เอกชนรุมค้านค่าธรรมเนียมกทช.


ผู้จัดการรายวัน(29 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนเดินหน้าสับค่าธรรมเนียมกทช.โดยเฉพาะหลักการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ อาจมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรม ด้านทีโอทีชี้จุดอ่อน 3 เรื่อง ค่า USO ค่าเลขหมาย และค่าใบอนุญาต ส่วนดีแทคชี้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะทำให้กทช. มีรายได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาทที่มากเกินหลักการพอเพียง

เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดให้มีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประ-กอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรม-เนียมเลขหมายโทรคมนาคม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการ จัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยมีเอกชนที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรู ทีทีแอนด์ที บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวว่าจุดยืนของทีโอทีมี 3 ประเด็นคือเรื่องบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมนั้น (USO) ทีโอทีควรเป็นผู้ได้รับการชดเชยมากกว่าต้องจ่ายเงินจำนวน 4% ของรายได้ โดยปัจจุบันทีโอทีมีภาระ USO ประ-มาณปีละ 8.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่อง ที่กทช.จะต้องหาทางออกว่าจะจัดการอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อทีโอทีอยู่ในขั้น ตอนการเข้าระดมทุนในตลาดหลัก-ทรัพย์ฯ เพราะ USO เป็นเรื่องที่ทีโอทีเลิกไม่ได้ ต้องทำต่อไป ซึ่งก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ทีโอทีต้องการความชัดเจนในเรื่องนี้

กรณีมีนักลงทุนต่างชาติมาซื้อหุ้นทีโอที แล้วทีโอทีจะเลิกการให้บริการ USO ได้หรือไม่ หรือจะทำแค่ ของใหม่ เป็นโจทย์ที่กทช.ต้องตอบ

สำหรับเรื่องค่าเลขหมายนั้น ตามแผนของกทช.จะเก็บเลขหมายละ 1 บาทต่อเดือนเป็นตัวเลขที่ทีโอทีเห็น ว่าสูงเกินไป เพราะปัจจุบันมีเลขหมาย ที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 70 กว่าล้านเลขหมายหรือเท่ากับทีโอทีต้องจ่ายเดือนละกว่า 70 ล้านบาท หรือปีละเกือบ 1 พันล้านบาท

หลักการของกทช.ผมว่าไม่เมกเซนส์เท่าไหร่ คิดค่าบริหารระบบและคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ ผมว่ามันสูงเกินไป คิดเลขหมายละ 3 สตางค์หรือ 7 สตางค์จะเหมาะสมกว่า

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จัดเก็บระหว่าง 1-3% ซึ่งแบ่ง เป็น 3 ส่วน คือ ค่าใบอนุญาต ค่าแรก เข้า และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ เป็นอัตราที่สูงเกินไปและไม่เหมาะสม ควรคิดค่าแรกเข้า หรือคิดเป็นจุดของ เปอร์เซ็นต์จากอุตสาหกรรมทั้งระบบจะเหมาะสมกว่าแค่ 3 เรื่องก็ยากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคลื่นความถี่หรือเรื่องอินเตอร์คอน


นอกจากนี้ในวันที่ 1 ส.ค.ที่จะถึงนี้ทีโอทีจะมีการหารือกับกสท ในฐานะที่จะเป็น 2 หน่วยงานที่ได้รับใบอนุญาต ในประเด็นเรื่องค่าแอ็กเซสชาร์จว่าบริการซีดีเอ็มเอของกสทจะต้องเสียค่าแอ็กเซสชาร์จให้ทีโอทีด้วย หรือไม่ รวมทั้งอัตราที่ไม่ตรงกันในเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จหรือค่าเชื่อมโครงข่ายในบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ 001 ที่ทีโอทีเก็บอยู่ปัจจุบันนาทีละ 3 บาท แต่ กสท ต้อง การจ่ายเพียง 73 สตางค์ และบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศในระบบวอยซ์โอเวอร์ไอพี ที่ทีโอทีเก็บนาทีละ 1.50 บาทแต่กสทต้องการจ่ายเพียง 73 สตางค์ รวมทั้งต้องมีการชี้แจงในประเด็นเรื่องค่าแอ็กเซสชาร์จที่ทีโอทีเก็บเลขหมายละ 200 บาทว่าเป็นค่าธรรมเนียมรวมในส่วนของเลขหมาย ความถี่ ใบอนุญาต และบริการ USO ที่ทีโอทีรับภาระแทนคู่สัญญาร่วมการงานเอกชน

