|
3 แบงก์ไทยในจีน
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงวันครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เท่านั้น แต่ยังเป็นฤกษ์ดีสำหรับ 2 แบงก์ใหญ่ของไทยที่เข้าไปรุกธุรกิจในจีนอีกด้วย
เศรษฐกิจของประเทศจีนทุกวันนี้ความน่าสนใจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภาคการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ธุรกิจบริการด้านการเงินก็เป็นตลาดที่สถาบันการเงินทั่วโลกให้ความสนใจจับจ้องอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงธนาคารของไทยด้วยเช่นกัน และถึงวันนี้ธนาคารไทยที่ได้เริ่มรุกเข้าทำธุรกิจในประเทศจีนอย่างชัดเจนแล้วมีอยู่ 3 รายด้วยกัน คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
ในกรณีของไทยพาณิชย์ ผู้บริหารยอมรับว่าการจะเข้ามาเริ่มเปิดสาขาในประเทศจีนในเวลานี้ถือว่าช้าไปเสียแล้ว ประกอบกับการเปิดสาขาเพียง 1-2 แห่งในขณะที่จีนกำลังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากเช่นนี้ก็ไม่เกิดผลอะไรนัก โดยก่อนหน้านี้ไทยพาณิชย์เคยเปิดสาขาที่หนานหนิงเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ได้ปิดตัวลงในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
มาครั้งนี้ไทยพาณิชย์จึงเลือกเดินทางลัดด้วยการเข้าเป็นพันธมิตรกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China) หรือไชน่าเอ็กซิมแบงก์ เพื่อเป็นช่องทางในการจัดหาและระดมเงินทุนสำหรับสินเชื่อสกุลเงินบาทหรือหยวนให้กับโครงการร่วมทุนและแผนการลงทุนของเอกชนในภาคธุรกิจที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ ก่อสร้าง รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก
การลงนามในความร่วมมือระหว่างธนาคารทั้ง 2 แห่ง ถือเอาฤกษ์ดีในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาคม โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยและเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนร่วมเป็นสักขีพยาน
ไชน่าเอ็กซิมแบงก์ตั้งขึ้นในปี 2537 เป็นสถาบันการเงินในสังกัดและดำเนินการภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลาง มีหน้าที่ในการสนับสนุนนโยบายด้านอุตสาหกรรม การค้ากับต่างประเทศ เศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาล โดยให้บริการการเงินและส่งเสริมธุรกิจส่งออกของจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเวทีโลก
ปัจจุบันไชน่าเอ็กซิมแบงก์ถือเป็นธนาคารด้านการส่งออกและนำเข้าที่มีมูลค่าทรัพย์สินเป็นอันดับสาม รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะสามารถแซงขึ้นมาเป็นอันดับสองได้ภายใน 2 ปีนี้ โดย ณ สิ้นปี 2547 มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านล้านบาท และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดในธนาคารจีน เทียบเท่าฐานะความแข็งแกร่งทางการเงินของประเทศจีน
การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยพาณิชย์และไชน่าเอ็กซิมแบงก์จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันลงนามในครั้งนี้ใช้เวลารวม 2 ปีกว่า
"จุดที่ทำให้เรารู้จักกันก็คือเราออก L/C ให้ลูกค้าเรา แล้วทางไชน่าเอ็กซิมแบงก์ไม่รับ ที่ไม่รับไม่ใช่ว่ามีปัญหา แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้จักเรา เราก็เลยต้องมาคุยกัน มาอธิบายให้เขารู้จักว่าเราเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร" ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ย้อนอดีตถึงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์
การเป็นพันธมิตรกันระหว่างไทยพาณิชย์และไชน่าเอ็กซิมแบงก์ครั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจจีนที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยอีกด้วย โดยที่ผ่านมาจีนได้เริ่มนำเงินลงทุนออกต่างประเทศบ้างแล้ว อาทิ การซื้อธุรกิจพีซีจากไอบีเอ็มของ Lenovo บริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน รวมไปถึงการเสนอซื้อ Maytag และ Unocal ของสหรัฐอเมริกา โดย Haier และ CNOOC เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยคาดว่าการลงทุนที่จีนสนใจจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับการผลิตของจีน เช่นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี
หยางจือหลิน ประธานกรรมการ ไชน่าเอ็กซิมแบงก์ระบุว่า ที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาลงทุนในไทยบ้างแล้ว แต่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก การลงนามร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสให้จีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และขณะนี้กำลังศึกษาอยู่หลายโครงการด้วยกัน โดยจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทย-จีน
สำหรับธนาคารกรุงเทพนั้นถือได้ว่าเป็นหัวหอกในการรุกเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการรุกเปิดสาขาในต่างประเทศ ที่ทำล่วงหน้าธนาคารอื่นมากว่า 10 ปี โดยในปี 2529 เปิดสำนักงานผู้แทนที่ปักกิ่ง ต่อมาในปี 2535 เปิดสาขาแห่งแรกที่เมืองซัวเถาและสาขาเซี่ยงไฮ้ในเดือนธันวาคม 2536 ตามมาด้วยสาขาเซียะเหมิน ในเดือนมีนาคม 2541
ล่าสุดสำนักงานผู้แทนปักกิ่งได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้ยกระดับขึ้นเป็นสาขา โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกับการลงนามของไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่มีสาขาอยู่ในกรุงปักกิ่ง จะให้บริการทางการเงินได้อย่างครบถ้วน อาทิ บริการสินเชื่อ บริการธุรกรรมด้านตั๋วสินค้าเข้าและสินค้าออก บริการโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการออกหนังสือค้ำประกัน โดยจะให้บริการทางการเงินในปักกิ่ง และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ ได้แก่ เทียนจิน ชิงเต่า ต้าเหลียน และเฉินหยาง
ในกรณีของธนาคารกสิกรไทยก็ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าทำธุรกิจในจีนเช่นกัน โดยขณะนี้มีสาขาอยู่ที่คุนหมิงและสำนักงานตัวแทนที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง แต่ยังอยู่ในระหว่างการหารูปแบบที่ชัดเจนในการเข้าทำธุรกิจที่มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานที่มีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ได้แก่ ความร่วมมือกับไชน่ายูเนี่ยน เพย์ (China Union Pay-CUP) ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและเดบิตรายใหญ่ของจีน ซึ่งผู้ถือบัตรของ CUP สามารถใช้บริการผ่านทางตู้ ATM และเครื่องรูดบัตรของกสิกรไทยได้ ช่วยให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถใช้บัตร CUP ในประเทศไทยได้
คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะเริ่มมองเห็นว่า โมเดลของธนาคารแห่งใดที่จะประสบความสำเร็จในประเทศจีน ดินแดนแห่งโอกาสผืนนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|