในระยะต่อมาชุมชนชาวต่างประเทศในกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ จะขยายตัวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตาม

หรือบางที การเกิดขึ้นของนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ จำเป็น ต้องอาศัยแรงปฏิกิริยาจากการปะทะระหว่างกลุ่มอิทธิพล ที่มีอำนาจอยู่ในสังคมขณะนั้นเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง การเปิดประเทศในปี ค.ศ.1855 เพื่อรับอารยธรรมตะวันตก ภายใต้สนธิสัญญา มิตรภาพและการค้า หรือที่รู้จักกันดีในนามของสนธิสัญญาบาวริ่ง (Sir John Bowring : อุปทูตของพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ) ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า วัฒนธรรม และการศึกษา รวมถึงกระบวนการสร้างความทันสมัย ซึ่งเป็นวาทกรรมหลักของสังคมไทยในสมัยนั้น ก็ควรถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ ที่เกิดจากการหยิบยื่นให้ของ John Bowring อุปทูตจากต่างแดนนี้

และกรณีดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากกระบวนการพัฒนาระบบการศึกษาสมัยใหม่ของไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมา มากนัก

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนคาทอลิกในช่วงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1877 เมื่อคุณพ่อกอลมเบต์ (Father Colombet) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสในคณะมิซซังต่างประเทศแห่งปารีส (MEP) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส วัดอัสสัมชัญบางรัก ได้เปิดโรงเรียนไทย-ฝรั่งเศสขึ้น เพื่อสอนเด็กกำพร้าที่วัดอัสสัมชัญ ต่อมาในปี ค.ศ.1879 จึงได้เปิดแผนกภาษาอังกฤษ โดยในระยะเริ่มต้นมีนักเรียนเพียง 12 คนเท่านั้น

ชุมชนบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดอัสสัมชัญ ในช่วงขณะนั้น นับเป็นชุมชนชาวต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัตนโกสินทร์ โดยนอกจากจะเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวตะวันตกที่เข้ามาประกอบธุรกิจ พร้อมกับการเปิดสำนักงานการค้าอย่างมากมายแล้ว ชาวเอเชียที่ได้เข้ารีตเจ้าอาณานิคม และผู้อพยพที่ยังชีพด้วยการค้าแรงงานก็ร่วมอยู่ในชุมชนนี้ด้วย

การเปิดโรงเรียนของกอลมเบต์ มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่ลูกหลานของชาวต่างชาติหรือคหบดีไทยผู้ร่ำรวย หากชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อการสาธารณะสงเคราะห์เป็นหลัก

กระทั่งในปี ค.ศ.1885 โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College : AC) จึงได้เปิดเป็นสถานศึกษาอย่างเป็นทางการ พร้อมกับมีการว่าจ้างครูชาวอังกฤษมาเป็นผู้ดำเนินการสอน แต่ด้วยเหตุที่การศึกษายังเป็นของแปลกใหม่ ทำให้มีนักเรียนเพียง 33 คนในการเรียนปีแรก ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 130 คนในปีต่อมา และทำให้บาทหลวงกอลมเบต์ คิดจะขยายอาคารเรียนโดยได้ถวายฎีกาไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พร้อมกับบอกบุญเรี่ยไรบรรดาพ่อค้าวาณิช ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ด้วย

ในปี ค.ศ.1900 จำนวนนักเรียนของอัสสัมชัญก็เพิ่มมากขึ้นถึง 400 คน ห้วงเวลาเดียวกันนั้นเองบาทหลวงกอลมเบต์ได้เดินทางไปพักรักษาตัวที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้มีโอกาสเยี่ยมกิจการของโรงเรียนที่ดำเนินการโดยคณะเยซูอิต (Jesuit) ที่ Rue Vaugirarol พร้อมกับการได้พบกับภราดา Aquilin ซึ่งเป็นภราดาในคณะเซนต์คาเบรียลและสอนอยู่ที่นั่น

