|

Bill Gates come back
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ และผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในตลาดคอมพิวเตอร์โลก ตัดสินใจมาเยือนไทย เขาทำอะไรบ้าง
แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ วิลเลี่ยม เอช. เกต หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ บิล เกตส์ ประธาน และหัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ของ บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เดินทางมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย แต่ก็ถือเป็นหนแรก ในรอบ 12 ปีของการก่อตั้งไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ที่บิล เกตส์ ยอมเดินทางมาเพื่อการเปิดตัวหรือร่วมงานของบริษัทอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากการเดินทางมาแบบนักท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
กำหนดการเดินทางของบิล เกตส์ ใน การเยือนเมืองไทยในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา เก็บเป็นความลับของฝ่ายผู้จัดงาน ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ถึงขนาด ให้ฝ่ายรักษาความปลอดภัยบินตรงมาจากสหรัฐฯ เพื่อดูสถานที่จัดงานล่วงหน้าก่อน 2 วัน เลยทีเดียว
ในฐานะแขกของรัฐบาล บิล เกตส์ มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีในช่วงเช้า ก่อนกล่าวปราศรัยวิสัยทัศน์ต่อหน้า CEO และแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับจดหมายเชิญโดยตรงจากรัฐบาลกว่า 300 ชีวิต โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทยร่วมงานด้วยในช่วงก่อนเที่ยงของวันเดียวกัน
ความสำคัญของการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันนั้น มิได้อยู่ที่การแสดงวิสัยทัศน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับรัฐบาลไทย อันถือเป็นหัวใจสำคัญสุดที่ทำให้ บิล เกตส์ ยอมรับเงื่อนไขการเดินทางมาเมืองไทยในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยหลายสมัยเคยพยายามติดต่อเพื่อให้มาร่วมงานหลายงาน แต่ก็มิเป็น ผลสำเร็จแต่อย่างใด
โครงการ Thailand.net ที่ไมโครซอฟท์ตองลงทุนกว่า 140 ล้านบาท เพื่อปูทาง เปลี่ยนโฉมให้ไทยกลายเป็น Global Web Service-Super Hub หรือพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งาน Web Service ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเว็บไซต์ ในการสอบผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี .Net ของไมโครซอฟท์ รวมถึงการพัฒนาตลาดซอฟต์แวร์และเศรษฐกิจ โดย Web Service คือสาระสำคัญของความร่วมมือดังกล่าว
นอกเหนือจากอีกสองโครงการที่เน้นช่วยเหลือการลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ต อย่างโครงการ Partner in Learning และโครงการ Thailand Gateway ที่ไมโครซอฟท์จะทำการช่วยเหลือให้รัฐบาลไทยกลายเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ อย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับ UK Go-vernment Gateway ก่อนหน้านี้
แม้กำหนดช่วงบ่ายจะถูกตัดใหรับ ทราบว่า บิล เกตส์ ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง "Digital Aspiration" บนเวทีขนาดยักษ์ของหอประชุมกองทัพเรือ ต่อหน้าแขกที่ได้รับเชิญ จากไมโครซอฟท์ และสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศนับพันชีวิต แต่ก่อนหน้านั้น บิล เกตส์ ใช้เวลาเกือบชั่วโมง เดินชมบูธขนาดเล็กและทักทายกับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ ที่ชนะการประกวดและเข้าร่วมโครงการมาก มายของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รวมถึงถ่ายภาพแบบใกล้ชิดกับผู้โชคดี 3 คน ที่เข้าร่วมแข่งขันเกมบนเว็บไซต์ไมโครซอฟท์ภาคภาษาไทย เพื่อให้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ภายในอาคารเดียวกัน
วิสัยทัศน์ของบิล เกตส์ ทั้งช่วงเช้าและบ่าย ต่อหน้าแขกเหรื่อที่แตกต่างกัน เน้นหนักไปเรื่องอนาคตของซอฟต์แวร์และ ฮาร์ดแวร์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจนหลายคนแทบจะตามไม่ทัน โดยบิล เกตส์ ถึงกับยกให้ สิบปีนับจากนี้เป็น "ทศวรรษแห่งดิจิตอล" หรือ 10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของทั้งฮาร์ด แวร์และซอฟต์แวร์อย่างมหาศาล
"ผู้จัดการ" มิได้หยิบยกวิสัยทัศน์ของบิล เกตส์ มาสาธยายให้ฟังกันจนครบ ต้องยอมรับว่า บิล เกตส์ พูดได้น้ำไหลไฟดับชนิด ครึ่งชั่วโมง มือหนึ่งล้วงกระเป๋า อีกมือแสดงท่าทางประกอบการพูด รวดเดียวจบไม่มีพักยก ช่างเป็นมืออาชีพในการพูดหาใครเปรียบไม่ได้เลย
แต่วิสัยทัศน์ทั้งหมดของเขาผู้นี้ คุณหาอ่านได้แบบละเอียดไม่มีตัดตอนทุกงานที่บิล เกตส์ มาพูดในเมืองไทยครั้งนี้ในเว็บไซต์ ของไมโครซอฟท์ หรือ www.msn.co.th รวมถึงคำถามโดนใจที่คนไทยหลายพันชีวิตร่วมฝากเอาไว้ในเว็บไซต์ สำหรับใช้เป็นคำถาม ถามบิล เกตส์ บนเวทีที่สร้างรอยยิ้มและความ ประทับใจให้แขกเหรื่อในวันนั้นได้ไม่น้อย
ต้องยอมรับว่าหลายคนน่าจะพอคาดเดากันได้ว่าบิล เกตส์ จะพูดถึงเรื่องอนาคตของซอฟต์แวร์แบบกลางๆ พอจะเห็นภาพกันได้บ้าง แต่คนฟังอย่างเราๆ กลับรู้สึกถึงความแตกต่างในทันที อาจจะเป็นเพราะว่า ผู้ที่กำลังพูดอยู่บนเวทีนั้น อยู่ในฐานะของผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นวิสัยทัศน์ของบุคคลที่ได้ชื่อว่า "รวย" ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับทุกแหล่งในขณะนี้นั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|