รัฐธรรมนูญ กับนโยบายอัตราค่าเล่าเรียน

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 43 วรรคแรก มีบทบัญญัติว่า

"บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

บทบัญญัติดังกล่าวนี้ นอกจากกำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานระยะเวลา 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพแล้ว ยังกำหนดอย่างชัดเจนว่า ต้องไม่เก็บค่าใช้จ่าย ความข้อนี้ย่อมมีนัยสำคัญว่า รัฐจักต้องไม่เก็บค่าเล่าเรียนสำหรับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถม ศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ด้วยเหตุ ที่บทบัญญัติในเรื่องนี้อยู่ใน หมวดสิทธิ และเสรีภาพของชนชาวไทย (หมวด 3) รัฐมิอาจหลีกเลี่ยงในการให้สิทธิในการรับบริการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชนิดได้เปล่าของชนชาวไทยได้

สิทธิในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นระยะเวลา 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายปรากฏต่อมาใน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.254 2 ดัง ความในมาตรา 10 กฎหมายฉบับนี้กำหนดเงื่อนเวลาไว้ว่า ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้รัฐบาล จักต้องจัดสรรบริการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และอย่างมีคุณภาพ (มาตรา 72)

กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมสามัญศึกษา ดำริ ที่จะเลิกเก็บค่าเล่าเรียน ในปีการศึกษา 2543 ในทันที ที่ความดำริ ดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวเสียงทักท้วงจากผู้บริหารโรงเรียนก็ดังขรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ เนื่องเพราะค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา และค่าบริการอื่นๆ เป็นรายได้ของโรงเรียน ซึ่งไม่ต้องนำส่งคลัง รายได้เหล่านี้รวมกับเงินบริจาคเป็นทรัพยากร ทางการเงินสำคัญของโรงเรียน ลำพังแต่งบประมาณ แผ่นดินไม่เพียงพอแก่การเพิ่มพูนคุณภาพของบริการการศึกษา

การกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิ ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีผลกระทบโดยตรงต่อภาครัฐบาล งบประมาณด้านการศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก อย่างน้อย อีก 2-3 เท่าของระดับ ที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน ในด้านหนึ่ง รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียน รัฐบาล เพื่อชดเชยรายได้นอกงบประมาณ ที่ขาดหายไป มิฉะนั้น โรงเรียนรัฐบาล มิอาจธำรงการผลิตบริการการศึกษาในปริมาณ และคุณภาพระดับเดิมได้ ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลต้องขยายระบบโรงเรียน เพื่อรองรับนักเรียนจากโรงเรียนเอกชน หรือมิฉะนั้น ก็ต้องจ่ายเงินอุดหนุนแก่นักเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะบัดนี้ราษฎรมีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

การกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิ ที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนโดยตรง แม้ว่าโรงเรียนเอกชนจะมีชีวิตสืบต่อมาได้ หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีจ่ายเงินอุดหนุนแก่นักเรียนในโรงเรียนเอกชน กระนั้น ก็ตาม หากเงินอุดหนุน ที่รัฐบาลจ่ายอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเล่าเรียน ที่โรงเรียนเอกชนจัดเก็บ บรรดานักเรียน ที่อยู่ในโรงเรียนเอกชนย่อมเรียกร้องขอเข้าโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งสร้างแรงกดดัน ให้รัฐบาลต้องขยายระบบโรงเรียน บทบาทของภาคเอกชนในการผลิตบริการการศึกษาย่อมน้อยลงในอนาคต

คุณภาพของโรงเรียนรัฐบาลจะตกต่ำในอนาคต หากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้นอกงบประมาณ ที่ขาดหายไปอย่างพอเพียง ในทันที ที่กรมสามัญศึกษาผลักดันเรื่องนี้ พรรคชาติไทย ซึ่งยึดกุมการบริหาร กระทรวงศึกษาธิการออกมาเหยียบเบรก โดยอ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลา บรรดาผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาลออกมาคัดค้าน จนกรมสามัญศึกษาต้องล่าถอย โดยยอมให้โรงเรียนรัฐบาลเก็บค่าบำรุง และค่าบริการบางประเภทได้ รวมทั้งสามารถรับเงินบริจาคได้ด้วย

โรงเรียนรัฐบาลมีแหล่งรายได้สำคัญ 2 แหล่ง ได้แก่ รายได้ในงบประมาณ และรายได้นอกงบประมาณ รายได้ในงบประมาณมาจากงบประมาณแผ่นดิน ส่วนรายได้นอกงบประมาณ มีอย่างน้อย 2 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกก็คือ รายได้จากการ "ขาย" บริการการศึกษา อันได้แก่ ค่าเล่าเรียน (ค่าหน่วยกิต) ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าบำรุงการศึกษา และค่าบริการอื่นๆ องค์ ประกอบ ที่สองก็คือ เงินบริจาค

โรงเรียนรัฐบาลในเขตอำเภอ ที่ด้อยความเจริญ รวมทั้งเขตอำเภอรอบนอกของกรุงเทพฯ ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินเป็นด้านหลัก โดยที่รายได้นอกงบประมาณมีความสำคัญน้อย โรงเรียน รัฐบาล ที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะ ในเขตอำเภอรอบในของกรุงเทพฯ และอำเภอเมืองในจังหวัด ที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ รายได้นอกงบประมาณมีความสำคัญมาก ในกรณีของบางโรงเรียน อาจสำคัญยิ่งกว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก

