|

ไทยตั้งเงื่อนไขปิด FTA ญี่ปุ่นต้องทลายกฎสินค้าเกษตร
ผู้จัดการรายวัน(27 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยตั้งเงื่อนไขปิดรอบการเจรจาเอฟทีเอญี่ปุ่น ย้ำต้องให้ไทยบ้าง ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาขออย่างเดียว หลังไทยยอมถอย ทั้งการเปิดเสรีเหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ ระบุญี่ปุ่น ต้องปรับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้สินค้าเกษตรไทยเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่สักแต่ลดภาษี แต่ ยังมีเงื่อนไขปิดกั้น "พิศาล" เตรียมฟังคำตอบญี่ปุ่นศุกร์นี้ ถ้าพอใจถึงจะคุยต่อในสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการ เพิ่มขึ้น ก่อนส่งไม้ต่อให้ "สมคิด" ถกรัฐมนตรีเมติอาทิตย์นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมคณะทำงานจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) วานนี้ (26 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เป็นการหารือเพื่อจัดทำรายละเอียดต่างๆ เพราะวันอาทิตย์นี้รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) จะมาหารือในราย-ละเอียดร่วมกันอีกครั้ง และจะพยายามสรุปให้ได้
นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้ แนวทางชัดเจนว่าการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นจะเดินไปในทิศทางไหนเพื่อให้ เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ตามแนวทาง ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำไว้ในการหารือร่วมกับนายโยอิชิ โอกุดะ ประธานสหพันธ์ภาคธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเร็น) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าการทำเอฟทีเอต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ แนวทางการเจรจาในส่วนของสินค้าเกษตร ปัจจุบันมีการพูดกันในญี่ปุ่นว่าการเจรจาจบแล้ว แต่ขอยืนยันว่ายังไม่จบ เพราะสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ไทยต้องการจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูปกว่า 500 รายการ ที่ญี่ปุ่นยอมเปิดเสรีให้แก่ไทย แต่กลับมีปัญหาเรื่องการกำหนดกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องมีการเจรจาต่อ
"ผมได้เรียนให้รองนายกฯ สมคิดทราบว่า การเจรจาที่ผ่านมาที่บอกว่าสินค้าเกษตรเจรจาจบแล้ว แต่จริงๆ มันยังไม่จบ เพราะญี่ปุ่นยอมที่จะลดภาษีให้ก็จริง แต่ยังมีเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้ามากั้นอีก ชั้นหนึ่ง เหมือนกับเปิดประตูให้เราเข้าไปแล้ว แต่กลับมีประตูอีกชั้นกั้นไว้ อย่างนี้แม้จะลดภาษี แต่เข้า ไม่ได้ เรารับไม่ได้" นายพิศาลกล่าว
ดังนั้น ในวันศุกร์ที่ 29 ก.ค.นี้ จะมีการหารือกับรองปลัดกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ก็จะขอให้ญี่ปุ่นมีคำตอบในเรื่องสินค้าเกษตรว่าจะเอายังไง จะยอม รับในเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยเสนอหรือไม่ รวมไปถึงข้อเรียกร้องของไทยที่ขอให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีสินค้าเกษตรให้ไทยเพิ่มเติม เช่น กุ้ง เพราะญี่ปุ่นไปทำเอฟทีเอกับเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ก็มีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรอีกหลายรายการ
นายพิศาลกล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นที่ต้องการให้ไทยเปิดเสรีในกลุ่มของสินค้าเหล็ก ชิ้นส่วนยานยนต์ และรถยนต์ซีซีสูงนั้น ไทยมีคำตอบไว้ ให้ญี่ปุ่นแล้ว โดยสินค้าเหล็กจากการหารือกันในช่วง ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นแสดงความพอใจ เพราะไทยพร้อมที่จะเปิดเสรีโดยเหลือ 0% ทันทีบางรายการ เหลือ 0% ในปีที่ 8 และปีที่ 10 บางรายการ และบางรายการจะมีโควตานำเข้า โดยทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในด้านต่างๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ผลิตสินค้าที่ยังแข่งขันไม่ได้ ก็ได้รับการดูแล
สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยพร้อมที่จะเปิดเสรีตามที่ญี่ปุ่นต้องการ โดยขณะนี้ยังยืนยันที่จะลดภาษีภายใน 7 ปี แต่ญี่ปุ่นต้องการให้เร็วขึ้น ซึ่งไทยจะถามญี่ปุ่นว่าการลดภาษีให้เร็วขึ้นนั้น ไทยจะได้รับประโยชน์อะไร โดยในเบื้องต้น ทางญี่ปุ่นระบุว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในราคาที่ถูกลง และนำมาใช้ในการผลิตเป็นรถยนต์สำเร็จรูปเพื่อส่งออก รวมทั้งพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย การพัฒนาสนามทดสอบ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ในส่วนของรถยนต์ ที่ญี่ปุ่นต้องการให้มีการยกเลิกภาษีรถยนต์สำเร็จรูปทั้งขนาดต่ำและสูงกว่า 3000 ซีซี ภายในปี 2553 ขณะนี้ไทยยังไม่เห็นคำตอบว่าจะเกิดประโยชน์อะไรต่อไทยที่จะมีการลดภาษีในส่วนนี้ ซึ่งก็จะรอดูคำตอบของญี่ปุ่นในการพบกันวันศุกร์นี้
ตอนนี้เรื่องเหล็ก เราได้ข้อยุติแล้ว เรื่องชิ้นส่วน ยานยนต์ รถยนต์ก็มีแนวทางชัดเจน โดยอะไรที่เราพร้อมจะเปิดก็เปิดให้ ที่ยังไม่พร้อม ก็จะยังไม่เปิด และต้องให้เวลาเอกชนของเราปรับตัวด้วย แต่ถ้าญี่ปุ่น ต้องการให้เราเปิดเสรีมากขึ้น ญี่ปุ่นก็ต้องตอบข้อเรียก ร้องของไทยในเรื่องสินค้าเกษตรก่อนว่าจะออกมา ยังไง ถ้าเราพิจารณาแล้วพอใจ และเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ประเทศ ถึงจะไปคุยในส่วนที่ญี่ปุ่น ต้องการเพิ่มขึ้น นายพิศาลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาทั้งหมดนี้ จะสรุปเพื่อเสนอให้นายสมคิดนำไปใช้ในการหารือกับรัฐมนตรีเมติในวันอาทิตย์นี้ต่อไป และหากไม่มีปัญหา คาดว่าไทยและญี่ปุ่นจะประกาศว่าการทำเอฟทีเอประสบผลสำเร็จได้ภายในเดือนนี้อย่างแน่นอน ส่วนการลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร โดยอาจจะเป็นช่วงเดือนเม.ย. 2549
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|