ก้อนหินสีทอง ที่มีตัวอักษร Au ติดอยู่ด้านหน้า กำลังทำหน้าที่บอกกล่าวผู้คนให้ได้รับรู้ว่า
อาคารและสถานที่ที่ได้รับการจัดวางผังไว้อย่างดี ที่เห็นอยู่เบื้องหน้าคือ
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Assumption University : AU) หรือที่ทุกคนคุ้นเคยในฐานะ
ABAC (Assumption Business Administration College) ซึ่ง "สาร" ที่ก้อนหินสีทองกำลังนำเสนออยู่กลางแดดฝนนี้
อาจคลี่คลายไปไกลกว่าข้อสงสัยแรกเสียด้วยซ้ำ
สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นผลสะท้อนมาจากคุณลักษณะภายใน
หรือเป็นสิ่งที่กำหนดนิยาม เพื่อให้เกิดคุณค่าจากภายนอกก็ตามที ซึ่งอักษร
Au ที่เป็นสัญลักษณ์ทางเคมีของ ทองคำ และเป็นอักษรย่อของ "อาสนวิหารแห่งการเรียนรู้"
ที่ชื่อ Assumption University บนหินสีทองก้อนนี้ ก็กำลังทำหน้าที่สื่อความหมายที่ผู้บริหารสถานศึกษา
แห่งนี้ต้องการอย่างซื่อสัตย์ยิ่ง และย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหรือเกินความสามารถที่จะเป็นเจ้าของวิทยาเขตแห่งใหม่บนพื้นที่
360 ไร่แห่งนี้
ตลอดเวลานับตั้งแต่ ABAC ได้รับการ สถาปนาอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1972
และ ย้ายสถานที่ตั้งจากเดิมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน ACC มาตั้งอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่หัวหมาก
ซึ่งเป็นวิทยาเขตแรกแล้ว สถานศึกษาแห่งนี้ได้พัฒนาเติบโตอย่างมาก ไม่เฉพาะในส่วนของจำนวนนักศึกษา
หรือความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศเท่านั้น
หากแต่การพัฒนาด้านอาคารสถานที่ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง
การปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่ ย่อม ต้องมีฐานรากที่แข็งแรง การพัฒนาสถานศึกษาให้เจริญก้าวหน้าดำรงสถานะนำ
ย่อมต้องมีนักการศึกษาที่เปี่ยมความสามารถเป็นจักรกลหนุนนำเช่นกัน
และไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม อธิการบดีคนที่ 4 ของสถาบันอุดมศึกษาเพียง
แห่งเดียวในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานกว่า
24 ปี และเป็นผู้นำพาการพัฒนามาสู่สถานศึกษาแห่งนี้ มีชื่อนักบุญอุปถัมภ์ว่า
มาร์ติน เดอ ตูร์ (Martin de Tours) ซึ่งเคยเป็นชื่อของภราดา คณะเซนต์คาเบรียล
ในยุคบุกเบิกงานในประเทศไทย ที่ทิ้งมรดกทางการศึกษาไว้อย่าง มากมาย โดยเฉพาะที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
สามเสนด้วย
ภราดา ประทีป มาร์ติน เดอ ตูร์ โกมลมาศ หรือภราดาประทีป ม.โกมลมาศ มิได้มีบทบาทเป็นผู้บุกเบิกงานใน
ABAC ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อปี ค.ศ.1978 เท่านั้น หากแต่ในยุคที่เริ่มก่อตั้ง
เขาก็มีบทบาทอย่างสูงในการดำเนินงานเพื่อจัดหาที่ดินจำนวน 16 ไร่เศษให้ ABAC
ใช้เป็นที่ตั้งของวิทยาเขต หัวหมาก
"ตามข้อกำหนดของกฎหมาย การจะเปิดเป็นสถาบันอุดมศึกษา จะต้องมีพื้นที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง
แต่ภราดาในคณะฯ ที่ดูแล ACC และต้องการขยายงานออกไปเป็น ASB ในช่วงนั้นขาดความเข้าใจทางกฎหมาย
จึงเกิดปัญหาขลุกขลัก มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ จึงต้องยกที่ดินผืนนั้นให้วิทยาลัย
โดยโอนเข้ามาอยู่ในชื่อของภราดา" ภราดาประทีป หรือ Brothers Martin ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้คนในสังคม
ABAC คุ้นเคยดี บอก "ผู้จัดการ"
การบุกเบิกงานการศึกษาขั้นอุดมศึกษา นับเป็นงานใหม่ที่ท้าทายสำหรับภราดาในคณะเซนต์คาเบรียลฯ
