|
Yasukuni & Koizumi
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากภูเขาไฟฟูจิ (Fuji-san) เป็นสถานที่ที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น Yasukuni Jinja หรือ Yasukuni Shrine ก็มีสถานะไม่ไกลจากการเป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมและการสร้างชาติของญี่ปุ่น ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์และกล่าวถึงมากที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 1869 ในฐานะอนุสรณ์สถาน Tokyo Shokonsha เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับกองกำลังที่สูญเสียชีวิตในสงครามกลางเมือง Boshin Civil War (1867-1868) ที่มีผลต่อการโค่นล้มการปกครองแบบโชกุนของกลุ่ม Tokugawa และติดตามมาด้วยการหวนคืนสู่การสถาปนาระบอบจักรพรรดิ (Meiji Restoration) ก่อนที่จักรพรรดิ Meiji จะเปลี่ยนชื่ออนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็น Yasukuni ซึ่งมีความหมายว่า "นำสันติภาพมาสู่ชาติ" (bringing peace to nation) ในอีก 10 ปีต่อมา
War Memorial แห่งนี้มิได้ยึดโยงอยู่เฉพาะกับแนวคิดทางศาสนาแบบ Shinto เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนมิติความคิดทางสังคมวิทยาการเมืองว่าด้วยลัทธิทหารนิยม (Militarism) และทัศนะชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานแห่งคตินิยมที่ก่อรูปประพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน Yasukuni Shrine ยังเป็นสัญลักษณ์ของความภักดีต่อสถาบันพระจักรพรรดิ ที่กลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติสมัยใหม่ของญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อข้อเท็จจริงในการสร้าง Yasukuni Shrine อยู่ที่การเชิดชูเกียรติกองกำลังผู้ภักดีต่อสถาบันเป็นด้านหลัก โดยมีอนุสาวรีย์สำริดขนาดใหญ่ของ Omura Masujiro ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการโค่นล้มระบอบโชกุน และค้ำชูระบบจักรพรรดิในฐานะ Vice-Minister of War ตั้งตระหง่านประหนึ่งตัวแทนและแบบอย่างของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันบริสุทธิ์ (kami) ที่จะได้รับการอัญเชิญมาสถิตใน Yasukuni Shrine นี้
จำนวนดวงวิญญาณที่อุทิศชีวิตตามลัทธิอุดมการณ์แห่งชาติของญี่ปุ่น ได้รับการอัญเชิญให้มาสถิตอยู่ใน Yasukuni Shrine อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทหารหาญที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองในปี 1877 (Southwest Civil War) สงคราม Sino-Japanese (1894-1895) สงคราม Russo-Japanese (1904-1905) หรือแม้ดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นซึ่งสูญเสียชีวิตในเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงข้าราชการและพลเรือนที่ได้พลีชีพภายใต้เกียรติภูมิของญี่ปุ่นก็ได้รับการสถาปนาและอัญเชิญให้มาสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้เช่นกัน
การเยือน Yasukuni Shrine ขององค์พระจักรพรรดิหรือผู้นำระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่น ตามวาระต่างๆ ในห้วงเวลาดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นกรณีต้องห้ามที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์มากนัก และดูจะเป็นปรากฏการณ์ของการสร้างขวัญกำลังใจและแสดงความซาบซึ้งใน "ความเสียสละ" ของบรรพชน ที่ไม่แตกต่างกับพิธีกรรมที่กระทำกันในประเทศอื่นๆ นัก
ชื่อของ Yasukuni Shrine ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อนักบินในกองบินรบของญี่ปุ่นได้ต่อสู้อย่างไม่เสียดายชีวิต ด้วยการพลีชีพขับเครื่องบินพุ่งเข้าชนเป้าหมายที่รู้จักกันในนามของฝูงบิน Kamikaze (Divine Wind-สายลมศักดิ์สิทธิ์) ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนักบินแต่ละรายต่างมีเครื่องรางจาก Yasukuni Shrine อยู่บนผ้าโพกศีรษะพร้อมกับการให้สัตย์สัญญาที่จะไปพบกันใหม่ในภพหน้าที่ Yasukuni Shrine ขณะที่นักบินบางรายเขียนจดหมายถึงญาติพี่น้องก่อนออกรบ ในลักษณะที่ระบุว่า หากต้องการพบกับพวกเขาอีกให้ไปพบได้ที่ Yasukuni Shrine
