ส่งซิกคุมราคาน้ำมันส่ออันตรายผวาสกัดฮับไทย-ผุดโรงกลั่นใหม่


ผู้จัดการรายวัน(29 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มอุตสาหกรรมการกลั่นส.อ.ท.มึนหลังถูกสอบถามจากนักลงทุนต่างชาติหนักกรณีข้อเสนอ "โสภณ" ให้ควบคุมราคาน้ำมัน ขายปลีกในไทย หวั่นฉุดเชื่อมั่นกระทบแผนฮับน้ำมันและการตัดสินใจลงทุนโรงกลั่นใหม่ในไทยซึ่งกำลังตึงตัวและ 2 ปีข้างหน้าหากไม่มีโรงกลั่นใหม่จะทำให้ไทยต้องขาดดุลจากการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้น "สนพ" ยืนกรานจะรับข้อเสนอโสภณต่อเมื่อน้ำมันเกิดขาดแคลนเหมือน 25 ปีก่อนย้ำกลไกสิงคโปร์ที่ทำให้คนไทยใช้น้ำมันในราคายุติธรรม

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรม การกลั่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายโสภณ สุภาพงษ์ ส.ว.กทม. ได้ออกมานำเสนอผ่านสื่อมวลชนในการควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกในไทยโดยกำหนดให้ดีเซลลิตรละ 20 บาท และระบุว่ามีต้นทุนปลอมแฝงอยู่ถึง 3 บาทต่อลิตรนั้นส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันและนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมากสอบถามเข้ามาและสร้างความสับสนและเป็นอันตรายต่อการตัดสินใจลงทุนโรงกลั่นใหม่ในไทยที่รัฐบาลและปตท.กำลังดำเนินการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางค้าน้ำมันหรือฮับในภูมิภาคนี้อีกแห่งเช่นเดียวกับสิงคโปร์

"เราอยากเป็นศูนย์กลางเหมือน สิงคโปร์แต่เรากลับจะควบคุมราคาโดยไม่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด แล้ว เราจะเป็นฮับได้อย่างไรกัน และการลงทุนโรงกลั่นหนึ่งๆ ใช้เงินสูงมากกว่าแสนล้านบาทตอนนี้เห็นชัดว่าโรงกลั่นในไทยเริ่มตึงตัว บางครั้งเราต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ เข้ามาด้วยซ้ำทำให้เราขาดดุลการค้าอย่างมาก ซึ่งหากอีก 1-2 ปีนี้ไม่มีการตัดสินใจสร้างโรงกลั่นใหม่น้ำมันสำเร็จรูปจะขาดแคลนและจะทำให้เราต้องนำเข้าและขาดดุลการค้าอย่างมาก" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้อีก 2 ปีข้างหน้าเชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันในไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ลงทุนมองเห็นโอกาสในการตัดสินใจสร้างโรงกลั่นใหม่ และสถาบันการเงินเองก็จะมั่นใจว่าการปล่อยเงินกู้จะไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL แน่นอนเพราะความต้องการส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีจะเป็นปริมาณที่มากพอที่จะทำให้โรงกลั่นเกิดใหม่กลั่นมาแล้วมีตลาดรองรับแต่ในระยะปีนี้จนถึงกลางปีหน้าเชื่อว่าความ ต้องการน้ำมันยังมีส่วนเกินน้อยอยู่ทำให้โรงกลั่นในประเทศใช้วิธีขยายการกลั่นมากกว่าแต่การตัดสินใจลงทุนก็จะต้องมองเผื่อการก่อสร้างที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี สนพ.ชี้คุมราคาต่อเมื่อน้ำมันขาด
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้ อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวยืนยันว่า ตนจะยอมรับข้อเสนอของคุณโสภณ สุภาพงษ์ ในการควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันก็ต่อเมื่อน้ำมันเกิดขาดแคลนเหมือน 25 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีประสบการณ์เช่นเดียวกับคุณโสภณ เพราะตอนนั้นกลไกตลาดไม่ทำงานแล้วซึ่งนั่นคือเหตุการณ์พิเศษแต่หากใช้ในปัจจุบันที่น้ำมันไม่ขาดแต่มีราคาแพงไทยจะเสียหายยับเยิน