บาทหลวงกอลมเบต์ ได้เดินทางไปเยี่ยมอัครธิการที่แซงต์ โลรังต์ ซัว แซฟร์ (Saint-Laurent-sur-Sevre) และขอความช่วยเหลือด้านบุคลากรจากคณะภราดา ด้วยการเชิญชวน ให้ส่งภราดามาสอนในประเทศไทย ซึ่งภราดาอัครธิการ มาเชียล (Martial) ได้ตอบสนอง โดยส่งภราดาจากฝรั่งเศสชุดแรกจำนวน 5 ท่าน เดินทางโดยเรือในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1901 และถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1901 โดยมีภราดา มาร์ติน เดอ ตูร์ส (Bro. Martin de Tours) เป็นหัวหน้าคณะ และในจำนวนนี้มี ภราดา ฟ. ฮีแลร์ (Bro.Hilaire) ภราดาอาเบล (Bro.Arbel) ภราดา คาเบรียล เฟอราตี (Bro.Gabriel Ferretti) ซึ่งทั้งสี่เป็นชาวฝรั่งเศส และภราดาเอากุสตี (Bro.Auguste) เป็นชาวแคนาดา ร่วมอยู่ด้วย ก่อนที่ในเดือนมกราคม ค.ศ.1902 ภราดาคณะที่ 2 จากคณะเซนต์ คาเบรียลจำนวนอีก 4 ท่านจะตามมาสมทบ โดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียลได้เข้ารับช่วงงานและหน้าที่จากบาทหลวงกอลมเบต์นับแต่นั้นมา

เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ ภราดา มาร์ติน เดอ ตูร์ส ซึ่งเป็น หัวหน้าคณะภราดา มีอายุเพียง 30 ปี แต่ก็นับเป็นผู้อาวุโสสูงสุด ในหมู่ภราดาที่เดินทางมาด้วยกัน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการ ซึ่งแม้ว่าจะพูดได้เฉพาะภาษาฝรั่งเศสแต่ภราดา มาร์ติน เดอ ตูร์ส ก็มีความสามารถในด้านการก่อสร้าง ซึ่งมีผลต่อการขยายงานของโรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนในเครือคณะเซนต์คาเบรียลในเวลาต่อมาไม่น้อย

ขณะที่ภราดาฮิลาริอุส-มารี (Hilarius-Marie, Francois Thouvenet) หรือที่รู้จักกันในนาม ภราดา ฟ. ฮีแลร์ ซึ่งในขณะที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในปี ค.ศ.1901 นั้นมีอายุเพียง 20 ปี ได้ให้ความสนใจร่ำเรียนภาษาไทยจนมีความรู้แตกฉานด้วยแนวคิด "ปณฑิตา นญจเสวนา" ทำให้ มีการปรึกษากับปราชญ์ราชบัณฑิตของไทย เสมอๆ และได้แต่งหนังสือ "ดรุณศึกษา" โดยตีพิมพ์ครั้งแรก ในค.ศ.1910 เพื่อใช้เป็นสื่อในการสอนเด็กไทยและได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

นอกจากนี้ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ ยังเขียนบทความภาษาไทยตีพิมพ์ใน "วารสาร อัสสัมชัญอุโฆษสมัย" หรือ "เอคกอ แดล อาซัมซิออง" (Echo de l'Assomption) ซึ่ง เปิดตัวในปี ค.ศ.1913 ในฐานะวารสารราย 3 เดือนโดยมีบทความตีพิมพ์สามภาษา ทั้ง ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย โดยภาษาไทยดูจะมีความก้าวหน้ากว่าอีก 2 ภาษา เพราะ มีอาจารย์ภาษาไทยแวะเวียนมาปรึกษา หารือกับภราดา ฟ. ฮีแลร์ อยู่เสมอ

การอุทิศตนและทำงานหนักของ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ เป็นสิ่งที่ผู้คนในชั้นหลังยังจดจำได้เป็นอย่างดี เพราะภราดา ฟ. ฮีแลร์ เริ่มต้นงานที่โรงเรียนอัสสัมชัญแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1901 และอยู่ที่เดียวกันนี้โดยมิได้ย้ายไปไหนเลย จนกระทั่งมรณภาพในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1968 รวมอายุได้ 87 ปี โดยเป็นการอุทิศตนอยู่ในเมืองไทยนานถึง 67 ปีเลยทีเดียว ซึ่งแม้ภราดา ฟ. ฮีแลร์ จะไม่เคยเป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ด้วยฐานะการเป็นครูฝ่ายปกครองและ เป็นผู้แต่งหนังสือ ทำให้มีศิษยานุศิษย์มากมาย