แม้ว่า Yasukuni Shrine จะไม่มีเถ้ากระดูกหรือแม้แต่ป้ายจารึกชื่อให้กราบไหว้บูชา ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีนัยสำคัญและจำเป็นต้องมีเลย เพราะภายใต้ความเชื่อแบบ Shinto ดวงวิญญาณของบรรพชนเหล่านี้ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานอย่างมั่นคงในอารามแห่งนี้แล้ว
ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของนักรบในฝูงบิน Kamikaze ดังกล่าว ได้สะท้อนนัยสำคัญที่นอกจากจะเกิดจากขวัญและกำลังใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นแล้ว ในด้านหนึ่งยังตอกย้ำให้เห็นกระบวนการกล่อมเกลาที่ฝังรากลงไปสู่ก้นบึ้งทางความคิดว่าด้วยสำนึกแห่งความเป็นชาติ และภารกิจที่บรรดานักรบเหล่านี้ตระหนักด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิด ความพยายามในการลดทอนบทบาทของ Yasukuni Shrine เกือบจะทันทีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 เมื่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา ในนามของ Allied Occupa-tion Force ได้เสนอให้ Yasukuni Shrine เลือกระหว่างการเป็นสถาบันในกำกับดูแลของ รัฐที่ปราศจากความข้องเกี่ยวในเชิงศาสนา หรือการเป็นสถาบันทางศาสนาที่แยกส่วนออกจากบริบททางการเมือง
ขณะเดียวกันข้อเสนออย่างสุดโต่ง ว่าด้วยการเผาทำลาย Yasukuni Shrine เพื่อไม่ให้หลงเหลือสัญลักษณ์ในเชิงใฝ่สงคราม ก็ปรากฏให้เห็นด้วย แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบสนองก็ตามและ Yasukuni Shrine ยังดำรงตระหง่านอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวตราบจนปัจจุบัน
การดำรงอยู่ของ Yasukuni Shrine หลังจากห้วงเวลาแห่งการสิ้นสุดสงครามดังกล่าว น่าที่จะดำเนินไปอย่างราบเรียบมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อญี่ปุ่นเลือกที่จะให้ Yasukuni Shrine มีสถานะเป็นเพียงศาสนสถานตามแนวคิด Shinto ที่ไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากงบประมาณของรัฐ ขณะที่พิธีรำลึกดวงวิญญาณของวีรชนเหล่านี้ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลหรือองค์จักรพรรดิเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ก็ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นเพียงการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาตามปกติ
อย่างไรก็ดี ชัยชนะของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูจะเป็นประหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นจาก การประกาศฝ่ายเดียว เมื่อถ้อยแถลงของ องค์จักรพรรดิ Irohito (Showa Emperor : 1926-1989) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 ซึ่งถือเป็นคำประกาศสิ้นสุดสงคราม ไม่ปรากฏถ้อยความว่าญี่ปุ่นยอมแพ้ (surrender) หรือพ่ายแพ้ (defeat) แม้แต่น้อย หากพระองค์ระบุถึง การอดกลั้นกับสิ่งที่ไม่อาจอดกลั้นและยอมทนกับสิ่งที่ไม่อาจฝืนทน (endure the unendurable and bear the unbearable) เพียงเพราะสงครามไม่ได้มีผลเป็นไปอย่างที่ญี่ปุ่นมุ่งหมาย และมีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเท่านั้น
สงครามโลกได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการก็เมื่อญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ (Treaty of Peace with Japan) หรือที่เรียกขานกันทั่วไปในฐานะ Treaty of San Francisco (8 September 1951) ร่วมกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร (Allied Powers) และประเทศต่างๆ รวม 48 ประเทศ โดยสนธิสัญญาดังกล่าว เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 28 เมษายน 1952 พร้อมกับการสิ้นสุดการยึดครองญี่ปุ่นของกองกำลัง Allied Occupation Force และเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของกระบวนการเพื่อปลดปล่อยทหารญี่ปุ่น ที่ได้รับการกล่าวโทษในฐานะอาชญากรสงคราม ที่ได้รับการกล่าวถึงในเวลาต่อมาในฐานะ the move to forgive and forget