ไม่น้อย เพราะแม้จะมีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาในประเทศไทยมากว่า 70 ปี
แต่ก็เป็นการศึกษาในระดับประถมและมัธยมเป็นหลัก ขณะเดียวกันเพียง 1 ปี หลังจากย้ายสถานที่มายังหัวหมาก
บรรยากาศของสถานการณ์ภายในประเทศก็ดูจะไม่เอื้อต่อการขยายตัวของวิทยาลัยแห่งนี้มากนัก
ความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม ค.ศ.1973 ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
ซึ่งบรรยากาศใน ABAC ก็มิได้อยู่ในข้อยกเว้นใดๆ ความไม่สงบภายในวิทยาเขตทำให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่มีวันเพ็ญ
นพเกตุ เป็นผู้อำนวยการ (1973-1975) และเมื่อมีการประท้วงครั้งใหญ่ในช่วงปี
ค.ศ.1975 จึงได้มีการเชิญ ดร.ชุบ กาญจนประกร อดีตอธิการบดี NIDA มาเป็นผู้บริหาร
เพื่อวางระบบการบริหารวิทยาลัยใหม่ ระยะเวลา 6 ปีแรกที่หัวหมาก จึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่เสมือนการฟักตัวก่อนก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการขยายตัวในยุคต่อมา
บทบาทของภราดาประทีป ในช่วงดังกล่าว นับว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะโดยฐานะของการเป็นเจ้าคณะแขวงไทย
(1974-1976) และนายกสภาวิทยาลัยในช่วงปี ค.ศ.1975 กล่าวได้ว่าภราดาประทีป
คือกุญแจสำคัญที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์หนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีการ ยื่นคำขาดว่าจะปิดและยุติกิจการของวิทยาลัย
หากนักศึกษาไม่ยุติการประท้วง ซึ่งเป็นผลให้ความสงบในวิทยาลัยกลับคืนมาอีกครั้ง
"ภราดา สามารถบริหาร ABAC ให้ก้าวหน้าดังที่เห็นอยู่นี้ได้ก็เพราะคณะเซนต์คาเบรียล
ให้อิสระในการบริหารอย่างเต็มที่ ไม่ต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมการที่ยุ่งยากซับซ้อน
ซึ่งมักเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนา" ภราดาประทีปย้ำความเชื่อเกี่ยวกับอิสรภาพในการบริหาร
ในลักษณะที่จำเป็นต้องมี autonomous power แต่กระนั้นก็ต้องอาศัยปัจจัยในเรื่องของความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจบริหารด้วย
ว่าจะนำพาสถาบันไปสู่ทิศทางเช่นใด
บทพิสูจน์ที่ทำให้ภราดาประทีปเชื่อ และมีทัศนะเช่นนี้น่าจะอยู่ที่ความสำเร็จในการพัฒนางานอาคารและสถานที่ของวิทยาเขตหัวหมาก
ซึ่งแต่เดิมมีอาคารเพียง 2-3 หลัง แต่เมื่อภราดาประทีป เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีอย่างเป็นทางการในปี
ค.ศ.1978 แล้ว วิทยาเขตหัวหมาก บนพื้นที่ 16 ไร่ ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจำนวนอาคารเรียนที่เพิ่มขึ้น
พร้อมกับการเกิดขึ้นของชุมชนรอบวิทยาเขต จนมีสภาพแออัดในลำดับต่อมา
แต่การพัฒนาอาคารและสถานที่ดังกล่าว มิได้เกิดขึ้นอย่างได้เปล่าด้วยคาถาพิเศษจากผู้มีฤทธิ์
หากต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน
"เมื่อเริ่มแรก ภราดาต้องยืมเงินจากมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ เพื่อมาก่อสร้างอาคาร
เรียน ต่อมาก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถยืนขึ้นและพัฒนาต่อไปได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งก็คือทำอย่างไรที่จะบริหารทรัพยากรให้มีคุณภาพ" เป็นคำอธิบายที่ง่าย
และได้ใจความ เพราะการพัฒนาในลำดับต่อๆ มาของ ABAC เกิดขึ้นจากเงินที่สะสมได้ภายในสถาบันแห่งนี้
หากประเมินจากจำนวนนักศึกษาทุกหลักสูตรซึ่งแต่ละปีจะมีประมาณ 20,000 คน
