การรุกคืบครั้งใหญ่ของค่ายแกรมมี่


ผู้จัดการรายวัน(20 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

สัมภาษณ์พิเศษ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

"ผลประกอบการของแกรมมี่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดจำหน่ายวีซีดีเพิ่มขึ้น 430% ส่วนซีดีมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 160% หรือถ้าคิดเป็นรายได้ของธุรกิจเพลงของแกรมมี่ มี 1,330 ล้านบาทเศษ เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 42.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นี่คือผลที่ชัดเจนจากการรณรงค์จากทั้งผู้บริโภคและร้านค้า"

นับเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของการร่วมแรง ร่วมใจของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ แกรมมี่ และอาร์เอส ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่จัดงานครั้งใหญ่ในมหกรรมคอนเสิร์ตถูกใจคนไทยร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมายที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง ผลจากการจัดงานในครั้งนี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษผู้จัดการรายวัน ดังนี้

การจัดงานมหกรรมคอนเสิร์ต "ถูกใจคนไทยร่วมใจ ใช้สินค้าถูกกฎหมาย" ได้รับผลอย่างไรบ้าง

ในการจัดมหกรรมคอนเสิร์ต "ถูกใจคนไทยร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมาย" ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 17-18 สิงหาคมที่ผ่านมา เรามีกิจกรรมอื่นๆนอกเหนือจากงานคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในช่วงเย็นจนถึงเที่ยงคืน โดยในบริเวณงานที่ท้องสนามหลวงจะมีการจัดนิทรรศการผลงานที่เกี่ยวข้องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น บริษัทผู้ผลิตเพลง ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ และสินค้าต่างๆ ได้มาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ได้ซื้อสินค้าถูกกฎหมาย

ในวันแรกที่นายกรัฐมนตรีมาเปิดงาน ได้มีพิธีการทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่จับกุมมาได้ โดยในเช้าวันอาทิตย์ ได้ทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 3 แสนชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

จากการรณรงค์ในครั้งนี้ประชาชาวไทย รับรู้เรื่องการใช้สินค้าถูกกฎหมายมากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่านอกเหนือจากการจัดงานคอนเสิร์ตในช่วง เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ในตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ที่ทางภาครัฐและเอกชน ออกมารณรงค์ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การ ใช้สินค้าที่ถูกต้องลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในช่วงหลังการละเมิดสินค้าประเภทซีดีและวีซีดี มีการปลอมเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่แกรมมี่ได้ปรับลดราคา ซีดี วีซีดี จาก แผ่นละ 290 บาท เหลือเพียง 155 บาท และในความเป็น จริงผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้เพียงแผ่นละ 130 บาท เท่านั้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุนทั้งการตรวจสอบ จับกุมโรงงานผลิต ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าละเมิด การออกกฎระเบียบให้ทางร้านค้าที่จะจำหน่ายเทป ซีดี วีซีดี ต้องมาขออนุญาต จดทะเบียบกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ผลจากการรณรงค์ เป็นเช่นไรบ้าง

ในส่วนของแกรมมี่ ก็คืบหน้าไปในทางที่ดี ผลประกอบการ หรือในกรณีของร้านค้าก็หันมาขายสินค้าที่ถูกกฎหมายมากขึ้น เช่น ผลประกอบการของแกรมมี่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เรามียอดจำหน่ายวีซีดีเพิ่มขึ้น 430% ส่วนซีดีมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 160% หรือถ้าคิดเป็นรายได้ของธุรกิจเพลงของแกรมมี่ มี 1,330 ล้านบาทเศษ เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 42.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นี่คือผลที่ชัดเจนจากการรณรงค์ จากทั้งผู้บริโภคและร้านค้า

โครงสร้างราคาที่ลดลงมาแล้วเหมาะสมหรือไม่ และ ยังลดราคาลงมาได้อีกไหม

เวลาที่เรามองเรื่องโครงสร้างราคาว่า เทปผีซีดีเถื่อน ต้นทุนวัตถุดิบจริงๆ คือ แผ่น ราคาประมาณ 10 บาท ในโครงสร้างราคาของซีดีเถื่อน จะไม่มีต้นทุนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ แต่ของแกรมมี่ เรามีพนักงานประจำกว่า 2,000 คน กว่าจะผลิตผลงานออกมา 1 อัลบั้ม มีต้นทุนความคิดสร้างสรรค์ ศิลปิน ต้นทุนด้านการตลาด และกระจายสินค้า แต่ของเถื่อนจะมีต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบ บวกกับ ต้นทุนกระจายสินค้า และการจ่ายเงินนอกระบบเพื่อให้ เขาสามารถอยู่ได้ เพราะฉะนั้นการปรับราคาลงมาอีก เราอาจแข่งขันกับสินค้าที่ละเมิดได้ แต่เรายังมีต้นทุนอื่นๆอีกที่ทำให้เราไม่สามารถปรับราคาลงมาได้มากกว่านี้

กิจกรรมจากนี้ไปจะมีอะไร

ยอดจำหน่ายซีดีและวีซีดีที่เพิ่มขึ้น ทำให้แกรมมี่ตั้งโรงงานผลิตเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบและทำให้บริษัทมีความมั่นใจได้ 100% ในการควบคุมการผลิตไม่ให้รั่วไหล ในขณะที่การทำงานกับภาครัฐก็ยังร่วมมือกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งเราจะออกไปรณรงค์ในต่างจังหวัดด้วย หลังจากที่แกรมมี่แยกธุรกิจมีเดีย ออกจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แล้ว จะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทอย่างไรบ้าง

แกรมมี่มีธุรกิจที่หลากหลาย แต่เพลงยังถือเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนของรายได้ประมาณ 55% ในขณะที่ธุรกิจที่ใหญ่เป็นที่สองคือ มีเดีย ซึ่งประกอบด้วย รายการโทรทัศน์ วิทยุ 5 คลื่น และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น พ็อกเก็ตบุ๊ก และนิตยสารอิมเมจ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่จะนำธุรกิจมีเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 30% เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังถือหุ้นอยู่ 80% และกระจายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป 20% ซึ่งจะทำให้การบริหารงานมีความชัดเจน โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ยังมีธุรกิจเพลงเป็นหลักและมีธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจอินเทอร์เน็ต ที่ยังรวมอยู่ด้วย

ทิศทางของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จะเป็นอย่างไรในอนาคต

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ยังคงทำเพลงต่อไป ประกอบ ด้วยศิลปินในเครือกว่า 300 คน เราสามารถผลิตผลงานเพลง รวมทั้ง มิวสิค ไลบารี่ ซึ่งเป็นงานเพลงที่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้อีกกว่า 1 หมื่น เพลง และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนจีเอ็มเอ็ม มีเดีย เราจะผลิต รายการ โทรทัศน์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่วนวิทยุเรามี 5 คลื่น จะมีความชัดเจนในกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้เรายังเตรียมความ พร้อมในการขอสัมปทานสื่อโทรทัศน์และวิทยุหลังจากมีการจัดตั้ง คณะกรรมการกสช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเข้าไปบริหารสื่ออย่างเต็มรูปแบบ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.