"ราคาสิงคโปร์เกิดจากการเจรจา ซื้อขายแต่ละวันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีใครไปกำหนดได้ ดังนั้นโรงกลั่นกำไรจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ซึ่ง 5 ปีที่แล้วโรงกลั่นขาดทุนหนักก็เพราะอิงราคาสิงคโปร์ไม่ใช่หรือ แต่ถ้าเราดึงมาควบคุมยิ่งจะเปิดโอกาสให้นักการเมืองและราชการเข้ามาพัวพันมากกว่าขณะนี้ที่เป็นการค้าเสรี" นายเมตตากล่าว

ทั้งนี้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยเทียบเพื่อนบ้านนับว่ามีราคาต่ำมากและยืนยันว่าเป็นราคาที่ยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมากรณีที่รัฐบาลได้เลือกตรึงราคาซึ่งเป็นแบบกึ่งควบคุมก็ยังถูกโจมตีอย่างหนักและต้องหันกลับมาอิงสิงคโปร์เพราะการใช้น้ำมันได้เพิ่มอย่างมากไม่มีการใช้อย่างประหยัดและล่าสุดจากการยกเลิกตรึงดีเซลเพียงแค่เดือนเดียวคนไทยได้ลดการบริโภคลงจากเดือนพ.ค.ใช้ดีเซล 58 ล้านลิตรต่อวัน มาเหลือ 55 ล้านลิตรต่อวันหรือประหยัดได้ถึงวันละ 3 ล้าน ลิตร น้ำมันครึ่งปีหลังยังสูง
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด กล่าวบรรยายสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันว่า การนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มสูงมากขณะนี้มาจากการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น และความวิตกกังวลกับการปรับราคาขายปลีกในประเทศ จากการดูตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำเข้าเพื่อนำมาใช้มากกว่าการเก็งกำไร เพราะบริษัทน้ำมันมีข้อจำกัดเรื่องคลังน้ำมัน ซึ่งการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการตรึงราคาดีเซลในช่วง 1 ปีเศษ จึงทำให้มีผู้หันมาซื้อรถยนต์เครื่องดีเซลเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การลอยตัวดีเซลจะส่งผลให้การนำเข้าลดลงทันทีหรือไม่นั้น คงจะต้องรอดูอีกสักระยะ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐจะมีมาตรการจำกัดการนำเข้าน้ำมันว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะไทยมีการค้าน้ำมันแบบเสรี โดยมีการนำเข้าน้ำมันบางส่วน และน้ำมันส่วนเกินที่ผลิตได้จากโรงกลั่นก็จะส่งออก หากจำกัดการนำเข้าจะทำให้ระบบการค้าบิดเบือนไปหมด ประกอบกับไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้พลังงานสูง หากน้ำมันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ดังนั้นรัฐต้องรอบคอบและศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนการจำกัดการนำเข้า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐ ควรเร่งทำคือ รณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้พลังงานเพราะไทยมีการนำเข้าน้ำมันสุทธิเกิน 500,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7-8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมีอัตราสูงที่สุดของประเทศในเอเชีย

" อย่ามุ่งแต่ประหยัดแล้วลดการใช้ แต่ต้องดูว่าลดการใช้แล้วคุ้มกับการลงทุน เช่น การประหยัดไฟฟ้า ควรที่จะประหยัดในช่วงบ่ายที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูง 1.50 บาทต่อหน่วย การประหยัดเที่ยงคืนไม่คุ้มกัน เพราะต้นทุนเพียง 60 สตางค์ต่อหน่วย เท่านั้น" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในครึ่งปีหลังนี้ ราคาจะทรงตัวในระดับสูงตามปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่กำลังส่วนเกินน้ำมันมีน้อย ยิ่งหากในตะวันออกกลางมีปัญหาการเมือง และโรงกลั่นก็อยู่ระหว่างการ ก่อสร้าง ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอยู่ ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาจะพุ่งสูงกว่านี้ถ้าเกิดสงคราม ในตะวันออกกลาง ปัญหาภัยธรรมชาติ โรงกลั่นหยุด สิ่งที่น่าจับตาคือราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ-จีนชะลอตัว เป็นปัจจัยที่จะกำหนดราคาช่วงครึ่งหลังของปี โดยในฤดูหนาวความต้องการในยุโรป-สหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น สวนทางกับเอเชียที่การใช้จะชะลอลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.