Assumption University ต้นแบบ Business School ของไทย

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่า 24 ปีบนตำแหน่งอธิการบดี ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ ได้แสดงความเป็นนักการศึกษา และนักบริหาร ที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงผสมผสาน และมีพลังมากที่สุดคนหนึ่งในคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งรูปธรรมความสำเร็จที่ชัดเจนในเรื่องนี้กำลังตั้งเด่นตระหง่าน อยู่ภายในวิทยาเขตบางนา ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AU) ที่มีพื้นที่กว่า 360 ไร่

แม้ว่าความโดดเด่นของสถานศึกษาแต่ละแห่งในสังคมไทยจะได้รับการกำหนดนิยาม โดยพิจารณาจากความเก่าแก่ในการก่อตั้งหรือสถาปนา จนเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย เชื่อถือในค่านิยมที่จะส่งบุตรหลานให้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันอุดมศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเหตุที่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้งสี่แห่งต่างมีความเป็นมา และอุดมไปด้วย เกียรติประวัติที่เนิ่นนาน ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับความพยายามในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และมีระบบที่ดำเนินต่อเนื่องตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

แต่ภายใต้บริบทดังกล่าว หากพิจารณาจากปรัชญาพื้นฐานในการก่อตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในห้วงเวลานั้น ก็จะพบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความพยายาม ส่วนหนึ่งของรัฐไทย ที่จะรักษาสถานภาพและความมั่นคงที่มีอยู่เดิมเอาไว้ โดยหวังว่าสถานศึกษาเหล่านี้จะเป็นกลไกในการผลิตบุคลากรเพื่อมาสนองงานราชการด้านต่างๆ ในอนาคต และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกับเทคนิควิทยาการ ที่พรั่งพรูหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยภายหลังการเปิดประเทศ อันสืบเนื่องมาจากการลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1855 ด้วย

กระนั้นก็ดี กระบวนการทำให้ทันสมัย Modernization ที่รัฐไทยดำเนินการในห้วงขณะนั้น ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้ายิ่ง

การเกิดขึ้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ.1917 โดยมีเข็มมุ่งอยู่ ที่การผลิตบุคลากรมารับใช้งานของรัฐจากรากฐานของโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ พลเรือนที่มีมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1899 อาจเป็นภาพที่ขัดกันกับการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี ค.ศ.1934 ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นตลาดวิชารองรับกับระบอบการปกครองใหม่ที่เปิดกว้างสู่ประชาชนรากหญ้ามากขึ้น แต่สถาบันทั้งสองแห่งนี้ต่างมีเป้าประสงค์เบื้องปลายไม่แตกต่างกันมากนัก โดยยังยึดอยู่กับการได้มาซึ่งบุคลากรเพื่อสนองกลไกอำนาจการปกครอง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนั้นด้วย

ขณะที่ในปี ค.ศ.1943 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมุ่งหมายจะนำวิชาการสมัยใหม่มารับใช้พื้นฐานสังคมเกษตรกรรมของชาติ ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ แม้ว่าความพยายามในการจัดการศึกษาด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1904 แล้วก็ตาม และในทำนองเดียวกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1969 จากการรวบรวมสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ชั้นสูงหลายแห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ทั้งที่โรงเรียนการแพทย์แห่งแรกของไทยใน โรงพยาบาลศิริราช มีประวัติการก่อเกิดมา ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1890 ล้วนเป็นประจักษ์พยานในกรณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ห้วงเวลาของการเปิดประเทศเพื่อรับเอาวิทยาการจากโลกตะวันตกที่ดำเนินมาตลอดเวลานั้น ได้เปิดช่องทางใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการเดินทางเข้ามาประกอบธุรกิจการค้าของบริษัทข้ามชาติ และตัวแทนการค้าโพ้นทะเล ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวต่างประเทศเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็ดี business school ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับพัฒนาการดังกล่าว กลับมิได้ถูกสร้างขึ้นหรือบางทีกรณีดังกล่าวอาจจะอยู่ไกลออกไปจากความคิดคำนึงของรัฐไทย

การเกิดขึ้นของแผนกพาณิชยการ ในโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ที่เริ่มต้นจากวิชาพิมพ์ดีด ในปี ค.ศ.1912 หรือเมื่อ 90 ปี ที่แล้ว โดยผลจากการริเริ่มของภราดา Hubert ก่อนที่จะขยายตัวแยกออกมาเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (Assumption Commercial College : ACC) ในปี ค.ศ.1930 และได้รับการรับรองฐานะอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1938 โดยมีภราดา Rogatien Marie (1886-1965) ภราดาชาวฝรั่งเศสในคณะเซนต์คาเบรียล เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและดำเนินการอย่างแข็งขัน จน ACC กลายเป็นต้นแบบของวิทยาลัยธุรกิจและพาณิชยการในชั้นต่อมา

