|

กทช.ห้ามดัมป์ราคาต่ำทุนเข้าทางเอไอเอส
ผู้จัดการรายวัน(29 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ใบอนุญาตใหม่กทช.ที่จะออกให้ทีโอทีและกสท ห้ามผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือดัมป์ค่าบริการต่ำกว่าทุน พร้อมห้ามเลือกปฏิบัติคิดค่าบริการลูกค้าแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน โทษปรับวันละ 2 หมื่นหรือถอนใบอนุญาต อ้างช่วงที่ผ่านมาแข่งกันจนอ่อนแอเกรงจะถูกต่างชาติฮุบ ดีแทคชี้มาตรการส่งผลดีกับเอไอเอส เพราะถ้าค่าบริการไม่ต่างกันมาก ลูกค้าแห่ไปใช้เอไอเอสเพราะแบรนด์และเครือข่ายที่แข็งแกร่ง "บุญชัย" ชี้สถานภาพผู้ให้บริการไม่เท่าเทียมกัน
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่าภายหลังจากที่กทช.ออกใบอนุญาตให้บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ในวันที่ 4 ส.ค.นี้แล้ว ผู้ที่สนใจ จะให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานสามารถมายื่นขอใบอนุญาตได้ทันที หลังจากนั้นภายในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้จะเปิดให้ขอใบอนุญาต ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือ 3G, บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (เกตเวย์) บริการด้านดาวเทียมสื่อสาร
กทช.กำลังพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตประเภทไหนให้ทั้ง 2 หน่วยงานนอก เหนือจากประเภท 3 ที่มีโครงข่าย ซึ่งใบอนุญาตจะครอบคลุมบริการทุกอย่างที่ทั้ง 2 หน่วยงานให้บริการก่อนพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 บังคับใช้ ส่วนบริการหลังจากนั้นจะต้องขอใบอนุญาตใหม่
ใบอนุญาตที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้รับจะ มีผลบังคับใช้ทันทีซึ่งรวมถึงบริษัทภายใต้สัญญาร่วม การงานอย่างเอไอเอส ดีแทค ออเร้นจ์ โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในหมวดสิทธิของผู้ใช้บริการ มาตรา 47 ที่ระบุว่าหากผู้ใช้บริการพบว่าผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการสูงกว่าที่ กทช. กำหนด หรือผู้ให้บริการรายอื่น หรือเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ใช้บริการสามารถขอดูข้อมูลจากผู้ให้บริการได้ นอกจากนี้มาตรา 66 ยังระบุอีกว่าผู้ให้บริการจะต้องแจ้งค่าบริการที่จะประกาศใช้ก่อนจะใช้จริงภายในระยะเวลา ที่กำหนดรวมทั้งเสนอต่อ กทช. เมื่อมีการเรียกขอด้วย หากผู้ให้บริการรายใดไม่ปฏิบัติตาม จะถูกปรับวันละ 2 หมื่นบาท หรือในกรณีร้ายแรงจะเพิกถอนใบอนุญาตทันที
ตามกฎหมายดังกล่าวจะทำให้แนวการตลาดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถดัมป์ราคาจนต่ำกว่าต้นทุนได้ ค่าบริการประเภทนาทีละ 25 สต. 50 สต.หรือ 1 บาทจะไม่มีอีกต่อไป
นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกทช.กล่าวว่า การเล่นสงครามราคาในช่วงที่ผ่านมาทำให้รายได้ต่อเลขหมายของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือลดลง ซึ่งภาพรวมของอุตสาหกรรมเกิดความอ่อนแอขึ้น กทช.ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันกันรุนแรงจนกระทั่งผู้ประกอบการในประเทศอยู่ไม่ได้ เพราะอัตราค่าบริการบางประเภทต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงกับสินทรัพย์หรือการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการรุกเข้ามาของต่างชาติ
"สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหากมีการดัมป์ราคารวมทั้งการกำหนดราคาที่สูงเกินเพดานที่กทช.กำหนดหรือต่ำ กว่าต้นทุนของธุรกิจจะเป็นสิ่งที่ผิด มีบทลงโทษในหลักการหมายความว่า บริการประเภทเดียวกันในบริษัทหนึ่งจะต้องให้ความเสมอภาคต่อลูกค้าของตัวเอง ไม่สามารถให้อัตราค่าบริการกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น"
ตัวอย่างคือ บริษัทผู้ให้บริการมือถือรายหนึ่งสามารถมีค่าบริการที่แตกต่างกันระหว่างระบบโพสต์เพดกับพรีเพดได้ แต่ลูกค้าทุกรายในระบบโพสต์เพดหรือระบบพรีเพด ต้องเสียค่าบริการเท่ากัน ส่วนผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายก็สามารถมีค่าบริการ ที่แตกต่างกันได้ แล้วแต่ต้นทุนในการให้บริการ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ นาทีละ 3 บาทและต้องไม่ดัมป์จนต่ำกว่าต้นทุน
นายสุธรรมกล่าวว่า หลักการดังกล่าวไม่จำเป็น ว่าบริษัทที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์เสมอไป แต่อยู่ที่ใครมีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากันต่างหาก อย่างไรก็ตามหากเอกชนรายใด อ้างว่าต้นทุนธุรกิจไม่เท่าเทียมเพราะมา จากสัญญาสัมปทาน เช่นมีค่าแอ็กเซสชาร์จก็ให้เอกชน ไปฟ้องศาล และได้ผลอย่างไร กทช.ก็จะดำเนินการตามคำตัดสินของศาล
"เราไม่อยากเห็นต่างชาติเข้ามาฮุบกิจการ เพราะการดัมป์ราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน เพราะบางแพก-เกจค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนอย่าง 25 หรือ 50 สตางค์ ซึ่งต่อไปหากมีผู้ใช้บริการร้องเรียนไม่ได้รับค่าบริการ ที่เท่าเทียมกัน กทช.จะเป็นพิจารณาลงโทษตามกฎหมายระบุไว้"
ทั้งนี้ ภายหลังจากใช้มาตรการดังกล่าวค่าบริการจะเป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่ในลักษณะปัจจุบันที่มีการนำค่าบริการจากลูกค้ากลุ่มหนึ่งไปอุดหนุนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง
ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านพาณิชย์ ดีแทคกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีกับเอไอเอส เพราะหากค่าบริการ ไม่มีความแตกต่างกันมาก ลูกค้าจะหันไปใช้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เชื่อว่าเครือข่ายมีคุณภาพดีที่สุด รวมทั้งมีแบรนด์ที่แข็งแรง ส่วนผู้ให้ บริการรายเล็กที่อาศัยการใช้กลยุทธ์ราคาในการสร้าง ฐานลูกค้า จะได้รับผลกระทบพอสมควร "ปัญหาอีก อย่างคือต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ จะคำนวณอย่างไร"
นายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะฝ่ายกฎหมาย บริษัท ทรูคอร์ปอเร-ชั่นกล่าวว่า ในเรื่องค่าบริการที่ไม่เลือกปฏิบัติ กทช. รวมถึงการทำเซกเมนเตชันอย่างการคิดค่าบริการในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากันนั้นกทช.อาจคิดผิด และอาจ แม้เมื่อมีการฟ้องร้องในขั้นศาล
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (UCOM) เปิดเผยว่า ปัญหาที่ยังเป็นห่วงสำหรับการ เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในขณะนี้ คือ เรื่องความ ไม่เท่าเทียมกันของสถานภาพของแต่ละบริษัทเอกชน ที่เป็นผู้ให้บริการ
ตราบใดที่ กทช. ยังไม่ดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานให้บริษัทเอกชนที่ยังมีสัญญาเดิมผูกพันอยู่ก่อน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันระหว่างเอกชน ด้วยกันเองเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบและเลื่อมล้ำซึ่งกันและกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|