บรรษัทภิบาลยุโรป : ก็ไม่ดีไปกว่าอเมริกันเท่าไร


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เหลียวมองบรรษัทภิบาลบริษัทยุโรป ก็มีปัญหายุ่งๆ ไม่แพ้คู่แข่งอเมริกัน

ในขณะที่บริษัทอเมริกันกำลังอับอายขายขี้หน้าไปทั่วโลก ก็น่าจะเป็นโอกาสอันเหมาะเหม็งที่สุดสำหรับบริษัทยุโรปที่จะฉวยโอกาสนี้ โฆษณาคุณความดีของโมเดลทุนนิยมแบบฉบับของตนที่นุ่มนวลกว่าเวอร์ชันอเมริกัน เพราะอย่างน้อยยุโรปก็เชื่องช้ากว่าในการมีพฤติกรรมการทำบัญชีที่ฉ้อฉลหรือการใช้หุ้น option ล่อใจผู้บริหารของบริษัท ซึ่งเป็นพฤติกรรมฉาวโฉ่ของบรรดาบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ ที่กำลังถูกทั่วทั้งโลกรุมประณามอยู่ในเวลานี้ แต่แน่ใจหรือว่า ทุนนิยมสายพันธุ์ยุโรปซึ่งถูกวิจารณ์เรื่อยมาในช่วงหลายปีหลังๆ นี้ว่าล้าหลังและตายตัวไม่ยืดหยุ่น จะสามารถพิสูจน์ ความเหนือกว่าคู่แข่งสายพันธุ์อเมริกันได้สำเร็จ

บริษัทยุโรปหลายแห่งนอกจากจะไม่ได้กำลังพิสูจน์ว่า ตนเลิศเลอกว่าบริษัทมะกันแล้ว ยังกลับกระทำในทางตรงข้าม บรรษัทภิบาลแบบยุโรปยังคงรับใช้ผู้ถือหุ้นและเจ้าของอย่างไม่แตกต่างไปจากบริษัทอเมริกัน นอกจากนี้ ยังไม่ปลอดจากพฤติกรรมการตกแต่งบัญชีอีกด้วย จริงๆ แล้วดูเหมือนว่ายุโรปจะช้ากว่าสหรัฐฯ ก็แต่การเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อฉลเหล่านั้นให้สาธารณชนรับรู้เท่านั้น

ตัวอย่างแรกของบริษัทยุโรปที่กำลังเผชิญปัญหาคือ Vivendi Universal กลุ่มบริษัทสื่อ, โทรคมนาคม และธุรกิจน้ำดื่มของฝรั่งเศส ซึ่งเกือบจะล้มละลายเมื่อเร็วๆ นี้ ในความเห็นของคนยุโรปหลายคน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ Vivendi ถึงแก่เกือบเอาตัวไม่รอดในครั้งนี้ เป็นเพราะบริษัทเลียนแบบบริษัทอเมริกันมากเกินไป Jean-Marie Messier อดีตผู้บริหารสูงสุดของ Vivendi นำวิธีการทำธุรกิจและวิธีจูงใจผู้บริหารแบบอเมริกันมาใช้ เขาถึงกับย้ายจากกรุงปารีส ไปพำนักในกรุงนิวยอร์ก

รากเหง้าของปัญหาของ Vivendi คือปัญหาการเงิน หลังจากเชิญ Messier ออกในวันที่ 3 กรกฎาคม Vivendi ก็ประกาศว่า บริษัทกำลังมีปัญหาสภาพคล่อง ด้วยวิธีแก้ปัญหาแบบยุโรปที่ใช้กันเสมอมา ในวันที่ 9 กรกฎาคม บริษัทก็ได้รับวงเงินกู้ระยะสั้นก้อนใหม่จากธนาคารเจ้าหนี้มาต่อชีวิตบริษัทต่อไปได้อีกหลายเดือน แต่ยังไม่ทันที่หมึกที่เซ็นลงในสัญญากู้เงินจะแห้งสนิทดี ทางตลาดหุ้นฝรั่งเศสก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานของ Vivendi เพื่อสอบสวนรายงานการเงินของบริษัทตั้งแต่เดือนมกราคม 2001

แม้ว่าจะยังต้องรอดูกันต่อไปว่า ทางการจะค้นเจอพฤติกรรม ไม่ชอบมาพากลในการทำบัญชีของบริษัทหรือไม่ แต่อย่างน้อยขณะนี้ก็ดูเหมือนจะแน่ชัดแล้วว่า Messier และทีมงานของเขา ทำให้ สาธารณชนเข้าใจผิดในฐานะการเงินที่แท้จริงของบริษัท เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Vivendi นี้ไม่ต่างอะไรกับที่กำลังเกิดขึ้นกับ WorldCom บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกสอบสวนในพฤติกรรมตกแต่งบัญชีเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ที่กำลังอื้อฉาวไปทั่วโลกในขณะนี้นั่นเอง

Vivendi ไม่ใช่บริษัทยุโรปรายเดียวที่มีวิธีการทำธุรกิจที่ไม่ชอบมาพากล ในวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ความจริงก็ถูกเปิดเผยขึ้นอีกว่า ABB กลุ่มบริษัทวิศวกรรมสัญชาติสวิต-สวีเดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูง แต่วันนี้กลับค้นพบพฤติกรรมฉ้อฉลซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเลขรายได้ของบริษัทในปี 1999-2000 ถึงแม้ว่า ABB จะไม่จำเป็นต้องแถลงรายงานการเงินใหม่ เนื่องจากผู้สอบบัญชีภายในบริษัทเองที่เป็นผู้ค้นพบความผิด พลาดครั้งนี้ อันส่งผลให้ผู้จัดการหลายคนของบริษัทที่ประจำอยู่ใน ลอนดอน ต้องถูกไล่ออกสังเวยความผิด กระนั้นก็ตาม เรื่องอื้อฉาว นี้ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัท

