|

ญี่ปุ่นระบุทักษิณเร่งให้จบปิดดีล FTA-ภาษีรถหรูทยอยลด
ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทย-ญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงจัดทำเอฟทีเอแล้ว "ทักษิณ" เตรียมบินประกาศร่วมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเดือนนี้ก่อนที่จะลงนามเม.ย.ปีหน้า "พิศาล" หัวหน้าทีมเจรจาเผยหากเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ชัดจริงจะไม่ลงนามรับรอง ยันรถยนต์เล็กไม่ลดภาษีและเปิดตลาดให้ ส่วนรถยนต์เกิน 3000 ซีซี จะลดภาษีแบบขั้นบันไดเหลือ 60% ในปีที่ 5 ฝ่ายรมว.เมติเผยเบื้องหลังจบดีล ทักษิณ ตื๊อขอให้อยู่จนเจรจาจบ ระบุอีก 4 ปีจะรุกให้เปิดเสรีรถหรูให้ได้ นักวิชาการชี้ไทยได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ขณะที่ค่ายรถหรูจากยุโรป-สหรัฐฯโล่งอก
วานนี้ (1 ส.ค.) เวลา 07.00 น. นายโชอิจิ นาคากาว่า รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและการลงทุน (เมติ) ของญี่ปุ่นเดินทางเข้าหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่คั่งค้างจากการเจรจากันเมื่อวัน ที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปิดเสรีสินค้ารถยนต์ ก่อนที่คณะทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นจะเข้า หารือกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเวลา 08.00 น. ฝ่ายการเมืองตกลงใจปิดดีล
ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง พ.ต.ท.ทักษิณเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว มีคำพูดเหลืออยู่บางส่วน บางคำที่จะต้องปรับกัน เพราะญี่ปุ่นต้องตอบคำถามทางการเมืองเหมือนกัน โดยเฉพาะการเปิดเสรีรถยนต์เกิน 3000 ซีซี ที่จะใช้หลักการ ที่เรียกว่าความตั้งใจทางการเมือง (Political Willingness) ที่จะเจรจากันอีกครั้งในอนาคต ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้าใจถึงข้อห่วงใยของไทยในประเด็นนี้
"ไทยต้องดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์ และนโยบายการเป็น ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย จึงต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยพัง การตัดสินใจจึงเป็น Political Willingness มากกว่า วันนี้คงตกลงกันได้หมดในทุกๆ เรื่องแล้ว ยกเว้นรถยนต์ที่เหลือเพียงประเด็นเดียว ส่วนสินค้าเกษตร ญี่ปุ่นเปิดให้เราเยอะ แต่จะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ขั้นตอนปฏิบัติต้องไปดูอีกที" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
จากนั้นได้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีเมติ นายสมคิดและนายทนงต่อ ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการหารือ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา กล่าวว่า การเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) สามารถสรุปสาระสำคัญๆ ได้ทุกอย่างแล้ว ซึ่งการเปิดเสรีจะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น และจากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะไปเขียนบันทึกความเข้าใจที่ทำกัน และต้องเขียนเป็นภาษาทางกฎหมาย โดยจะใช้เวลาอีกหลายเดือน ก่อนที่จะมีการ ลงนามกันอย่างเป็นทางการได้ในเดือนเม.ย.2549
"ตอนนี้ขั้นตอนประกาศได้ว่าจบในระดับนโยบาย จากนั้นจะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะไปเขียนภาษาทางกฎหมาย โดยในเดือนส.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางไปญี่ปุ่น และจะประกาศการทำเอฟทีเอกันอย่างเป็นทางการ" นายพิศาลกล่าว
