SET Webboard ขุดเจาะหุ้นน้ำมัน ประกันความเสี่ยงพอร์ต

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในภาวะที่ราคาน้ำมันทุกชนิดแพงขึ้นต่อเนื่อง รัฐงดอุดหนุนและยังออกมาตรการมากมาย ทำให้น้ำมันกลายเป็นประเด็น talk of the town โดยเฉพาะในตลาดหุ้น กระทู้เด่นช่วงเดือนนี้เป็นความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ของผู้ที่ใช้ชื่อ Invisible Hand ซึ่งเป็นผู้ควมคุมเว็บบอร์ด "กระทิงคุณค่า" ที่พูดคุยเรื่องการลงทุนหุ้นแบบเน้นมูลค่าของกิจการใน greenbull.net แต่กระทู้ของเขากลับถูกนำมาถกเถียงพูดคุยกันอย่างคึกคักในเว็บบอร์ด thaivi.com ซึ่งแน่นอนว่าผู้อ่านจะต้องเข้าอินเทอร์เน็ตไปอ่านด้วย นอกจากที่อ่านเนื้อหาย่อในนิตยสารผู้จัดการนี้

แถมท้ายด้วยลิงค์ไปยังหน้าเว็บ "ร้อยคนร้อยหุ้น" เกี่ยวกับหุ้นพลังงานที่ชาวเว็บ thaivi.com ให้ความสนใจสูงสุด 4 ตัว เรียงตามจำนวนความคิดเห็นที่มาพูดคุยในกระทู้

ภาวะน้ำมันแพง
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=11486

ราคาน้ำมันคงจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูงไปอีก ด้วยเหตุผลหลายประการ

1. Supply ของน้ำมันทั่วโลกไม่สามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาสั้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำๆ มานานตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ทำให้ไม่ค่อยมีการลงทุนใหญ่ๆ ในการขุดเจาะน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนของเดิมมากกว่า การสำรวจแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มผลิตได้ ดังนั้นแม้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้นมาในช่วงนี้มากกว่าแหล่งใหม่ๆ ที่เริ่มมีการสำรวจจะผลิตได้ก็คงใช้เวลาอีกหลายปี อย่างช่วงปี 73-74 ที่น้ำมันแพง ก็เริ่มมีการสำรวจแหล่งทะเลเหนือ ซึ่งกว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายได้ก็ช่วงปี 78-79 และราคาน้ำมันก็เริ่มลดลงมาในปี 81 สำหรับปัจจุบันก็ยังมีความเสี่ยงว่าการสำรวจใหม่ๆ จะเจอแหล่งน้ำมันที่มีขนาดใหญ่อย่างทะเลเหนือได้หรือไม่ หรือหากมีการสำรวจใหม่ ต้นทุนการสำรวจก็คงไม่ต่ำเหมือนเมื่อก่อนแล้วโดยเฉพาะหากเป็นการสำรวจบนแผ่นดิน

จากผลของข้อจำกัดด้าน supply ราคาน้ำมันจะลงได้ก็คงต้องอย่าหวังว่าจะลงเพราะ supply จะเพิ่มมากได้ แต่ต้องหวังว่า demand จะลง นำไปสู่ข้อ 2

2. ราคาน้ำมันที่ระดับ 60 เหรียญฯ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ demand ทั่วโลกลงมามากพอ เนื่องจากเหตุผลหลักๆ 2 อย่างคือ

- Inflation adjusted หาก adjust เงินเฟ้อเข้าไปราคาน้ำมัน 60 เหรียญฯ ยังต่ำกว่าระดับ inflation adjusted ในช่วงปี 80 ที่ราคาน้ำมันปรับเงินเฟ้อแล้วเท่ากับ 90 เหรียญอยู่ ดังนั้นราคาน้ำมันยังไม่ทำ new high ในรูปของราคาที่แท้จริง (real term)

- Oil consumption to GDP ของประเทศพัฒนาแล้วลดลงมาตลอด ตัวเลข Oil consumption to GDP เป็นตัวเลขบ่งบอกถึงการพึ่งพาน้ำมันของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ในปี 1980 สหรัฐฯ มีสัดส่วน Oil consumption to GDP 22% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 7% หรือลดลง 3 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆ และการเติบโตของเศรษฐกิจในอัตราที่สูงในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นหมายความว่าแม้ว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันจะขึ้นไปที่ inflation adjusted ที่ 90 เหรียญฯ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะน้อยกว่าช่วงปี 1980 ถึง 3 เท่า เป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ ไม่ออกมาโวยวายนักในเรื่องน้ำมันแพง

