USฉุดส่งออกทรุด-ทุนนอกหด"เศรษฐกิจไทยถดถอย"


ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหัวข้อ"เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอ่อนแอและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัญหา"ซึ่งทางหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน" เห็นความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อเศรษฐกิจประเทศไทย จึงได้นำเสนออย่างละเอียด

ข้อมูลทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 (2Q45) ของสหรัฐฯ ที่ประกาศในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แสดงถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าที่คาดไว้และถ้าวิเคราะห์ตัวเลขอย่างละเอียด จะพบว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯใน 2Q45 เข้าสู่ภาวะถดถอยไม่ใช่เพียงแต่อยู่ในภาวะชะลอตัวเท่านั้น

ฝ่ายวิจัยมีความคิดที่สวนกระแสความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเงินหลักทรัพย์หลาย ๆ แห่งที่คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในปีนี้ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายวิจัยฯมีความเห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ และมีโอกาสที่จะทรุดตัวต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯคาดไม่ถึงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครึ่งหนึ่งในเวลาที่รวดเร็วเช่นนี้

ที่สำคัญก็คือจากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปัจจุบันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภค และจะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวต่อไปอีก และการทรุดตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทรุดตัวต่อไป และอาจจะเกิดวงจรอุบาทว์ขึ้น ฉุดให้เศรษฐกิจทรุดตัวนานกว่าที่คาดไว้ และส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อเศรษฐกิจของไทยและธุรกิจของธนาคาร

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ประกาศล่าสุดมีทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจใน 2Q45 และการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลเดิม ข้อมูลดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งและแต่ละครั้งข้อมูลก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อถือข้อมูลใน 2Q45 เท่าใดนัก

เนื่องจากคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในอนาคต ฝ่ายวิจัยฯพยายามวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวและสรุปประเด็นต่างๆ ข้อมูลดังกล่าว โดยรวมแสดงถึงการทรุดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง กว่าที่ข้อมูลเดิมแสดงไว้ และข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจใน 2Q45 แสดงถึงความอ่อนแอทางโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะต้องใช้เวลา ประมาณ 1-2 ปี เป็นอย่างต่ำในการปรับตัวให้เข้าสู่ ภาวะปกติ ข้อมูลที่แก้ไขปรับปรุงแล้วของปี 2544 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หดตัวลง 3 ไตรมาส ติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาส 1Q44 ถึง 3Q44 ซึ่งตาม คำจำกัดความการถดถอยทางเศรษฐกิจที่กำหนดว่าเศรษฐกิจถดถอยในกรณีที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ตามคำจำกัดความนี้ เศรษฐกิจ สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มตัว

โดยภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัว ใน 4Q44 จากการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชน และการกระตุ้นทางการคลังโดยภาครัฐ การใช้จ่ายในการบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 6 โดยเฉพาะ การซื้อสินค้าคงทนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 33.6 ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวถึงร้อยละ 10.5 (ตารางที่ 1) และในไตรมาสต่อมาการลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัวโดยจากการขยายตัวของการลงทุนดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 18.2 เกือบทั้งหมด มาจากการขยายตัวของสินค้าคงคลังเป็นหลัก (ตารางที่ 2) ใน 2Q45 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.1

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว (ไม่นับการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง) ยังคงมาจากการใช้จ่ายในการบริโภคของเอกชน ซึ่งเติบโตในอัตราร้อยละ 1.9 และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวอัตรารัอยละ 1.8 สำหรับการใช้จ่ายในการลงทุนแม้ว่าโดยรวมจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.1 แต่ส่วนใหญ่ยังเกิดจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง (ตารางที่ 2) สัญญาบวกอย่างเดียวเกี่ยวกับการลงทุนภาคเอกชนก็คือการลงทุนในเครื่องจักร และ Software เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.9 เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2544