นายพิศาลกล่าวว่า ในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตรที่ตอนแรกติดขัดในประเด็นการกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้านั้น ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว และจากนี้ 2-3 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายจะไปเจรจาในรายละเอียดของสินค้าแต่ละรายการว่าจะมีเงื่อนไขแหล่งกำเนิดสินค้าในแต่ละสินค้ายังไง เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้
"ผมหวังว่าสินค้าเกษตรหลักๆ จะได้ข้อสรุป และสินค้าไทยจะเข้าสู่ตลาดได้จริง และไม่มียึกยัก ผมจึงจะลงนามกับหัวหน้าคณะเจรจาของญี่ปุ่นในข้อตกลงฉบับย่อ Record of Discussion ถ้าไม่เห็นผล จะไม่ลงนาม ซึ่งจะมีผลทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเอาข้อความไปเขียนภาษาทางกฎหมายเพื่อผูกพันกันได้ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายไทย ได้ขอร้องให้นายนาคากาว่าให้รับไปดูแลทางการเมืองให้ด้วย ซึ่งก็ได้ให้คำรับรองแล้ว" นายพิศาลกล่าว
ไทยยอมลดภาษีเป็นขั้นบันได 5 ปี
สำหรับการเปิดเสรีสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์สำเร็จรูปที่ยังมีปัญหาติดขัดเพียงเล็กน้อยนั้น นายพิศาลกล่าวว่า ได้ข้อสรุปแล้วเช่นกัน โดยไทยพร้อมที่จะลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ในปีที่ 6 คือปี 2011 ส่วนสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่อ่อนไหวประมาณ 5 รายการจะเลื่อนการลดภาษีเป็นปี 2013 ทั้งนี้ หากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่จะมีผลบังคับในปี 2010 อาจมีการเลื่อนออกไป การลดภาษีชิ้นส่วน ยานยนต์ก็จะเลื่อนออกไปตาม
ส่วนรถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดต่ำกว่า 3000 ซีซี ไทยยืนยันที่จะไม่ลดภาษีลงมาภายใน 5 ปีนี้ แต่พร้อมที่จะเจรจากันหลังจากระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งญี่ปุ่นก็เข้าใจเหตุผลที่ไทยไม่เปิดตลาด และลดภาษีลงมาไม่ได้ โดยไทยให้เหตุผลว่าการเปิดตลาดจะกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และจะแข่งขันกับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศโดยตรง
ขณะที่รถยนต์สำเร็จรูปที่มีขนาดสูงกว่า 3000 ซีซีนั้น ได้ข้อสรุปว่าไทยจะลดภาษีเป็นขั้นบันได โดยจะเริ่มลดภาษีลงทันทีตั้งแต่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ คือ ลดจาก 80% เหลือ 75,70,65 และ 60% ในปี 2009 และจะคงอัตราภาษีที่ 60% ในปี 2010 จากนั้นอัตราภาษีจะเป็นยังไงต้องไปเจรจากันต่อ
อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นได้แจ้งในเบื้องต้นว่า จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทย โดยจะลงทุนเพิ่มประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในโครงการต่างๆ เช่น การสนับสนุนดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก การผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก การประหยัดพลังงาน การสนับสนุนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนของไทยกับญี่ปุ่น
นายพิศาลกล่าวว่า ในส่วนของสินค้าเหล็กก็ได้ข้อยุติเช่นเดียวกัน โดยไทยจะลดภาษีสินค้าเหล็กที่ไทยผลิตไม่ได้ และส่วนใหญ่เป็นเหล็กคุณภาพดีที่นำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เหลือ 0% แต่จะมีการกำหนดโควตาการนำเข้าในแต่ละปีไว้ ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนเหล็กที่เป็นรายการอ่อนไหว ไทยจะคงภาษีเดิมภายใน 8 ปีและ 10 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิต ของไทยได้มีเวลาปรับตัว แต่หลังจากปีที่กำหนด ก็จะเริ่มกระบวนการเปิดเสรี