ความก้าวหน้าของโรงเรียนอัสสัมชัญในห้วงเวลานั้น ต้องถือว่าเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ (vision) ที่กว้างไกล และการยึดมั่นในพันธกิจ (mission) อย่างมั่นคง ของภราดาใน คณะเซนต์คาเบรียล เพราะนอกจากจะมีการแต่งหนังสือเพื่อใช้สอนเด็กไทยขึ้นเองแล้ว ภราดาในคณะฯ เช่นภราดา Hubert ได้เปิดสอนพิมพ์ดีดขึ้นภายในโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี ค.ศ.1912 และต่อมามีภราดา Rogatien เป็นผู้สานงานเหล่านี้ต่อเนื่องมาอีก

ภราดา Rogatien เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมในวงการศึกษาไทย ด้วยการเปิดสอนวิชาพิมพ์ดีด และชวเลข ให้แก่ นักเรียนในฐานะเป็นวิชาพิเศษ รองรับกับการเติบโตขึ้นของบริษัทต่างชาติและสำนักงานผู้แทนการค้าต่างประเทศ ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้อาชีพเสมียนเป็นที่ต้องการของตลาด แรงงานขณะนั้นมากขึ้น

กระแสความนิยมในการเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับจนสถานที่ที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่มากล้นนั้นได้ ทำให้มีผู้ที่ผิดหวังจากการที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ เป็นจำนวน มาก การเคลื่อนตัวจากบางรัก ซึ่งเป็นชุมชน ชาวต่างชาติจากตะวันตก และคาทอลิกขนาดใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ มาสู่การเปิดสถานศึกษาแห่งที่ 2 ของคณะเซนต์ คาเบรียลจึงเกิดขึ้น

การเกิดขึ้นของโรงเรียนเซนต์ คาเบรียล (St.Gabriel's College : SG) ที่สามเสนในปี ค.ศ.1920 หรือเพียงเวลาไม่ถึง 20 ปี นับจากการเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทยของคณะเซนต์คาเบรียล ในประเทศไทย ในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนของความตื่นตัวในเรื่องการศึกษาของสังคมไทย ขณะเดียวกันก็เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ที่สามารถสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานและวิธีการเรียนการสอน ที่ดำเนินการโดยคณะภราดาเหล่านี้

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะผลสัมฤทธิ์ ที่ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลดำเนินการมาเท่านั้น หากแต่การขยายตัวมาเปิดโรงเรียนแห่งที่ 2 ที่สามเสน ในนามของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลยังมีมิติในเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งอีกทางหนึ่ง

ชุมชนสามเสนซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์ คาเบรียลนั้นแต่เดิมเป็นชุมชนของพวกเข้ารีตโปรตุเกส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สามารถสืบย้อนกลับไปถึงสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีศาสนสถานหรือวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนอยู่ที่วัดคอนเซ็บชัญ (Immaculee Conception) ต่อมาหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสได้ขอพระราชทานที่ดินบริเวณดังกล่าวจากพระนารายณ์ ขณะที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการบันทึกว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเขมรเข้ารีต และเรียกว่า บ้านเขมร มาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1782 ก่อนที่ชาวญวนเข้ารีตอีกจำนวนหนึ่งอพยพหนีการทารุณกรรมของเจ้าแผ่นดินญวนมินมาง เข้ามาตั้งชุมชนบ้านญวน ที่สามเสนนี้ ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1834 อีกด้วย

ชุมชนสามเสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จึงประกอบไปด้วย ชุมชนชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติปะปนกัน นับตั้งแต่โปรตุเกส เขมร ญวน และฝรั่งเศส ซึ่งต่างเข้ามาตั้งถิ่นฐานในตำบลสามเสนนี้มาช้านาน และกลายเป็นลักษณะเด่นของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลในระยะเริ่มแรก ที่ไม่แตกต่างจากการเป็นสถานศึกษานานาชาติ

มิติทางประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล อยู่ที่การใช้ชื่อโรงเรียนว่า เซนต์คาเบรียล แทนที่จะระบุว่าเป็น อัสสัมชัญ สามเสน เพื่อแสดงถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ของทั้งสองโรงเรียน เพราะหากพิจารณาจากความนิยมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในอัสสัมชัญขณะนั้น ซึ่งเพิ่มจาก 400 คน ในปี ค.ศ.1912 เป็นกว่า 1,000 คน ในปี ค.ศ.1915 ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าชื่ออัสสัมชัญ น่าจะขายได้ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ขณะที่นักเรียนเซนต์คาเบรียล ในช่วงปีแรกๆ มีนักเรียนเพียง 141 คน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 220 คน, 332 คน และ 487 คน ในช่วงปีต่อๆ มา