ภราดา Rogatien เดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1910 ได้ริเริ่มที่จะเปิดสอนวิชาชวเลข (shorthand) และสานงานต่อจากภราดา Hubert Cousin (1890-1974) ในการสอนวิชาพิมพ์ดีดให้กับนักเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญในฐานะที่เป็นวิชาพิเศษ พร้อมกับแนวความคิดที่จะฝึกนักเรียนเหล่านี้ ให้มีทักษะสำหรับการเข้าร่วมงานในบริษัทตัวแทนการค้าจากยุโรป สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานและธุรกิจการค้าที่ขยายตัวอย่างมาก และมิได้มีเพียงกลุ่มอำนาจและคนชั้นสูงยึดกุมไว้เท่านั้น

สิ่งที่ภราดา Hubert และภราดา Rogatien ดำเนินการในห้วงขณะนั้น เกิดขึ้นควบคู่กับสถานการณ์สำคัญในระดับโลกไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มขึ้นและต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ.1914-1918 การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียสู่ระบอบคอมมิว นิสต์ ในปี ค.ศ.1917 รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี ค.ศ.1930 (Great Depression) และสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ.1939-1945 ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนของความ พยายามในการช่วงชิงทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ ของโลก จากผลของความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิต และความจำเริญของวิศวกรรมด้านการขนส่ง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้ง มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1760 ซึ่งเป็นผลให้เกิดชนชั้นใหม่ๆ ในสังคมยุโรปอย่างกว้างขวางด้วย

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ.1932 ก็เป็น repercussion จากผลของสถานการณ์ระดับโลก และเป็นจุดเริ่มของชนชั้นใหม่ๆ ในสังคมไทย ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่กลไกรัฐดูเหมือนจะไม่สามารถปรับตัวรับและสนองตอบต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ดีพอ

ความสำเร็จของอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC) ในฐานะ business school ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าว สามารถประเมินได้จากจำนวนของผู้สำเร็จการศึกษาจาก ACC ที่เข้าทำงานในบริษัทการค้าจากต่างประเทศอย่างหลากหลาย และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน กระทั่งมีการจองตัวก่อนจะสำเร็จการศึกษาด้วยซ้ำ

ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของไทย ในขณะนั้น หลักสูตรพาณิชยการ 3 ปีของ ACC ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมาก เป็นเพียงหลักสูตรที่ได้รับการอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน แต่วุฒิการศึกษาที่ได้รับไม่สามารถนำไปต่อยอด เพื่อศึกษาในระดับอุดมศึกษาภายใต้ระบบมหาวิทยาลัยได้ และนั่นอาจเป็นเหตุให้ ACC ต้องแสวงหาหนทางใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการจัดการศึกษาของไทยเรื่อยมา

ความพยายามของ ACC ในการไปให้ไกลกว่ากรอบกำหนดของภาค รัฐ เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่ภราดา Rogatien ติดต่อขอใช้สถานที่ภายในสถานทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เพื่อทำการสอบข้อเขียนก่อนที่หอการค้าลอนดอน (London Chamber of Commerce) ในอังกฤษ จะเป็นผู้ตรวจให้คะแนนเพื่อ รับรองผลการศึกษานักเรียน ACC ในปี ค.ศ.1939

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ ACC น่าจะอยู่ที่ความพยายามในการ สอนหลักสูตรอุดมศึกษา 4 ปีภายใต้ชื่อ Assumption School of Business : ASB เพื่อรองรับกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ในช่วงปี ค.ศ.1969 โดยหลักสูตรปริญญาตรี บริหารธุรกิจ (Bachelor of Business Administration : BBA) ที่ ASB เปิดสอนนั้น เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก University of Santa Clara ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เป็นการริเริ่มที่จะเปิดวิทยาลัยธุรกิจในลักษณะของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถผ่านเงื่อนไขตามข้อกำหนดของกฎหมายไทยได้อีกครั้ง และทำให้นักศึกษา ASB สองรุ่นแรกไม่สามารถรับปริญญาบัตรในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาชั้นอุดมศึกษาได้ หากเป็นเพียงประกาศนียบัตรรับรองว่าผ่านหลักสูตรเท่านั้น

ภายใต้เงื่อนเวลาดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยในระยะบุกเบิกก็อยู่ในช่วงของการลงหลักปักฐานเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสังคมการศึกษาไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยกรุงเทพ (1965) วิทยาลัยการพาณิชย์ (1965) ธุรกิจบัณฑิตย์ (1968) ศรีปทุม (1970) และโดยกฎหมายที่อนุญาตให้เอกชนสามารถเปิดสถานศึกษาในหลักสูตรอุดมศึกษาได้ในช่วงปี ค.ศ.1970-1971 นี้เอง ที่ทำให้สถานศึกษาเอกชนในรูปของวิทยาลัยเกิดขึ้นอย่างมากมายต่อมา

วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (Assumption Business Administration College : ABAC) ซึ่งก็คือหน่ออ่อนที่งอกเงยขึ้นมาจาก ACC และ ASB ที่ได้รับการยอมรับในมิติของความแข็งแกร่งทางวิชาการโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ ความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ จึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปี ค.ศ.1972 นี้ และเป็นปฐมบทของปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคมไทย รวมถึงการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งแรกของไทยด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.