|
กรุงไทยทำการบ้านใหม่เร่งศึกษาช่องทางลงทุนต่างประเทศ
ผู้จัดการรายวัน(27 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากย้อนมองภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของธุรกิจกองทุนรวม หลายคนคงทราบดีว่ามีปัจจัยต่างๆ เข้ามารุมเร้าตลอดเวลาทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยลบจะกระทบภาพรวมการลงทุนอย่างรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และฉุดการลงทุนในหุ้นชะลอตัวตามไปด้วย ขณะที่เรื่องดีนั้น ดูเหมือนจะมีเพียงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเรื่องเดียวเท่านั้นที่ส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้
ฉบับนี้ "ผู้จัดการรายวัน" มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารคนสำคัญจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัดถึง 2 ท่าน นั่นคือ ธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน และ กฤษณ์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งทั้ง 2 ท่านถือว่า เป็นบุคคลที่มีบทบาทด้านการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตราสารหนี้ โดยวันนี้จะเป็นการพูดคุยถึงภาพรวมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมารวมไปถึงแนวโน้มของตลาดในช่วงครึ่งปีหลังด้วย
ธีรพันธุ์ กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในครึ่งปีหลังว่า เราจะเห็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หันมาออกหุ้นกู้กันมากขึ้น แต่จะเป็นการออกหุ้นกู้ ในลักษณะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอาจจะได้ดอกเบี้ยถูกกว่า และมีการพิจารณาถึงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย อีกทั้งสามารถออกหุ้นกู้ในมูลค่าที่สูง ซึ่งจะช่วยให้การขายทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน นอกจากนี้ การที่เป็นธุรกิจที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ก็จะมีส่วนช่วยให้หุ้นกู้ดังกล่าวขายได้ง่ายขึ้นด้วย
โดยหลังจากนี้ ธุรกิจแบงก์จะเริ่มดีขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งธนาคารเองมีนโยบายขยายสินเชื่ออยู่แล้ว เพราะบริษัทจดทะเบียน ที่มีเรตติ้งต่ำกว่าระดับ BBB+ ลงไปและบริษัทที่มีเครดิตระดับสูงกว่า A ขึ้นไป จะหันมากู้แบงก์มากขึ้น เพราะดำเนินการง่ายและได้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้วการลงทุนในตราสารหนี้อาจจะไม่คึกคัก และเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก โดยจะเน้นอายุ 1 ปี และไม่เกิน 2 ปี จากการที่มีสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น การออกพันธบัตรมาดูดสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากนี้ ยังมีกองทุนน้ำมัน 80,000-90,000 ล้านบาท ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย
การบ้านที่เราต้องทำ และกำลังศึกษาอยู่ คือ การลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เรากำลังพิจารณาดูสินค้าอยู่ประมาณ 4-5 ตัว โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีความซับซ้อนบ้างแต่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมั่นคง และถือเป็นการเปิดทางการลงทุนใหม่ให้แก่ผู้ลงทุน และเริ่มปูพื้นฐานทางความรู้ให้แก่ลูกค้า ซึ่งถ้าหากได้รับความสนใจในระดับที่น่าพอใจก็อาจจะมีกองใหม่ตามมา
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีการดูไว้ทั้งตราสารหนี้ด้วย ส่วนจะเป็นการลงทุนที่ไหนอย่างไรนั้น ยังไม่มีรายละเอียด เพราะอยู่ระหว่างการศึกษา โดยบริษัทได้แสดงความจำนงในการจัดตั้งกองทุนต่างประเทศ (FIF) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว มั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งและเปิดขายหน่วยลงทุนได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน
สำหรับกองทุนในประเทศ ในส่วนของกองทุนหุ้นเชื่อว่ายังมีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นทั้งการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะตลาดยังมีดีมานด์อยู่ ส่วนกองทุนตราสารหนี้ก็จะมีการพิจารณาเป็นรายเดือนไป เพื่อประเมินสถานการณ์ของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