แต่เหตุการณ์นี้ตรงกันข้ามกับประเทศในเอเชีย ซึ่งมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มของจำนวนรถยนต์และการตัดถนนจำนวนมาก และการใช้พลังงานยังขาดประสิทธิภาพและการวางแผนที่ดี เช่น ประเทศไทยยังใช้สิบล้อในการขนส่งสินค้าแทนที่จะใช้รถไฟที่ยังถูกกว่า ยังมีโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาให้เห็นอยู่ไม่น้อย โรงงานหลายแห่งก็ยังใช้น้ำมันเตา ซึ่งทำให้ Oil consumption ต่อ GDP ลดลงน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง จีน ลดลงจาก 21% เหลือ 15%

ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ผลจึงมาตกกับประเทศเอเชียและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีแหล่งน้ำมัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากกว่า แม้เมืองไทยจะไม่มีตัวเลข Oil consumption to GDP ให้ศึกษา แต่มีตัวเลข Oil import/GDP ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกัน พบว่า สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มจาก 1.44% ในปี 1993 มาเป็น 8-9% ในปี 2004 และน่าจะเพิ่มเป็น 13-15% ในปี 2005 หากใช้ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนพ.ค. คือ 2 US bn มาทำเป็น 12 เดือนก็จะได้ 15%

จากตัวเลข Oil consumption to GDP ของประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นได้ว่าแม้ราคาน้ำมันจะขึ้นไป 60 เหรียญฯ ก็จะไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจนัก และจะไม่ทำให้การใช้น้ำมันลดลงมากเท่าที่ควร

มองกลับมาที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันเบนซินที่ 25 บาท ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้การใช้น้ำมันลดลง ยอมจอดรถแล้วมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากแค่ไหน

ดังนั้นราคาน้ำมันในระดับ 55-60 เหรียญฯ ไม่น่าจะทำให้ demand ของโลกลดลงได้มากนัก ระดับน้ำมันที่จะทำให้ demand ของโลกลดลงคือประมาณ 80 เหรียญฯ บวกลบ ซึ่งคงจะทำให้เกิดภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการลดลงของราคาน้ำมันในอนาคตได้ 2 แนวทาง

1. ราคาน้ำมันผ่านระดับ 60 เหรียญฯ แล้วขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ อาจจะขึ้นไป 80-100 เหรียญฯ ในระยะเวลาอันสั้น จนภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด กรณีนี้อาจจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้เร็ว

2. ราคาน้ำมันผ่าน 60 เหรียญฯ แล้วไต่ระดับไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ กรณีนี้ราคาน้ำมันจะขึ้นได้นาน เพราะเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ปรับตัวจึงทำให้ demand ไม่ลดลงนัก กรณีนี้จะไม่สามารถทำนายได้ว่าราคาน้ำมันจะไปถึงเท่าไรและถึงเมื่อไร แต่ราคาน้ำมันจะเริ่มลดลงก็ต่อเมื่อราคาขึ้นไปอยู่ในระดับสูงที่นานพอจนทำให้ประชากรส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมและมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น หรือมี supply ใหม่ๆ เข้ามา ดังนั้นก็อาจจะประมาณได้ว่าราคาน้ำมันอาจจะแพงไปอีก 5-6 ปี

มีปัจจัยบางอย่างที่อาจจะอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ได้ เช่น การเข้ามาเก็งกำไรของ hedge fund ซึ่งหลายคนใช้เป็นคำอธิบายของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่หากดูราคาน้ำมัน future ที่จะส่งมอบไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า ล้วนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60 เหรียญฯ และสูงกว่าราคา spot เสียอีก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดเพราะหากราคาน้ำมันสูงขึ้นจากการเก็งกำไร ตลาดน่าจะคาดว่าอนาคตราคาจะลงมา ดังนั้นราคา future ยาวๆ ก็ควรจะต่ำกว่า spot แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่อาจจะมีการเก็งกำไรใน future อายุยาวๆ

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน การลงทุนในหุ้นพลังงานบางตัว เช่น PTTEP PTT UMS น่าจะเป็นการประกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน แม้ PTTEP อาจจะไม่มี valuation ที่ถูกมากอะไรแต่ราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไปนักและเน้นเรื่องการประกันความเสี่ยงของพอร์ต คือหากราคาน้ำมันลงมาแรง ราคาหุ้นพลังงานตก แต่หุ้นตัวอื่นๆ ในพอร์ตของเราก็ควรจะขึ้นมาได้

PTTEP ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=1485

TOP ไทยออยล์
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=6473

UMS : Unique Mining Services
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=10773

PTT ปตท.
thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=5820


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.