"เรื่องเหล็กเราตอบได้ว่าทำไมต้องเปิด เพราะเหล็กที่มีคุณภาพดีและเราผลิตไม่ได้ ก็ต้องให้นำเข้า และการนำเข้าก็นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและส่งออก เช่น รถยนต์ ซึ่งเราได้ประโยชน์ ส่วนเหล็กที่อ่อนไหว ก็ให้มีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการของเราปรับตัว" นายพิศาลกล่าว
นายพิศาลกล่าวอีกว่า สินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นจะเปิดเสรีให้กับไทยและไทยจะส่งออกได้มากขึ้น เช่น ไก่ต้มสุก กุ้งแปรรูป แป้งมัน ผักและผลไม้เกือบทุกรายการ ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง ส่วนน้ำตาลญี่ปุ่นขอให้มีการเจรจากันใหม่ ขณะที่สับปะรดสดให้โควตาการนำเข้า แต่สับปะรดกระป๋องขอเจรจาใหม่ และยังเปิดให้นำเข้ากล้วยได้
โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ มีมูลค่าส่งออกประมาณ 42,000 ล้านบาท และหากภาษีลดลง ไทยจะมีโอกาสเพิ่มยอด การส่งออกได้มากขึ้น เพราะภาษีของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งจะต่ำกว่า ทำให้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้น และจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่จะเปิดตลาดทันทีและไทยจะได้ประโยชน์ เช่น รองเท้าจะมีการยกเลิกโควตาภายใน 7-10 ปี และภาษีเป็น 0% เครื่องประดับและสิ่งทอจะลดภาษีเหลือ 0% ทันที ญี่ปุ่นพอใจข้อตกลงเอฟทีเอไทย
นายโชอิจิ นาคากาว่า รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและการลงทุนของญี่ปุ่น (เมติ) เปิดแถลงต่อสื่อมวลชนประเทศญี่ปุ่นที่โรงแรมโฟร์ซีซัน ว่าภายหลังเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงผลการเจรจาหารือเปิดเขต การค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นที่ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าเชิงภาพรวมนโยบาย รู้สึกพอใจมาก กับผลการตกลงกันในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ 100% เพราะตนได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากทางนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายก-รัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้เจรจาตกลงกันให้เสร็จสิ้น โดยเร็ว และเมื่อตกลงกันได้ ตนก็โทรศัพท์ไปถึงนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทันที ซึ่งนายกฯก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่การเจรจาจบลงได้ ทำให้ความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายเป็นจริง พร้อมกับยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีทักษิณที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น
โดยในเดือนสิงหาคมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางเยือนญี่ปุ่น และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในระดับผู้นำถึงข้อตกลงเปิดเขตการค้า เสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ส่วนเรื่องของแหล่งกำเนิด สินค้าเกษตร หลังจากนี้ต่อไปในอีก 2 สัปดาห์เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย จะมีการคุยกันในรายละเอียดเพื่อทำเป็นร่างบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างของไทยกับญี่ปุ่น และเสนอให้หัวหน้าคณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายเซ็นบันทึก แล้วจึงเสนอเข้าการพิจารณาของสภา ก่อนลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นจะมีผลบังคับใช้