โดยคิดค่าลงทะเบียนในแต่ละหลักสูตรเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาทแล้ว
สถานศึกษาแห่งนี้จะมีรายได้ประมาณ 1.4 พันล้าน บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ ก็คือทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง
โดยส่วนหนึ่งต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างคณาจารย์ และเป็นเงินเดือน สวัสดิการให้กับ
เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ส่วนที่เหลือจึงจะสามารถเก็บสะสม เพื่อนำมาใช้สำหรับการขยายงานในอนาคต
"การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนและด้วยการบริหารจัดการที่ดิน ทำให้แม้จะมีวิกฤติก็สามารถทำได้
เพราะการสร้างวิทยาเขตบางนา ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากแหล่งอื่น เป็นเงินที่สะสมขึ้นมาจากการดำเนินงานของ
AU เอง"
กระนั้นก็ดี สถานศึกษามิได้มีภารกิจหน้าที่อยู่เพียงการพัฒนาอาคารสถานที่
ให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเท่านั้น หากยังต้องมีการพัฒนาในเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่อง
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ออกไปรับใช้สังคม
ซึ่งเป็นบทบาทที่นักการศึกษาที่ดีส่วนใหญ่ยึดเป็นพันธกิจหลักแห่งวิชาชีพด้วย
"ความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นเป้าหมายของอัสสัมชัญ ซึ่งจากประเพณีของการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นสื่อในการเรียนการสอนตั้งแต่ครั้งอดีต
ทำให้บรรยากาศการศึกษาของที่นี่มีลักษณะนานาชาติตั้งแต่แรกเริ่ม เพียงแต่จำนวนนักศึกษาต่างชาติอาจไม่มากเท่ากับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งสะท้อนให้เห็นมาตรฐานและการยอมรับทางวิชาการ แต่ในอนาคตจะต้องมีการเพิ่มเติมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก"
ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะเป็นมหา วิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของไทย ปัจจุบันจำนวนนักศึกษา
ต่างประเทศของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีมากกว่า 1,800 คน ซึ่งมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยที่ถูกกว่าเท่านั้น
หากนักศึกษาเหล่านี้ย่อมต้องมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานทางวิชาการในระดับหนึ่งด้วย
ความเข้มข้นทางวิชาการของ AU ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการเรียนการสอนหลัก
สามารถสัมผัสได้จากสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็น ในกรณีของนักศึกษาชาวไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาอังกฤษซ้ำหลายครั้ง
และกลายเป็นปรากฏการณ์ปกติที่นักศึกษาจำนวนไม่น้อย จะต้องใช้เวลาในการศึกษายาวนานมากกว่า
4 ปี ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เพื่อให้สำเร็จไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ประหนึ่งทองคำที่สามารถคงคุณค่าเหนือกาลเวลา
ตามแนวความคิดที่ภราดาประทีปพยายามนำเสนอเป็นรูปก้อนหินทองคำอยู่หน้าสถาบัน
ซึ่งหากพันธกิจของภราดาในคณะเซนต์คาเบรียล ในยุคเริ่มแรกเปรียบประหนึ่งการสำรวจและวางรากฐาน
สำหรับการบ่มเพาะให้เกิดปัญญาธาตุในสังคมแล้ว mission ที่พวกเขาได้ทิ้งไว้เป็นมรดกให้เห็นในปัจจุบันกำลังส่งแสงเรืองอร่าม
ไม่ต่างจากการเกิดขึ้นของขุมทองทางปัญญาที่มี AU เป็นยอดปลาย ของกระบวนการที่ยาวนานนี้