|

แห่ชิงเค้กตลาดอนุพันธ์TFEXปิดรับ2ปีโบรกกรุงศรีตั้งบริษัทใหม่ดึงตปท.ถือหุ้น
ผู้จัดการรายวัน(29 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เกศรา" เผยวันนี้วันสุดท้ายรับสมัครโบรกฯ อนุพันธ์รอบแรก 15 รายเท่านั้น ขณะที่มียื่นใบสมัครมาถึง 20 กว่า ราย ส่วนใบสมัครมี 30 บริษัทขอไป ยืนยันพร้อมเปิดรับโบรกเกอร์ รอบ 2 ภายหลังจากที่เปิดซื้อขายแล้ว 2 ปี บง.กรุงศรีฯ เพิ่มทุน 300 ล้านบาทให้ บล. นำเงินส่วนหนึ่งไปตั้งบริษัทย่อย "อยุธยา ดิริฟวทีฟส์" ลุยเต็มสูบ ระบุเตรียม หาพันธมิตรต่างชาติเข้าร่วมถือหุ้น 25% ส่วน บล.ภัทร เผยเงินระดม ทุนไอพีโอส่วนหนึ่งใช้ลงทุนธุรกิจ อนุพันธ์
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย)(TFEX) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทตลาดอนุพันธ์ ได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ว่า หลังจากที่ตลาดอนุพันธ์เปิดทำ การซื้อขายเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว จะมีการเปิดรับโบรกเกอร์ใหม่อีกรอบหนึ่ง อย่างไรก็ตามถ้าภาวะการซื้อขายดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะเปิดรับสมัครโบรกเกอร์รอบที่สองเร็วกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าภายในปีแรกจะมีการซื้อขายไม่น้อย กว่า 1 พันสัญญา ดังนั้นการที่กำหนดในช่วงแรกที่จะให้มีโบรกเกอร์ 15 ราย นั้นก็เพื่อที่จะเข้ามาช่วยทำให้ตลาด อนุพันธ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นโบรกเกอร์ทั้ง 15 รายนั้นจะต้องทำงานอย่างหนัก
สำหรับการเปิดรับสมัครโบรกเกอร์ในรอบแรกนี้ ซึ่งจะหมด ระยะเวลาการยื่นใบสมัครภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้นั้น ปรากฏว่า ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทที่มารับใบสมัคร แล้วประมาณ 30 บริษัท และได้มายื่นใบสมัครแล้วเป็นจำนวนประมาณ 20 บริษัทเศษ คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้(29 ก.ค.)จะมีบริษัท มายื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์
ขณะนี้กำลังทบทวนในส่วนต่างๆ ว่าจะมีความพร้อมในการเปิดซื้อขายตลาดอนุพันธ์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ทันหรือไม่ หลังจากที่ได้มีการขยายเวลาการเปิดรับสมัครโบรกเกอร์ไปอีก 1 เดือน ซึ่งจะต้องพิจารณาในส่วนของระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงให้โบรกเกอร์มีการทดสอบการซื้อขาย ก่อนที่จะมีการซื้อขายจริง เกิดขึ้น
นายประนาท ชูโต กรรมการ บริษัทเงินทุน กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (AITCO) เปิดเผย ว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 300 ล้านบาทในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในบริษัท อยุธยา ดิริฟวทีฟส์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 25 ล้าน บาท ซึ่งบล.กรุงศรีอยุธยาจะถือหุ้น ไม่ต่ำกว่า 75%
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า การที่ตั้งบริษัท อยุธยา ดิริฟว- ทีฟส์ขึ้นมานั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับตลาดอนุพันธ์ และในอนาคตจะ มีการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีนักลงทุนต่างประเทศหลายแห่งที่เข้ามาติดต่อ เพื่อที่จะร่วมทุน
" นักลงทุนต่างประเทศมอง เห็นถึงความตั้งใจและความชัดเจน ในการทำธุรกิจตลาดอนุพันธ์ และที่สำคัญการที่บริษัทอยุธยา ดิริฟวทีฟส์เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นคนฝากเงินกับธนาคาร รวมถึงฐานนักลงทุนสถาบัน ซึ่งได้แก่บริษัทประกันภัย-ประกันชีวิตรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร"
ทั้งนี้หากมีพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น บล.กรุงศรี- อยุธยาก็จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาจากที่ถือ 100% แต่ต้องไม่น้อยกว่า 75% เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดไว้ อย่างไร ก็ตามการหาพันธมิตรไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะ ต้องการรอให้บริษัทดำเนินธุรกิจเสียก่อน รวมถึงจะต้องพิจารณาถึงพันธมิตรที่เข้ามาร่วมทุนจะต้อง เข้ากันได้ และสามารถเกื้อหนุนธุรกิจได้ด้วย
บริษัทอยุธยา ดิริฟวทีฟส์ได้แต่งตั้งให้นายนิทิต พุกกะณะสุต เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารงาน ส่วนพนักงานในด้านของแบ็กออฟฟิศนั้นในช่วงแรกก็ยังใช้คนของบล.กรุง-ศรีอยุธยาไปก่อน โดยที่ผ่านมาก็ ได้มีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจตลาดอนุพันธ์กับสำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้ยื่นสมัครขอเป็นโบรกเกอร์กับบริษัทตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางการ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์กล่าว
นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ภัทร จำกัด (มหาชน) (PHATRA) แจ้ง ว่า จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุน ทำให้บริษัทได้รับเงินจำนวน 1,577.05 ล้านบาท โดย บริษัทจะนำเงินจำนวน 2 ล้านบาท ไปใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ บริการการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และคาดว่าจะใช้เงินอีกจำนวนประมาณ 8 ล้านบาทภายในปี 2548
นอกจากนี้บริษัทได้ใช้เงินเพื่อ ธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และธุรกิจตราสารอนุพันธ์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและเตรียมความ พร้อมทั้งในด้านระบบ และบุคลากร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท
สำหรับเงินเพิ่มทุนส่วนที่เหลือ อีก 1,500 ล้านบาท บริษัทจะใช้รอง รับการทำธุรกิจอนุพันธ์ขยายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Proprietary Trading Department) และฝ่ายลงทุน (Direct Investment Department) ซึ่งบริษัทจะทำการ ลงทุนตามความเหมาะสมของธุรกิจ และสภาวะตลาดทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ของบริษัทเสริมฐานะเงินกองทุนเพื่อรองรับการขยายบริการของธุรกิจ วาณิชธนกิจและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และขยายฐานลูกค้าและเครือข่ายในการให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|