นายโชอิชิ กล่าวถึงการเข้าพบนายก-รัฐมนตรีของไทยว่า แม้การหารือก่อนหน้าเข้าพบยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของการเปิดตลาดรถยนต์สำเร็จรูปที่เกิน 3000 ซีซี แต่เมื่อหลังจากเข้าพบพ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว นายกฯไทยได้ปรารภกับตนว่า อยากให้การเจรจาสามารถตกลงกันได้ในวันนี้ พร้อมกับถามตนว่าจะเดินทางกลับญี่ปุ่นเมื่อไร ซึ่งตนก็ได้ตอบกลับว่าจะเดินทางกลับวันนี้ (1 ส.ค.) นายกฯจึงบอกว่า ขอให้อยู่หารือกับนายสมคิด และนายทนงต่ออีก และจากการหารือกันเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปในเรื่องของรถยนต์สำเร็จรูปเกิน 3000 ซีซี ให้ทยอยลดภาษีแบบขั้นบันไดดังกล่าว อีก 4 ปีบี้ ให้หนักกว่าเก่าเสรีรถ 0%
ขณะเดียวกัน เวลา 16.00 น. ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น นายเคอิตะ มิชิยาม่า ผู้อำนวยการเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและการลงทุน (เมติ) เปิดเผยว่า ความจริงแล้วฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปขนาดเกิน 3000 ซีซีให้เหลือ 0% แต่ก็รู้สึกดีถึงแม้จะลดลงเหลือ 60% ในปี 2552 ก็ตาม แต่คาดว่าในการเจรจาที่จะมีขึ้นในรอบใหม่ ในอีก 4 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะพยายามเจรจาต่อรองให้ไทยลดภาษีสินค้านำเข้ารถยนต์สำเร็จให้กับทางญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ มองว่าหากไทยจะเป็นดีทรอยต์ออฟเอเชีย ประเทศไทยต้องยอมเปิดตลาดสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ให้มากขึ้นกว่านี้ ชี้สองฝ่ายได้ประโยชน์น้อย
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้การเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นจะสามารถสรุปผลการเจรจาจบลงได้ แต่รู้สึกแปลกใจที่ประเด็นที่ไทยน่าจะได้ประโยชน์กลับไม่ได้ประโยชน์ เช่น การที่ไทยยอมเปิดตลาดนำเข้ารถยนต์ขนาดเกิน 3000 ซีซี แก่ญี่ปุ่นโดยจะทยอยลดภาษีเป็นขั้นบันได เรื่องนี้ในแง่ผลกระทบ หรือผลประโยชน์ของประเทศไม่น่าเป็นห่วงไม่กระทบต่อผู้ประกอบการไทย และไทยเองก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่กลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางรถยนต์ค่ายยุโรป และสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่ไม่ต้องการ ให้ตนเองเสียผลประโยชน์มากกว่าจึงพยายามวิ่งล็อบบี้รัฐบาลไทย จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นตัดสินใจทางการเมืองขั้นสุดท้าย ที่เป็นปัญหามากที่สุดในการเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่น
นักวิชาการสถาบันทีดีอาร์ไอ เห็นว่าการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจบลงได้ถือว่าเป็นผลดี เพราะไทยและญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกัน ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น ปีที่แล้ว กว่า 5.4 แสนล้านบาท นำเข้า 8.9 แสนล้านบาท เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยและญี่ปุ่นถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน แต่หากดูในรายละเอียดจากผลการเจรจาพบว่า ผลประโยชน์ที่ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นกลับได้รับผลประโยชน์ไม่ มากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างกลัวเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น สินค้าสำคัญที่ไทยควรจะได้รับผลประโยชน์ จากการเปิดเสรี กลับไม่มีในข้อตกลงการเจรจา คือ ข้าว น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง มันสำปะหลัง หรือแม้แต่สินค้าเกษตรที่ไทยควรจะได้รับ ประโยชน์จริงๆมากกว่านี้ จากการเปิดตลาดลดภาษี ก็ได้รับไม่มากนัก เช่น ไก่ปรุงสุก ที่จะลดภาษีจาก 6% ให้เหลือ 3% ใน 5 ปี แท้จริงน่าจะลดภาษีเป็น 0% ทันทีมากกว่า