ธีรพันธุ์ กล่าวว่า การลงทุนในตลาดอนุพันธ์ เป็นอะไรที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการเข้าไปลงทุนในมุมของการป้องกันความเสี่ยง เนื่อง จากการลงทุนดังกล่าวมีความผันผวนและความเสี่ยงต่ำ ส่งผลไปถึงการลงทุน ในหุ้นซึ่งจะมีความผันผวนต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้ความรู้แก่ ผู้ลงทุนอีกมาก เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ นักลงทุนไทยยังขาดความรู้ในจุดนี้
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลงทุนยังคงผันผวนไปอีกในระยะ 2 ปีข้างหน้าตามตลาด เราจะเน้นการลงทุนแบบระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเป็นแผน ที่จะคอยรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าการขยายตัวในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 10% เนื่องจากยังมีเงินเหลือทั้งระบบอีกกว่า 30,000 ล้านบาท ที่จะเข้ามาในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากระบบบำเหน็จบำนาญเดิม
ธีรพันธุ์ กล่าวย้ำว่า ภาพรวมการลงทุนทั้งหมด มองว่าจะขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมันจะสะท้อนไปถึงอัตราดอกเบี้ย เงิน เฟ้อ และสะท้อนถึงต้นทุนการจัดการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการแข่งขันของธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ที่มีแม่เป็นแบงก์ก็อาจจะได้เปรียบมากกว่า ซึ่งบลจ.กรุงไทยเองการที่มีธนาคารกรุงไทยเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ จากฐานลูกค้าที่มีกว่า 9 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมาผู้ลงทุนของเราเป็นลูกค้าแบงก์ถึง 90%
นอกจากนี้ ภายหลังจากเกิดสถาบันประกันเงินฝากแล้ว เงินจะไหลเข้ามา ลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น คนที่ไม่มีแบงก์ช่วยหนุนก็อาจจะเสียเปรียบ นอก เหนือจากโปรดักต์นั้นจะดีจริงๆ ส่วนบริษัทที่มีบริษัทแม่เป็นบริษัทในต่างประเทศ ก็คงต้องรอให้มีการเปิดเสรีเพื่อเปิดทางให้บริษัทแม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ธีรพันธุ์ กล่าวถึงภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้นกับการลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้น (บี/อี) ว่า จากหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ออกมาบังคับใช้หลังจากเกิดปัญหาการชำระหนี้ล่าช้าของบริษัทจดทะเบียนรายหนึ่ง ทำให้ลงทุนตรงนี้ทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลทำให้บี/อีหมดไปในช่วงปีนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนเองก็ยังกังวลอยู่ แต่อาจรอไปจนถึงปีหน้า ว่าระหว่างการบังคับใช้จริง 1 มกราคม 2549 จะมีผลกระทบที่มาจากการผิดชำระหนี้อีกหรือเปล่า เพราะมันจะส่งผลไปถึงตลาดหุ้นด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม พอถึงช่วงสิ้นปี เชื่อว่าก.ล.ต.จะมีการประเมินและพิจารณา ถึงข้อดีข้อเสียอีกครั้ง และจะมีการปรับปรุงให้ผ่อนคลายลงและนำมาใช้อีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า
ทั้งนี้ ตั๋วบี/อีและหุ้นกู้ เป็นตราสารที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ซึ่งกฎ ก.ล.ต.ที่ออกมา เหมือนเป็นการเอากฎที่ใช้กับการออกหุ้นกู้เข้ามาควบคุมเพื่อ ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้บริษัทเอกชนหันไปกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และจะทำให้ธนาคารได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ขึ้นมา และเราเองก็มองใน 2 มุม คือ วินัยทางการเงินของบริษัทเอกชนจะเริ่มดีขึ้นและการคล่องตัวของตลาดลดลงเพราะข้อจำกัดดังกล่าว
ขณะที่ กฤษณ์ กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนของตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีแรกว่า ถ้ามองภาพในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ช่วงไตรมาสแรกของปีดอกเบี้ยเริ่มขยับตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในบ้านเราอาจจะช้ากว่าดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไปบ้าง ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยก็ยังห่างเช่นเดิม แต่เริ่มที่จะกว้างขึ้นจากการที่ธปท.ไม่ได้ขยับดอกเบี้ยตามในรอบก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. ส่งผลให้ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น ดังนั้น กองทุนรวมจึงหันมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นด้วย