โรงเรียน ที่มีรายได้นอกงบประมาณในสัดส่วนสูงอยู่ในฐานะ ที่จะนำรายได้เหล่านั้น ไปใช้จ่ายในการพัฒนา ห้องสมุด จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ สร้างสระว่ายน้ำ สนามกีฬา หรือโรงยิมเนเซียมได้ ความแตกต่างด้านทรัพยากร ทางการเงินมีผลในการขยายความแตกต่างด้านคุณภาพ ปมเงื่อนสำคัญอยู่ ที่ศักยภาพในการระดมเงินบริจาค โรงเรียน ที่มีชื่อเสียง ซึ่งสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่าโรงเรียนโดยทั่วไป สามารถใช้จ่ายลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (academic infrastructure) ได้

การห้ามโรงเรียนรัฐบาลเก็บค่าเล่าเรียน และค่าบำรุงการศึกษาต่างๆ มี ผลกระทบต่อฐานะการเงินของโรงเรียนอย่างสำคัญ โดยที่กระทบต่อปริมาณ และคุณภาพของบริการการศึกษาอีกทอดหนึ่ง หากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้นอกงบประมาณ ที่ขาดหายไป ข้อห้ามดังกล่าวนี้ แทน ที่จะลดทอนความแตกต่างด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนอาจทำให้ ความแตกต่างดังกล่าวนี้มีมากขึ้น เพราะโรงเรียน ที่มีชื่อเสียงมีศักยภาพในการระดมเงินบริจาคได้มากกว่าโรงเรียนโดยทั่วไป ในขณะที่โรงเรียนระดับกลาง ซึ่งไม่สามารถระดมเงินบริจาคได้มากนัก ต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าเล่าเรียน และค่าบำรุงการศึกษาต่างๆ

การไม่เก็บค่าเล่าเรียนช่วยลดภาระรายจ่ายของประชาชนไม่มากนัก เพราะโรงเรียนรัฐบาลเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราต่ำอยู่แล้ว ในยาม ที่ประชาชนส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน นอกจากต้องมีรายจ่ายในรูปค่าเล่าเรียน และค่าบำรุงการศึกษาต่างๆ แล้ว ยังต้องมีรายจ่ายในการซื้อแบบเรียน อุปกรณ์การศึกษา และเครื่องแบบนักเรียน รวมทั้งรายจ่ายในการครองชีพ (ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง และค่า ที่พัก) สำหรับนักเรียน ที่อยู่ในวัยทำงาน รายจ่าย ที่เป็นต้น ทุนการศึกษา ที่สำคัญที่สุด ก็คือ รายได้อันพึงได้ หากออกไปทำงานแทนการเป็นนักเรียน (foregone earning) ต้นทุนประเภทหลังนี้เป็น ต้นทุนแอบแฝง (implicit cost) ในขณะที่ต้นทุนกลุ่มแรกเป็นต้นทุนชัดแจ้ง (explicit cost)

การไม่เก็บค่าเล่าเรียนมิได้ช่วยให้ความเสมอภาคในโอกาสทางการ ศึกษามีมากขึ้น เพราะค่าเล่าเรียนมีความสำคัญน้อยในโครงสร้างรายจ่าย เพื่อให้ได้มา ซึ่งบริการการศึกษา ครอบครัว ที่ยากจนอาจให้ลูกหลานออกจากโรงเรียน เมื่อจบการศึกษาระดับประถม หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากต้องการให้เข้าตลาดแรงงาน เพื่อหารายได้ ดังนั้น มีเหตุผลน่าเชื่อว่าการไม่เก็บค่าเล่าเรียนมิได้ช่วยให้อัตราการศึกษาต่อเพิ่มขึ้นฐานะทางเศรษฐกิจต่างหาก ที่กำหนดความต้องการศึกษาต่อการไม่เก็บค่าเล่าเรียนจึงมิได้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มประชาชน ที่ยากจน หากแต่เป็นประโยชน์แก่ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูงในสังคม

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า นโยบายการไม่เก็บค่าเล่าเรียนมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนหรือไม่?

นโยบายการไม่เก็บค่าเล่าเรียนมีนัยสำคัญว่าผู้รับบริการการศึกษาไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยที่ภาระตกแก่ประชาชนผู้เสียภาษีอากร นโยบายดังกล่าวนี้จะมีความชอบธรรมก็ต่อเมื่อบริการการศึกษาให้ประโยชน์มิเฉพาะแต่ผู้เรียน แต่ให้ประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวมด้วย การประถมศึกษาให้ประโยชน์แก่สังคมโดยปราศจากข้อกังขา ผลการศึกษาวิจัยในประเทศต่างๆ ล้วน พบว่าอัตราผลตอบแทน ที่สังคมได้รับจากการประถมศึกษา (Social Rate of Return) สูงกว่า ที่ผู้เรียนได้รับ (Private Rate of Return)

ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นบันไดไปสู่ระดับอุดมศึกษา ผลตอบแทน ที่ได้เป็นผลตอบแทนสวนบุคคลมากกว่าผลตอบแทนสังคม การไม่เก็บค่าเล่าเรียนสำหรับบริการการศึกษาระดับนี้จึงมีเหตุผลสนับสนุนน้อย โดยที่ข้อสนับสนุนการไม่จัดเก็บค่าเล่าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีมากกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.