"ผลประโยชน์ที่ไทยควรได้กลับไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างกลับเจ็บตัว ดูได้จาก ญี่ปุ่นยอมให้ไทยสามารถส่งออกรองเท้าไปญี่ปุ่นได้ แต่ก็ต้องรอนานถึง 10 ปีภาษีจึงจะเป็น 0% หรือไทยยอมอ่อนลดภาษีรถยนต์ขนาดเกินกว่า 3000 ซีซี ลดให้ 60% ในปี 52 หรือเสรีเหล็กก็ยอมลดภาษีให้ แต่ต้องใช้เวลาปรับตัว 8-10 ปี นำเข้ามาได้เฉพาะที่ผลิตไม่ได้เท่านั้น ทั้งยังมีโควตาอีก"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดของภาคเกษตรหากความตกลงมีผลบังคับคือ แหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งขณะนี้ในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายไม่มีความชัดเจน ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองต้องการให้ผลการเจรจาในครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ในระดับการตัดสินใจทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติ ยังติดขัดในรายละเอียดกันอยู่ ตกลงกันไม่ได้ ในแหล่งกำเนิดสินค้าผักผลไม้ ประมง อาหารสัตว์ควรเป็นอย่างไร เช่น ปลาทูน่า ที่กำหนด Local Content ในประเทศไทยเท่านั้นจึงจะส่งออกได้
"เอฟทีเอไทยญี่ปุ่น ถือว่าไทยได้รับชัยชนะทางการทูต ญี่ปุ่นยอมเปิดตลาดลดภาษีให้ในตัวหนังสือเท่านั้น แต่พอส่งออกกันจริงๆ สินค้าไทยจะถูกกีดกัน" ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าว ค่ายรถหรูโล่งกระทบไม่มาก"
แหล่งข่าววงการยานยนต์ให้ความเห็นว่า บทสรุปในข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หากนำมาวิเคราะห์ในเบื้องต้นจะพบว่าไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มากนัก เพราะไม่ได้มีการบังคับใช้ทันที ยังมีเวลาให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวอย่างน้อย 5 ปี ที่สำคัญตัวเลขที่ลดลงก็ไม่ฮวบฮาบแต่เป็นการลดแบบขั้นบันได แค่เพียง 5 % ในแต่ละปีเท่านั้น
ขณะเดียวกัน 2 ค่ายยักษ์จากยุโรปคือเมอร์เซเดส-เบนซ์ และ บีเอ็มดับเบิลยู จะไม่กระทบมากนักเพราะตัวเลขยอดขายของทั้ง 2 ค่ายมาจากรถที่ประกอบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรถประกอบในประเทศจะเสียภาษี ซีเดคี 30% เท่านั้น ถือว่ายังได้เปรียบอยู่ ส่วนรถที่นำเข้าสำเร็จรูปอย่างรุ่น เอส-คลาส, ซีรีส์ 7, ย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ตัวเลขยอดขายในรถ รุ่นใหญ่มีจำนวนไม่มากนัก ผลกระทบที่ได้รับจึงยังไม่มากเท่าไร
แหล่งข่าวจาก บีเอ็มดับเบิลยู กล่าวว่า โดยพื้นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่รถประกอบในประเทศ ดังนั้น การที่จะพิจารณาเปิดเสรีรถนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้มีปริมาณมากขึ้นนั้นย่อมมีผลกระทบต่อรถที่ประกอบ ในประเทศแน่นอน แต่ภาครัฐก็ควรจะทำเป็น ขั้นเป็นตอน และให้เวลาผู้ประกอบการในการ เตรียมตัวด้วย
"กรณีนี้ถือว่าเป็นการเจรจาที่จบลงด้วยดี เหมาะสมที่สุด ไม่มีผลกระทบโดยรุนแรงและเฉียบพลัน และยังเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมสามารถพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันต่อไปได้ และบทสรุปในวันนี้ก็มีผลกระทบ ต่อบีเอ็มดับเบิลยูบ้างในส่วนของรถนำเข้า อย่าง เอ็กซ์ 5, เอ็ม 5 แต่ภาครัฐก็ไม่ได้บังคับใช้ทันที และที่สำคัญไม่ลดลงเหลือ 0% เป็นการลดแบบขั้นบันได ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี"
นายจอห์น ฟิลิซ ประธาน ฟอร์ด ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ฟอร์ดสนับสนุน เอฟทีเอ อยู่แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่กรณีนี้คงต้องใช้เวลาศึกษา และถ้าศึกษาแล้วการเปิดเสรีดังกล่าวมีผลกระทบต่อฟอร์ด ฟอร์ดคงต้องทบทวนแผน การลงทุนในไทยอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|