ในเดือนตุลาคม 1951 หรือเพียง 1 เดือนหลังจากลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ Yoshida Shigeru กลายเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายแรกที่ไปเยือนและร่วมพิธีกรรมใน Yasukuni Shrine ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล แต่การเยือนดังกล่าวก็มิได้ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากประเทศคู่กรณีสำคัญทั้งจากจีนและเกาหลีใต้ ไม่ว่าการเยือน Yasukuni Shrine ครั้งนี้จะดำเนินไปในฐานะบุคคลทั่วไปหรือในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประเด็นเหล่านี้ก็มิได้ถูกหยิบยกเป็นกรณีขึ้นพิจารณาถกเถียงแต่อย่างใด
ปฏิกิริยาเชิงลบและกระแสวิพากษ์อย่างร้อนแรงถึงการเยือน Yasukuni Shrine โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มขึ้นในปี 1975 เมื่อ Takeo Miki นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางไปเยือน Yasukuni Shrine และร่วมพิธีรำลึกวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครบ 30 ปี ในวันที่ 15 สิงหาคม 1975 โดยฝ่าย Japan Socialist Party และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของจังหวะเวลาในการเยือนดังกล่าวอย่างดุเดือด และทำให้การเยือน Yasukuni Shrine โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับความสนใจและติดตามเฝ้ามองอยู่ทุกระยะว่ากระทำในสถานะอย่างไร
กระแสวิพากษ์ดังกล่าวได้ส่งผลไม่เฉพาะต่อท่าทีของผู้นำทางการเมืองเท่านั้น หากยังมีผลเป็นประหนึ่งสัญญาณที่ท้าทายและส่งผ่านคำถามที่สั่นคลอนสถานะขององค์จักรพรรดิด้วยเช่นกัน โดยจักรพรรดิ Hirohito ซึ่งก่อนหน้านี้เสด็จเยือน Yasukuni Shrine ไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงคราม ได้เสด็จเยือนสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1975 และไม่ปรากฏว่ามีการเสด็จเยือนอีกเลย
กระนั้นก็ดี ปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวจากกลุ่มอนุรักษนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Nippon Izokukai (Japan War-Bereaved Families Association) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีฐานสมาชิกกว้างขวางกว่า 800,000 ครอบครัวและเป็นกลุ่มฐานคะแนนเสียงสำคัญของ Liberal Democratic Party (LDP) โดยมีประเด็นว่าด้วยศาสนาและชาตินิยม (Religio-Nationalist) เป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหว กลับดำเนินไปอย่างสนใจยิ่ง
Nippon Izokukai ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ถัดจาก Yasukuni Shrine จนอาจเรียกได้ว่าอยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผ่านอิทธิพลเข้าเรียกร้องกดดันให้มีการปลดปล่อย และออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมอาชญากรสงครามเท่านั้น หาก Nippon Izokukai ยังมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดเนื้อหาและเนื้อความเกี่ยวกับการกระทำของญี่ปุ่นระหว่างสงครามในแบบเรียน ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์จากประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นด้วย
ขณะเดียวกัน Yushukan พิพิธภัณฑ-สถานว่าด้วยประวัติศาสตร์สงครามของญี่ปุ่น (war museum) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1882 และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยอยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกันกับ Yasukuni Shrine และดำเนินงานโดย Yasukuni Shrine ก็ทำหน้าที่ show and tell เรื่องราวที่มุ่งเน้นสร้างความชอบธรรมให้กับญี่ปุ่นในการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า แม้สงครามจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า แต่สงครามก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเอกราชและความมั่งคั่งของญี่ปุ่น
นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะนำเสนอภาพความกล้าหาญของนักรบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวีรชนของชาติแล้ว ยังตอกย้ำถึงภารกิจของญี่ปุ่นในฐานะประเทศผู้นำที่จะสร้างความจำเริญให้กับประเทศในเอเชียทั้งหลาย ตามแนวคิดวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา (The Great East Asia Coprosperity Sphere) ซึ่งเป็นผลให้ญี่ปุ่นต้องรณรงค์และขยายขอบเขตของสงครามอย่างกว้างขวาง
