|
ทักษิณหวังปตท.เทียบปิโตรนาส เล็งทุ่ม1.1ล้านล้านบ.ผุดปิโตรฯ3
ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ทักษิณ" พร้อม สนับสนุนทุกด้านให้ปตท.เติบโตหวังเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศ เน้นเพิ่มมูลค่าให้กับก๊าซ ธรรมชาติให้มากขึ้น ย้ำใช้น้ำเต็มที่รัฐบาลพร้อมจัดหาให้แต่ขอให้ช่วยประหยัดด้วย เป็นปลื้มรายงานแผนพัฒนาปิโตรฯระยะ 3 คาดช่วยเพิ่มมาร์เกตแคป และดันปตท.เทียบชั้นปิโตรนาสมาเลย์ "วิเศษ" แจงปิโตรฯ 3 แผน 10 ปี ใช้เงินทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านบาทเตรียมเสนอรัฐบาลเร็วๆ นี้ เผยเครือปตท.ทั้งหมดสำรองน้ำรับมือเรียบร้อยแล้ว
วานนี้(1ส.ค.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และโรงงานโอเลฟินส์ หน่วยที่ 2 ของบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOC ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยระหว่างพิธีเปิดได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโรงแยกก๊าซฯ ปตท.ว่า มาเปิดงานครั้งนี้คิดว่าจะมาดูภัยแล้งพอดีฝนตกลงมาก็คงจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจึงขอยืนยันว่าจะดูแลปัญหาน้ำขาดแคลนอย่างใกล้ชิดและจะเร่งเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอ แต่ขอให้ผู้ที่ใช้น้ำช่วยกันประหยัด และหากใช้ไม่ทิ้งขว้างและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ก็ขอให้ใช้เต็มที่
สำหรับองค์กรปตท.ได้มีความก้าวหน้าอย่างมากหลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งรัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ปตท.ยิ่งใหญ่กว่านี้ในอนาคต เพราะปตท.ยังมีศักยภาพอีกมากและที่ผ่านมาได้ก้าวมาถูกต้องแล้วแต่ยังคงมีหนทางที่เหลือในการประคับประคองให้ก้าวต่อไปอีก
สำหรับโรงโอเลฟินส์ของ TOC ก็แสดงให้เห็นศักยภาพของบริษัทในเครือปตท.ที่มีการเติบโตอย่างมากและนำมาสู่การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเดิมๆ ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจระยะยาวได้ ดังนั้นไทยจะต้องมุ่งขยายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานในการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ผมดีใจที่เห็น TOC มีแผนที่จะผลิตเมทิล เอสเตอร์ในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากพืช โดยเฉพาะปาล์ม อย่างจริงจังถ้าอนาคตมีการปลูกปาล์มที่จ.จันทบุรี ตราด และระยองส่วนหนึ่งก็จะทำให้มีการ นำไปสู่กระบวนการผลิตไบโอดีเซล และต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้กรีเซอลีนเป็นวัตถุดิบ ซึ่งต้องชื่นชมที่นอกจากจะมองการพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวแล้วยังมีการช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน" นายกรัฐมนตรีกล่าว ปิโตรฯ 3 ลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท
นายวิเศษ ได้กล่าวรายงานถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 3 ต่อนายกรัฐมนตรีว่า เป็นแผนลงทุน 10 ปี(2549-58) ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซโรงที่ 6-8 ระบบท่อก๊าซรวมถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค ทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีและทดแทนการนำเข้าได้ถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่หากคิดเฉพาะปิโตรฯเคมีจะลงทุนประมาณ 800,000 ล้านบาท โดยแผนทั้งหมดเตรียมที่จะนำเสนอรัฐบาลในเร็วๆ นี้
"โรงแยกก๊าซที่ 6-8 น่าจะรวม กันอยู่เป็น Cluster ในบริเวณเดียวกันหมด ซึ่งจะมีกำลังแยกรวมกัน 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับโรงที่ 5 จะมีการผลิตรวมถึง 3,700 ล้านลบ. ฟุตต่อวัน ซึ่งปิโตรฯระยะ 3 นั้นถ้ามองเกิดโรงแยก 5 ก็เหมือนกำลังเริ่มเข้าสู่ปิโตรระยะ 3 แล้วแต่จะเริ่มเต็มตัวก็เมื่อสร้างโรงแยกที่ 6 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างปี 2549 และเสร็จในปี 2552 ซึ่งการใช้น้ำคงไม่ต้องเป็นห่วงเนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะใช้น้ำน้อยมากและจะมีการบริหารน้ำไปพร้อมๆ กัน" นายวิเศษกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการชี้แจงจากกระทรวงพลังงาน ก็ได้กล่าวแสดงความยินดีและระบุว่าจะทำให้มาร์เกตแคปตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากและอนาคตปตท.จะเทียบเท่าปิโตรนาสของมาเลเซียแน่นอน กลุ่มปตท.สำรองน้ำพร้อมรับมือแล้ว
นายวิเศษ กล่าวหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารในเครือปตท.ทั้งหมดหลังเปิดโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 5 ว่า ได้รับรายงานผลเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในการจัดการน้ำของปตท.และบริษัทในเครือในนิคมฯมาบตาพุดแล้วคงจะไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งขณะนี้ทุกบริษัทมีการเตรียมหาน้ำสำรองไว้ระดับหนึ่งแล้วสามารถรับภาว-การณ์ขาดแคลนน้ำได้ 2-3 เดือนข้างหน้าโดยไม่ต้องมีการหยุดการผลิตแต่อย่างใดส่วนระยะยาวแผนวางท่อน้ำต่างๆ ของรัฐบาลก็จะเริ่มเข้ามาเสริมได้ในต้นปี 2549
"ระยะสั้นได้เตรียมน้ำไว้รองรับมีการนำระบบถังก๊าซ น้ำมันมาสำรองน้ำไว้แล้ว และเตรียมขนน้ำทางเรือไว้อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงการนำน้ำทะเลมากลั่นทุกอย่างคงไม่มีปัญหาอะไร" นายวิเศษกล่าว โรงแยกก๊าซฯ 5 กระตุ้น GDP
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท.กล่าวว่า "การก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 5 ขนาด 530 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยการผลิตอีเทน 520,000 ตันต่อปี เป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ขนาด 300,000 ตันต่อปีของ TOC โดยโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 5 ถือเป็นโรงแยกที่ใหญ่สุดในไทยใช้เงินลงทุน 13,908 ล้านบาท"
ประเทศจะลดการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นกลางและต่อเนื่องปีละ 8,700 ล้านบาทและเพิ่มรายได้การส่งออกก๊าซหุงต้มปีละ 7,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ปีละ 10,400 ล้านบาทส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมของประเทศหรือ GDP ดีขึ้น
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TOC กล่าวว่า การเดินเครื่องหน่วยที่ 2 ทำให้บริษัทมีกำลังผลิตโอเลฟินส์รวมปีละ 935,000 ตัน มีกำลังผลิตเพิ่มจากเดิมอีก 63% ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง 15% ช่วยทดแทนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ปีละ 7,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|