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และอาจจะลดลงได้ในกรณีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาคต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยถ่วง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 1.77 โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังคงซบเซาโดยเฉพาะเมื่อ หักผลของการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 1.15 แล้ว จะพบว่าเศรษฐกิจใน 2Q45 หดตัวลงร้อยละ 0.05

การหักผลของการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังดังกล่าว ตีความได้ว่า ที่จริงแล้วอุปสงค์มวลรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ที่จริงกลับหดตัวลงเล็กน้อย

ฝ่ายวิจัยฯตั้งข้อสังเกตการใช้จ่ายในการบริโภคของภาคเอกชนที่เป็นกลไกสำคัญในการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 2Q45 ที่มีอัตราเติบโตเพียงร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าใน 1Q44 ที่เป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย คาดว่าการชะลอตัวของการใช้จ่ายในการบริโภคส่วนใหญ่เกิดจากากรลดลงของมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตลาด NASDAQ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยในปี 2544 ลดลง ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 2.17 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบ กับมูลค่าเฉลี่ยในปี 2543 ผลของการลดลงของมูลค่าหลักทรัพย์จะมีผลของความมั่นคั่ง (Wealth Effect) ต่อการบริโภคของเอกชน

การศึกษาของ World Bank (2002) พบว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงการบริโภคประมาณร้อยละ 3-5 จากผลของการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทรัพย์สิน (รายละเอียดอยู่ใน Special Report: ปัญหาการตกต่ำของราคาหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐฯและผลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (26 กรกฎาคม 2545) จากการลดลงอย่างรุนแรงของดัชนี Dow Jones ในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยหายไปประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์โดยเฉลี่ย 7 เดือนของปีที่ผ่านมา

ดังนั้น คาดได้ว่าอัตราการเติบโตในการบริโภคยังคงลดลงในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นการลดลงของการบริโภคจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อไปหรืออาจจะหดตัว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในสภาวะตกต่ำ และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคคาดว่าการบริโภคจะซบเซาต่อไปและอาจจะเกิดวงจรอุบาทว์ระหว่างการบริโภค และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้

นอกจากนี้ ความมั่นใจของผู้บริโภคที่เริ่มลดลง นอกจากวงจรอุบาทว์ระหว่างการใช้จ่าย ในการบริโภคและดัชนีตลาดหลักทรัพย์แล้วปัจจัยที่จะทำให้การใช้จ่ายในการบริโภคชะลอตัว คือ การ ลดลงของความมั่นใจของผู้บริโภค (Conference Board's Consumer Confidence) ปรับตัว ลดลงอย่างมากในช่วงเดือนกรกฎาคม จากระดับร้อยละ 106.3 จุดในเดือนมิถุนายน เหลือเพียง 97.1 จุด เป็นการลดลงถึงกว่า 9 จุด ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดตั้งแต่วิกฤตการณ์ 11 กันยายน 2544 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ที่ 101.9

การลดลงของความมั่นใจของผู้บริโภค ดังกล่าวจะส่งผลให้การใช้จ่ายในการบริโภคชะลอตัวลงไปอีก คาดว่าภาวะตลาดหลักทรัพย์และความมั่นใจที่ลดลงจะส่งผลให้การบริโภคในอนาคตชะลอตัวลงมากกว่าใน 2Q45 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ภายหลังจาก การปรับการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลัง) อยู่ในระดับต่ำต่อไป
ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัว

ผลของการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลหลายด้านรวมทั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