สาเหตุที่ทำให้ต้องใช้ชื่อ เซนต์คาเบรียล ในขณะนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาไทยสมัยนั้น ที่ไม่อนุญาตให้มีโรงเรียนใช้ชื่อเดียวซ้ำซ้อนกัน โรงเรียนของคณะเซนต์ คาเบรียล จึงเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็น ที่เซนต์คาเบรียล สามเสน หรือมงฟอร์ต เชียงใหม่ ก่อนที่ข้อกำหนดนี้จะถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา จึง เกิดมีโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์, อัสสัมชัญศรีราชา และโรงเรียนอัสสัมชัญอื่นๆ ที่คณะภราดาสร้าง ขึ้นในระยะหลังจากนั้นซึ่งต่างใช้ชื่ออัสสัมชัญทั้งสิ้น

การขยายตัวมาเปิดโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในฐานะสาขาที่สองของ ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล มิได้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพบ้านเมืองปกติ เพราะขณะนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ไม่นาน แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ห่างจากสงครามครั้งนั้นมาก แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ทำให้วัสดุที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างขาดแคลน และมีราคาแพง ขณะที่แรงงานกรรมกรก็เป็นสิ่งหายากเช่นกัน

ภราดา มาร์ติน เดอ ตูร์ส (Bro. Martin de Tours) ซึ่งเป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ระหว่างปี ค.ศ.1902-1920 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิการคนแรกของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพื่อควบคุมงานก่อสร้างโรงเรียน นี้เอง โดยเป็นนายช่างสถาปนิก ออกแบบตัวอาคาร ตึกแดง หรืออาคารหลังแรกของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ด้วย

เมื่อขยายสาขาที่สอง ในนามโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งยังจำกัดอยู่เฉพาะในเขตพระนครแล้ว ในปี ค.ศ.1932 หรือ 12 ปีถัดมา ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ได้ขยายไปเปิดโรงเรียนแห่งที่ 3 ในเครือภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามกระแสเรียกร้องของเหล่าศิษย์เก่า "อัสสัมชนิกฝ่ายเหนือ" ประกอบกับสังฆราชเรอเรแปร์โรส ซึ่งเป็นประมุขมิสซัง และคุณพ่อยอร์ช มีราแบล ต้องการให้มีโรงเรียนคาทอลิก เพื่อช่วยให้การเผยแผ่ศาสนามีผลดียิ่งขึ้น โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (Montfort College : MC) จึงเกิดขึ้นบนที่ดินที่คุณพ่อยอร์ช มีราแบล ได้มอบให้

นอกเหนือจากการเปิดโรงเรียน 3 แห่งดังกล่าวแล้ว ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ยังได้เปิดโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (Assumption Commercial College : ACC) ซึ่งมีรากฐานมาจากแผนกพาณิชยการในโรงเรียนอัสสัมชัญ ก็เปิดดำเนินการเป็นเอกเทศอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่โรงเรียนพาณิชยการแห่งนี้ยังใช้พื้นที่ของโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นที่ตั้งโรงเรียน ก่อนที่จะแยกไปใช้พื้นที่ของสนาม กีฬา ที่เรียกว่า Villa Montfort ในปี ค.ศ. 1942 โดยการย้ายสถานที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามายึดครองประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 เข้ามาตั้งกองกำลังในพื้นที่ดังกล่าว

ภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คณะเซนต์คาเบรียลจำเป็นต้องย้ายนักเรียนจากอัสสัมชัญ และเซนต์คาเบรียลอพยพ ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ศรีราชา ซึ่งคณะเซนต์คาเบรียลได้ซื้อพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นไร่ตะไคร้หอมของบริษัทฝรั่งเศส กว่า 600 ไร่ ไว้นานแล้ว หากแต่มิได้ใช้ประโยชน์มากนัก นอกจากจะใช้เป็นที่พักของคณะภราดาปีละสองเดือนเท่านั้น กระทั่งในปี ค.ศ.1944 โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (Assumption College Sriracha : ACS) จึงได้เกิดขึ้นพื้นที่นี้

การขยายตัวออกไปในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงสงคราม ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนในเครือคณะเซนต์คาเบรียล ลงหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 1948 โรงเรียนเซนต์หลุยส์ (St. Louis College : SL) ที่ฉะเชิงเทราจึงเกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง บาทหลวงเอช การีเอ เจ้าอาวาสวัดเซนต์แอนโทนี และคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1958-1967 หรือภายในระยะเวลาเพียง 9 ปี คณะเซนต์คาเบรียลฯ ได้เปิดโรงเรียนในภูมิภาค ต่างๆ ขึ้นอีกถึง 5 โรงเรียน เริ่มตั้งแต่โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง (ACL : 1958), อัสสัมชัญ ธนบุรี (ACT : 1961), อัสสัมชัญ ระยอง (ACR : 1963), อัสสัมชัญ อุบลราชธานี (ACU : 1965) และอัสสัมชัญ นครราชสีมา (ACN : 1967)

นอกจากนี้ ระยะเวลา 8-9 ปี ดังกล่าวยังเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนสำคัญของคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1901 ซึ่งเป็นปีแรกที่ ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลได้เริ่มกิจกรรมในประเทศไทยกระทั่งเกิดเป็น District ในปี ค.ศ.1920 นั้น เจ้าคณะ District และเจ้าคณะแขวงย่อย ในระยะเริ่มแรกทั้งสี่ท่าน ล้วนเป็นภราดาชาวต่างประเทศ ทั้งชาวฝรั่งเศส (3) และสเปน (1) ทั้งสิ้น กระทั่งในปี ค.ศ.1965 หรือ 45 ปี นับจากมีการเริ่มตั้งแขวงไทย ภราดาฟิลิป อำนวย ปิ่นรัตน์ จึงเป็นภราดาชาวไทยคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงไทย และเป็นการเปลี่ยนผ่าน จากยุคภราดาจากต่างประเทศมาสู่ยุคของภราดาชาวไทยเรื่อยมา

โรงเรียนที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว ในด้านหนึ่งยังเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างคณะเซนต์คาเบรียลฯ กับคณะสงฆ์คาทอลิกในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นที่ลำปาง อุบลราชธานี หรือที่นครราชสีมา ขณะที่อัสสัมชัญ ระยอง นั้นเป็นผลมาจากการทาบทาม และติดต่อประสานงานของกลไกรัฐ ที่ดำเนินการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่สำหรับอัสสัมชัญ ธนบุรี เป็นกรณีที่สะท้อนให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าสถาบันในเครือ กับคณะเซนต์คาเบรียลฯ อย่างชัดเจนกรณีหนึ่ง

ความพยายามของคณะเซนต์คาเบรียลที่จะเปิดโรงเรียนในเครือบนพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีมานานก่อนหน้านั้นพอสมควร กระทั่ง ไถง สุวรรณฑัต ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการเปิด โครงการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่ในฝั่งธนบุรี (โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจ) ได้บริจาคที่ดิน 56 ไร่เศษ ให้แก่ คณะเซนต์คาเบรียลฯ โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรีจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการสนับสนุนจากเครือข่ายศิษย์เก่าและผู้ปกครองด้วย

ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งในกรณีของอัสสัมชัญ สำโรง (ACSR : 1979) เมื่อวิชัย มาลีนนท์ ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนา ที่ดินย่านเทพารักษ์ บริจาคที่ดิน 14 ไร่เศษ และเงินอีก 3 ล้านบาทให้แก่คณะเซนต์คาเบรียล เพื่อจัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นใน ปี ค.ศ.1979 ก่อนที่คณะเซนต์คาเบรียลจะชะลอการขยายตัว โดยเน้นพัฒนามาตรฐานการศึกษาและการบริหารโรงเรียนในเครือที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

การบริหารจัดการโรงเรียนในลักษณะของเครือข่ายสถาบันที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของคณะเซนต์คาเบรียลดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ที่ก้าวหน้ากว่าที่กลไกรัฐในขณะนั้นจะคิดหรือนำมาปฏิบัติได้ โดยเมื่อจะมีการจัดตั้งโรงเรียนของกระทรวงศึกษาในลักษณะเครือข่ายสถาบันขึ้นเป็นครั้งแรก ก็เลยมาถึงช่วงปี ค.ศ.1976-1978 ด้วยการนำชื่อของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสวนกุหลาบฯ สตรีวิทยา เตรียมอุดมศึกษา ไปเป็นชื่อจัดตั้งสำหรับโรงเรียนแห่งใหม่ตามชานเมือง และกลายเป็นสูตรสำเร็จของระบบจัดการศึกษาแบบรัฐไทยไปในที่สุด