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานคอร์ปอเรต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการกทช. ใน 3 ประเด็น คือ

1.นโยบายการคิดค่าธรรมเนียม ในลักษณะเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายได้ อย่างกรณีดีแทคในการทำธุรกิจจะเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภาษีสรรพสามิต 11% (10+1 เป็นภาษีเทศบาล) ส่วนแบ่งรายได้ให้กสท 9% ค่าแอ็กเซสชาร์จ 18% หากรวมค่า USOของกทช.อีก 4% ค่าใบอนุญาตอีก 5% รวมๆแล้ว ดีแทคจะมีภาระประมาณกว่า 50% จากรายได้ ซึ่งทำให้มองว่าหลักการของ กทช.จะทำให้อุตสาหกรรมในภาพรวม เกิดความเสียหายมากกว่าเป็นผลดี


2.สิทธิและหน้าที่ของบริษัทคู่สัญญากับทีโอทีหรือกสท เพราะในทาง ปฏิบัติเอกชนภายใต้คู่สัญญาไม่ทราบ สถานะแท้จริงในมุมมองของกทช. ซึ่งจะสะท้อนถึงภาระต่างๆของผู้ให้บริการทั้ง 2 กลุ่มยังไม่เท่าเทียมกัน และ3.นโยบายการเงินของกทช.มุ่งจะรับใช้สังคมหรือมุ่งที่จะสร้างรายได้มากกว่า เพราะค่าธรรมเนียมต่างๆที่เก็บในลักษณะเป็นส่วนแบ่งรายได้เมื่อรวมๆกันแล้วประมาณ 10% ของรายได้ทั้งอุตสาหกรรม ที่ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท เท่ากับกทช.จะมีรายได้ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

"กทช.จะเอาเงินไปทำไมเกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี สมมติกทช.มีค่าใช้จ่ายปีละ 1 พันล้านบาท หากทำตัวเลขคาดเคลื่อนเผื่อไว้สัก 1.2 พันล้าน บาทก็ยังพอรับได้ แต่จากตัวเลขจะมี รายได้หลักหมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าไม่สมเหตุสมผล"

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูไนเต็ดคอม-มูนิเกชั่น อินดัสตรี หรือยูคอมกล่าวว่า กทช.ควรจะออกใบอนุญาตประเภทที่ 2 (มีและไม่มีโครงข่าย) ให้แก่ผู้ประ-กอบการที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานก่อนหากไม่สามารถออกใบอนุญาตประเภทที่ 3 ให้ได้เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกรายมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเรื่องต่างๆง่ายขึ้นด้วยสิทธิที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ในเงื่อนไขสัญญาร่วมการงานที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายมีสิทธิประโยชน์เหนือผู้ประกอบการในตลาด และยังมีสิทธิทางการเมืองเหนือกว่าอีกด้วย ซึ่งการไม่มีการแปรสัญญาร่วม การงานก็เท่ากับเกื้อหนุนผู้ได้ประโยชน์ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเกื้อหนุนดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้เกิดผลเสียต่อหน่วยงานของรัฐทั้ง 2 แห่ง เพราะจะมีกรณีฟ้องร้องตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนอกจากนี้ กทช.บางคนยังพูดว่าในโลกนี้ไม่มีความเท่าเทียมกันขนาดนิ้วมือของคนยังไม่เท่ากัน ดังนั้นจะมาเรียกร้องหาความยุติธรรมไปทำไม

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวย การอาวุโสสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า ใบอนุญาต ที่กทช.กำหนดไว้ในขณะนี้ยังไม่ครอบ คลุมกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดใน ประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ทั้งรายใหม่และรายเก่าไม่สามารถแยกได้ว่าจะขอใบอนุญาตประเภทใด เช่นบริการวอยซ์โอเวอร์ไอพี

ด้านนายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกทช.กล่าวถึงค่าธรรมเนียมต่างๆในการประชาพิจารณ์วานนี้ (28 ก.ค.) ว่า ผ่านการทำงานมาหลายขั้นตอน แล้วและคาดว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร

ที่ผ่านมานโยบายด้านโทรคม-นาคมถูกกำหนดโดยไม่เคยขอความเห็น ดังนั้น มาตรการต่างๆที่กทช.ออก มาคงทำให้ถูกใจทุกคนไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.