ทัศนะดังกล่าว ได้ฝังรากและซึมลึกไม่เฉพาะในฐานะลัทธิทหารนิยมและการแผ่ขยายอำนาจในเชิงการเมืองเท่านั้น หากในเวลาต่อมาบรรษัททางธุรกิจของญี่ปุ่นได้เก็บรับทัศนะดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในเชิงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ในเดือนตุลาคม 1978 เรื่องราวของ Yasukuni Shrine กลับเข้าสู่กระแสสูงของการวิพากษ์อีกครั้ง เมื่ออาชญากรสงครามระดับนำ (Class-A War Criminals) จำนวน 14 คน ซึ่งรวมถึงนายพล Hideki Tojo ผู้นำคนสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างได้รับการสถาปนาอย่างเงียบๆ ให้มีฐานะเป็น Martyrs of Showa (Showa junnansha) โดยดวงวิญญาณของ Class-A War Criminals เหล่านี้ได้รับการอัญเชิญให้มาสถิตอยู่ใน Yasukuni Shrine ร่วมกับดวงวิญญาณของวีรบุรุษสงครามอื่นๆ รวมกว่า 2.5 ล้านราย
กรณีดังกล่าวซึ่งได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชนในปี 1979 ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแห่งความไม่พึงพอใจอย่างหนัก ทั้งในระดับการเมืองภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงอย่างหนักในสังคมการเมืองญี่ปุ่น ก่อนที่จีนจะวิพากษ์ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในปี 1985 เมื่อ Yasuhiro Nakasone นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น เยือน Yasukuni Shrine อย่างเป็นทางการในโอกาสของการรำลึกวาระครบรอบ 40 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ความไม่พึงพอใจของจีนและเกาหลีใต้ต่อกรณีความเป็นไปของ Yasukuni Shrine ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า Class-A War Criminals ไม่ว่าจะเป็น Hideki Tojo, Seishiro Itagaki, Kenji Doihara ซึ่งได้รับการตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ตามคำพิพากษาของ International Military Tribunal for the Far East : IMTFE (Tokyo Tribunal) ล้วนมีส่วนอย่างสำคัญต่อการก่อสงครามและการรุกรานที่ถือเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติอย่างหนักหน่วง
Nakasone พยายามที่จะพยุงสถานการณ์และประคับประคองความสัมพันธ์กับจีน ด้วยการยุติการเยือน Yasukuni Shrine พร้อมกับเสนอให้มีการย้ายสถานที่สักการะดวงวิญญาณของ Class-A War Criminals ทั้ง 14 รายออกจาก Yasukuni Shrine แต่ข้อเสนอและท่าทีของ Nakasone ได้รับการต่อต้านทั้งจากคณะผู้บริหารของ Yasukuni Shrine และครอบครัวของวีรชน
ท่าทีของจีนและเกาหลีใต้เกี่ยวกับการเยือน Yasukuni Shrine ของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าว ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในช่วงต่อมา ละเว้นที่จะเยือนสถานที่แห่งนี้ ขณะดำรงตำแหน่ง กระทั่งเมื่อ Junichiro Koizumi ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรค LDP ในเขตหัวเมือง (local chapters) ให้เป็นหัวหน้าพรรคและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2001 การเยือน Yasukuni Shrine ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง และสร้างความไม่พึงพอใจให้กับประเทศ ที่ได้รับผลของสงครามดังกล่าวอย่างมาก
Junichiro Koizumi เริ่มการเยือน Yasukuni Shrine ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2001 หรือหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 4 เดือน และเป็นการเยือนในช่วงวันที่ถือเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น Junichiro Koizumi ได้เยือนสถานที่แห่งนี้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี (23 เมษายน 2002, 15 มกราคม 2003 และ 1 มกราคม 2004) รวมทั้งสิ้น 4 ครั้งซึ่งนับเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เยือน Yasukuni Shrine บ่อยครั้งที่สุดในยุคหลังสงคราม