กรณีเช่นนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ในการบริหารจัดการศึกษาของรัฐไทย ที่เชื่องช้า และสั้นแคบ เพราะขณะที่คณะเซนต์คาเบรียลขยายตัวมีโรงเรียนแห่งที่ 2 มาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1920 ก่อนที่จะชะลอการขยายตัว และยุติการจัดตั้งสถานศึกษาใหม่ๆ ในเครือตั้งแต่ ปี ค.ศ.1979 นั้น รัฐไทยเพิ่งจะเริ่มต้น "คิดและทำตาม" ความสำเร็จที่อยู่เบื้องหน้ามานานกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สวนทางกันอย่างยิ่ง พร้อมกับการโหมประโคมกรณีดังกล่าวในฐานะที่เป็นทางเลือก เพื่อลดความคับคั่งแออัดในโรงเรียนชื่อดังเท่านั้น

พัฒนาการของคณะเซนต์คาเบรียลฯ ในช่วงหลังจากปี ค.ศ.1979 ที่เห็นได้เด่นชัด น่าจะอยู่ที่การพัฒนาสถาบันระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาขั้นปลายสุดของกระบวนการศึกษา เพื่อให้สถาบันในเครือคณะเซนต์คาเบรียลฯ มีลักษณะครบวงจรมากขึ้น

ช่วงห่างที่ยาวนาน 12 ปีระหว่างปี ค.ศ.1967 ถึง ค.ศ.1979 ที่มีเพียงอัสสัมชัญ สำโรง เป็นโรงเรียนที่เปิดขึ้นใหม่แห่งเดียว ก่อนที่คณะเซนต์คาเบรียลฯ จะยุติการขยายตัว เป็นเหมือนสัญญาณที่คณะเซนต์คาเบรียลฯ พยายามบ่งชี้ทิศทางการพัฒนาให้ผู้บริหารการศึกษาไทยได้ตระหนักมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพราะสิ่งที่คณะเซนต์คาเบรียลฯ ให้ความสำคัญและดำเนินการในช่วงดังกล่าวมิได้อยู่ที่สถานศึกษาระดับประถม-มัธยม หากแต่อยู่ที่การพัฒนาหลักสูตรของอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC) เพื่อก้าวไปสู่การเปิดเป็นวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (Assumption Business Administration College : ABAC) ในปี ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นการต่อยอดในระดับอุดมศึกษา ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Assumption University : AU) เมื่อปี ค.ศ.1990

แม้ว่าโครงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นสิ่งที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1969 แต่ช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของความพยายามดังกล่าว ดูเหมือนจะดำเนินไปท่ามกลางอุปสรรคพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากสถานการณ์ภายในประเทศ ระหว่างปี ค.ศ.1973-1976 ก่อนที่จะคลี่คลายในช่วงเวลาต่อมา

ปี ค.ศ.1979 จึงกลายเป็นปีที่คณะเซนต์คาเบรียล เริ่มงานพัฒนาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาอุดมศึกษาได้อย่างจริงจัง โดยมีภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ ในฐานะอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาในเครือที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว และดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 24 เป็นจักรกลสำคัญในกระบวนการนี้

หาก Mission ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล คือการอุทิศตัวเพื่อการศึกษา และช่วยเหลือเยาวชนที่ยากไร้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลยึดถือปฏิบัติ สืบเนื่องจากจุดกำเนิดตามปณิธานของนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต แต่นั่นอาจเป็นเพียงกฎหรือคำประกาศบนแผ่นกระดาษ ซึ่งไม่มีความสำคัญใดๆ เลย หากพันธกิจดังกล่าว มิได้ดำเนินไปดังที่ปรากฏเป็นจริงเช่นวันนี้

การบริหารงานของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย นับจากปี ค.ศ.1901 จวบจนปัจจุบันหรือเพียง 100 ปีที่ผ่านมานั้น หากวัดผลความสำเร็จ โดยใช้จำนวนสถาบันในเครือที่ครอบคลุมการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และอุดมศึกษา รวม 14 สถาบัน และมีนักเรียนนักศึกษาในการดูแลไม่ต่ำกว่า 60,000 คนในแต่ละปี เป็นมาตรวัดแล้ว กล่าวได้ว่า mission ของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ก้าวหน้าจากจุดเริ่มต้นอย่างมาก

เป็นบทบาทของการทำงานเพื่อ "รับใช้อยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า" ที่ลื่นไหลและปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมกระแสหลักของยุคสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.