ABB เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอุตสาหกรรมของครอบครัว Wallenberg แห่งสวีเดน เคยเป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทแบบยุโรปที่เน้นกิจการเจ้าของคนเดียว ซึ่งตรงข้ามกับบริษัทแบบอเมริกัน (และอังกฤษ) ที่นิยมกระจายความเป็นเจ้าของโดยอิงกับตลาดทุนเป็นหลัก แต่คงจะดีเกินไป เพราะในที่สุดก็ชัดเจนแล้วว่า บรรดาผู้จัดการของ ABB ต่างยอมทำผิดเพียงเพื่อปกป้องทรัพย์สินของเจ้าของบริษัทเท่านั้น นี่เป็นความจริงสำหรับบริษัทผลิตรถยนต์ Fiat ของอิตาลี ด้วยเช่นกัน Fiat ซึ่งเป็นกิจการของตระกูล Agnelli กำลังแบกภาระหนี้สินอย่างหนักและประสบปัญหาประสิทธิภาพการทำงานตกต่ำสุดขีด โดยเฉพาะในธุรกิจผลิตรถยนต์

ถ้าจะมีสิ่งที่ยุโรปพอจะภูมิใจได้มากกว่าสหรัฐฯ ก็เห็น จะเป็นการที่ธนาคารเริ่มแสดงอาการไม่เต็มใจที่จะอุ้มบริษัทที่มีปัญหาเหล่านี้แล้ว วันที่ 8 กรกฎาคม Babcock Borsig บริษัทวิศวกรรมแห่งหนึ่งของเยอรมนี ต้องล้มครืนลงหลังจากธนาคาร เจ้าหนี้ไม่ยอมปล่อยวงเงินกู้ก้อนใหม่มาต่อชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง กลับสะท้อนความจริงที่ว่า ยังคงมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกมากมายในยุโรปที่กำลังป่วยหนัก แต่กลับยังมีลมหายใจอยู่ได้ เพราะการอุ้มของธนาคารอันเป็นประเพณีปฏิบัติในยุโรปมานานนักหนาแล้ว

แต่ถึงแม้ธนาคารจะขอถอนตัว รัฐบาลยุโรปกลับไม่อาจ ตัดใจ Fiat ได้รับการเสนอช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลี ในขณะที่ France Telecom กับ Deutsche Telekom ซึ่งมีหนี้สินเป็นภูเขาเลากาและราคาหุ้นตกต่ำจนน่าใจหาย ก็ได้รับการคุ้มครองอย่างไม่เปิดเผยจากรัฐบาล รัฐบาลฝรั่งเศสดูจะไม่พยายามที่จะปฏิเสธข่าวลือที่ว่ารัฐบาลกำลังอุ้มบริษัทดังกล่าวเลย

บริษัทโทรคมนาคมอื่นๆ ของยุโรปยังมีปัญหาอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาบรรษัทภิบาลของยุโรป ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 9 กรกฎาคม บริษัท Telefonica ของสเปน ได้แถลงงบการเงินใหม่จากกำไรสุทธิ ประจำปี 2001 เป็นจำนวน 2.1 พัน ล้านเปเซต้า (1.9 พันล้านดอลลาร์) เป็นผลขาดทุน 7.2 พันล้านเปเซต้า ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนทั้งใน ตลาดนิวยอร์ก และ Madrid ซึ่งมีมาตรฐานบัญชีแตกต่างกัน ทำให้บริษัทต้องรายงานงบการเงินภายใต้มาตรฐานบัญชี 2 ระบบ

ทั้งนี้ ตามกฎของอเมริกัน ค่าของ goodwill ที่เกิดจากการซื้อกิจการจะไม่เสื่อมค่าเป็นเวลา 20 ปี ในขณะที่ตามกฎการบัญชีของสเปนกลับยอมให้มีการลดค่าลงได้ เดมเลอร์-ไครสเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน ชื่อดัง ก็ชอบสร้างความสับสนในทำนองนี้อยู่บ่อยๆ เพราะต้องรายงานงบการเงินตามมาตรฐานบัญชี 2 ระบบเช่นเดียวกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ราคาหุ้นของ Ahold ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติดัตช์ที่ทำธุรกิจใหญ่โตอยู่ในสหรัฐฯ ด้วย ถึงกับรูด มหาราช หลังจากที่นักลงทุนตกใจกับพฤติกรรมของบริษัท ที่พยายามจะเลิกใช้วิธีทำบัญชีตามมาตรฐานอเมริกัน และจะหันไปใช้วิธีการแบบยุโรปแทน

ล่าสุดนักลงทุนพากันตื่นตัวกับปัญหาบรรษัทภิบาล ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากความสับสนของมาตรฐานบัญชีที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ในยุโรปนั่นเอง บรรษัทภิบาล ที่ตกต่ำของบรรดาบริษัทจดทะเบียนใน Wall Street ทำให้ตาสว่างกันแล้วว่า มาตรฐานการทำธุรกิจของเมริกันหาได้เลิศเลอไปกว่ายุโรปอย่างที่เคยเข้าใจกันไม่

สำหรับผู้ที่เคยเถียงว่าทุนนิยมแบบยุโรปมีดีมากกว่าสหรัฐฯ ด้วยปัญหาที่บริษัทยุโรปกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ โปรดทราบว่า โอกาส ของยุโรปที่จะอวดความดีที่เหนือกว่าสหรัฐฯ นั้นได้หลุดลอยไปเสียแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.