การเยือน Yasukuni Shrine ของ Junichiro Koizumi ดังกล่าว นอกจากจะสะท้อนความพยายามที่จะกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ โดยไม่กริ่งเกรงต่อท่าทีของจีนและเกาหลีใต้ เพราะถือว่าการเยือน Yasukuni Shrine เป็นกิจการภายในของญี่ปุ่นแล้ว กรณีดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อกระชับและสร้างเสริมคะแนนนิยม สำหรับผลทางการเมืองภายในประเทศ ที่ Koizumi ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ Junichiro Koizumi ได้ประกาศแนวนโยบายที่สำคัญอย่างน้อยสองประการกล่าวคือการปฏิรูประบบการบริหารราชการ ที่มีกรณีว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ เป็นประเด็นสำคัญ ขณะ เดียวกัน Junichiro Koizumi ได้นำเสนอนโยบายด้านการต่างประเทศที่มุ่งเน้น การเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติให้มีการขยายอำนาจหน้าที่ของกองกำลัง Japan Self-Defense Forces (JSDF) เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการในต่างประเทศ หรือความพยายามที่จะดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะของการเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Permanent Security Council)
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประหนึ่งก็คือ Junichiro Koizumi ซึ่งเกิดในปี 1942 ในจังหวัด Kanagawa มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ Yasukuni Shrine และสงคราม โลกครั้งที่ 2 ในระดับพิเศษ โดยนอกจาก Junya Koizumi ผู้เป็นบิดา และมีพื้นเพเดิมอยู่ในจังหวัด Kagoshima บนเกาะ Kyushu ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น จะเป็นอดีตผู้ดำรงตำแหน่ง Director General of the Defense Agency ในช่วงทศวรรษ 1960 แล้ว Matajiro Koizumi อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และการสื่อสาร ซึ่งมีฐานะเป็นคุณตาของ Junichiro Koizumi ยังเป็นผู้มีส่วนในการสร้างสนามบินในจังหวัด Kagoshima เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการของฝูงบิน Kamikaze ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลูกพี่ลูกน้อง (cousin) ของ Koizumi อย่างน้อยหนึ่งราย ได้ร่วมพลีชีพในภารกิจนี้ด้วย
ซึ่งนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายปัจจัยว่าเพราะเหตุใด Junichiro Koizumi จึงให้ความสำคัญต่อการเยือน Yasukuni Shrine อย่างกระตือรือร้นมากกว่าผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นรายอื่นๆ ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวยังสะท้อนจุดร่วมขนาดใหญ่ที่มีผลต่อรูปการณ์จิตสำนึกประพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
อย่างไรก็ดี Junichiro Koizumi ได้แสดงท่าที เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีนและเกาหลีใต้ รวมถึงลดกระแสความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูลัทธิทหารนิยม ด้วยการระบุว่าการเยือน Yasukuni Shrine เป็นไปเพื่อตอกย้ำคุณค่าแห่งสันติภาพ และเพื่อเป็นหลักประกันว่าญี่ปุ่นจะไม่มีส่วนในสงครามใดๆ อีก
แต่ Koizumi ก็มิได้ปฏิเสธหรือปิดกั้นโอกาสในการเยือนสถานที่แห่งนี้อีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระครบรอบ 60 ปี ของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งจังหวะเวลาในการเยือน Yasukuni Shrine เป็นกรณีที่มักจะมีผลเกี่ยวเนื่องและผูกพันกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศด้วย
เรื่องราวของ Yasukuni Shrine และบทบาทของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นโดยเฉพาะกรณีว่าด้วยสงครามและสันติภาพนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางบาดแผลทางประวัติศาสตร์ และผลประโยชน์ในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งบางทีอาจเป็นดังเช่นบทกวีของ Leonard Cohen ที่ระบุว่า
Nothing you can measure anymore
The blizzard of the world
has crossed the threshold
and it has overturned
the order of the soul
When they said REPENT
I wonder what they meant.
And now the wheels of heaven stop
you feel the devil's riding crop
Get ready for the future :
it is murder...
When they said REPENT
I wonder what they meant.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|