ประการแรก การหดตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้การนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงในอนาคต แม้ว่าที่ผ่านมาการนำเข้าของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ทว่าการหดตัวของอุปสงค์มวลรวมจะทำให้การนำเข้าชะลอตัวหรืออาจจะลดลงได้ในอนาคต คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาได้ในอนาคตและราคาสินค้าออกของประเทศไทยยังคงตกต่ำต่อไป เป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมให้เลวร้ายลง ประการที่สอง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ จะยังคงตกต่ำต่อไป จากผลของการ หดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้ความรู้สึก (Sentiment) ของผู้ลงทุนที่เลวร้ายอยู่แล้วเลวร้ายไปอีก การหดตัวของเศรษฐกิจจะทำให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ตกต่ำลง คาดว่าตลาดหลักทรัพย์จะซบเซาต่อไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี แต่แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จะซบเซาแต่คาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยน้อยมาก เนื่องจากเงินทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ลงทุนในสหรัฐฯ มาจากประเทศในกลุ่ม EU ทำให้เมื่อเกิดปัญหาในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เงินทุนจะไหลกลับไปกลุ่ม EU เป็นส่วนใหญ่มากกว่าจะไปที่อื่น ซึ่งคาดว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ ใน EU มากขึ้น เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ใน EU โดยรวมใหญ่กว่าตลาดสหรัฐฯ และเนื่องจากประเทศในกลุ่ม EU ใช้เงินสกุลเดียวกันการลงทุนในประเทศกลุ่ม EU จะปลอดภัยจากการผันผวนทางการเงินในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ระบบบัญชีของประเทศไทยยังไม่ได้มาตรฐาน จากการประเมินความน่าเชื่อถือในการจัดทำบัญชีของ 9 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยบริษัท ซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ จำกัด พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำรองสุดท้ายคู่กับสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศที่มีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุดคือประเทศไต้หวัน ดังนั้น แม้ว่าจะเกิดปัญหาความไม่น่าเชื่อถือทางบัญชีของประเทศสหรัฐฯ มีโอกาสน้อยมากที่ผู้ลงทุนจะหันมาลงทุนในประเทศไทย แต่ในทางตรงกันข้าม จากการที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมในสหรัฐฯ จะไถ่ถอนหน่วยลงทุนทำให้ผู้จัดการกองทุน ต้องขายหุ้นในประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อนำเงินสดไปรองรับการไถ่ถอนเงินดังกล่าว และผู้จัดการกองทุนจะระมัดระวังมากขึ้น ในการลงทุนโดยเลือกลงทุนในประเทศที่มีมาตรฐานทางบัญชีในระดับสูงเป็นหลักคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะซบเชาต่อไปอีก ประการที่สาม จากการที่ต่างประเทศไม่มั่นใจในตลาดหลักทรัพย์และโอกาสการลงทุน ด้านการผลิตต่างๆ น้อยลง ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศสหรัฐฯ น้อยลง ไม่สามารถชดเชยการ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งมีมูลค่ากว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ต่อไปได้ ดังนั้น มีแรงกดดันทำให้ค่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มลดลง การที่เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ หดตัวลง ทำให้ความน่าลงทุนในสหรัฐฯน้อยลงไปอีก เงินทุนไหลเข้า จึงน้อยลงกว่าเดิมผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มลดลงต่อไป ประการสุดท้าย จากการหดตัวของเศรษฐกิจ ใน 2Q45 และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ต่อไป ทำให้ Fed ตัดสินใจที่จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ แต่มีโอกาสที่ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ย ทำให้ไม่มีแรงกดดันให้ประเทศไทยต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง

โดยภาพรวมการหดตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน 2Q45 และข้อมูลใหม่ที่ได้รับการปรับปรุง แก้ไข ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการชะลอตัวของการใช้จ่ายในการบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซาต่อไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้การนำเข้าชะลอตัวลงหรืออาจจะลดลง ตลาดหลักทรัพย์ยังคงซบเซา ค่าดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มลดลงและคาดว่า Fed จะคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ผลดังกล่าว ส่วนใหญ่มีผลลบต่อประเทศไทย โดยคาดว่าจะทำให้การส่งออกชะลอตัวลง ราคาสินค้าออกยังคงตกต่ำและตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังคงซบเซา แต่ยังมี ผลดีที่ทำให้ประเทศไทยสามารถคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อไปได้อย่างน้อยถึงสิ้นปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.