โดยในไตรมาสที่ 2 ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากซัปพลายของตราสารที่ออกมามากจากการออกตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคาร แห่งประเทศไทย ที่ต้องการดูดสภาพคล่องในระบบออกไป
ในส่วนของดีมานด์หรือความต้องการของผู้ลงทุน ก็มีเพิ่มขึ้นมาในตลาดเช่นกัน ซึ่งมีผู้เล่นจากธนาคารพาณิชย์เข้ามามากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่มากนัก จึงกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ นอก จากนี้ กลุ่มบริษัทประกันยังมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้อีกประมาณเดือนละ 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลให้ผลตอบแทนของตราสารระยะยาวปรับลดลงมา
นอกจากนี้ ยังมีการเข้ามาลงทุนของพันธบัตรเอเชีย (เอเชียบอนด์) 1 และ 2 ที่ไม่มีข้อจำกัดในการลงทุน สามารถไถ่ถอนได้ตลอดเวลาหรือจะถือยาวก็ได้ ซึ่งมีผลให้ผลตอบแทนระยะยาวปรับลดลงมาจนถึงช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม ธปท. มีแผนที่จะออกพันธบัตรมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท เพื่อมาดูดสภาพคล่องในระบบ ซึ่งสะท้อนถึงผลตอบแทนของตราสารหนี้ลดลงมามาก ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนเห็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยชัดเจนขึ้นก็มีการเทขายทำกำไรออกมา
โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมาผลตอบแทนของพันธบัตรในตลาดมีการ ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้าแล้ว 0.40 สตางค์ เป็นการกดดันว่าถ้าธปท.จะขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นก็ต้องขึ้น 0.50% แต่ตลาดยังคาดการณ์ว่า อาร์/พี น่าจะขึ้นไปในระดับใกล้เคียงกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฯฐหรือเฟด ซึ่ง มีแนวโน้มว่า ธปท.อาจจะปรับให้เท่ากันหรืออาจจะมากกว่าเฟด
"เรามองว่า 0.50% เนื่องจากตลาดมีการปรับไปรอแล้วล่วงหน้า เชื่อว่าไปจนถึงสิ้นปีนี้ ธปท.จะขึ้นอีก 1% จากนี้ไปเป็น 3.5% ในช่วงสิ้นปี"
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ลงทุนเองจะให้ความสนใจตราสารระยะสั้นอายุไม่เกิน 2 ปี ซึ่งมีปริมาณที่ออกมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามองไปที่ผู้ลงทุนที่เป็นแบงก์จะเริ่มหายไป เนื่องจากสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงแล้วและมีเม็ดเงินลงทุนใหม่น้อยลง ทำให้กองทุนรวมจะเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น แต่เม็ดเงินลงทุนจะไม่สามารถแทนที่เม็ดเงินแบงก์ได้ ขณะที่ผู้ฝากเงินแบงก์ก็จะมีทางเลือกในการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับตนเองและเหมาะสมกับเงินฝากมากขึ้น รวมทั้งจะมีการแข่งกับแบงก์อีกทางด้วย
กฤษณ์ กล่าวว่า พอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ของบลจ.กรุงไทย ปัจจุบัน อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 85% กองทุนรวม ซึ่งมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะ ทั้งในกองทุนรวมผสม กองทุนตราสารหนี้ประมาณ 20% โดย ส่วนใหญ่ไปอยู่ในตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะว่ามุมมองของเราคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแล้ว แต่จากผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งไข้หวัดนก เหตุการณ์ภาคใต้ ทำให้ดอกเบี้ยยังไม่ขยับ แต่ในช่วงนี้เริ่มเห็นการขยับแล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรกบริษัทก็มีการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว ที่เป็นการซื้อขายออกมาเป็นระยะสั้นๆ
สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง จากการที่ผลตอบแทนในช่วงแรกยังขึ้นอยู่กับรอบ การปรับ อาร์/พี ของ ธปท. คือเน้นการลงทุนในตราสารสั้นๆไม่เกิน 2 ปี ถ้า ขึ้นในระดับที่เราคาดการณ์ไว้คืออีก 1% ในช่วงที่เหลือของปี ก็จะเน้นลงทุนทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบลจ.กรุงไทยเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ไปแล้ว 5 กองทุน ซึ่งขณะนี้มีพอร์ตการบริหารรวมกันประมาณ 3,000 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|