|
คู่มือภาพลักษณ์ CEO
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
อาจเป็นเรื่องปกติ สำหรับนักประชาสัมพันธ์ หรือคนที่เป็น PR man ที่ต้องพยายามสร้างผลงานด้วยการสื่อสารจุดเด่น หรือความรู้ความสามารถของตนเองให้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะ
แต่สำหรับพจน์ ใจชาญสุขกิจ ผลงานซึ่งเป็นจุดเด่นที่เขากำลัง สื่อออกมา นอกจากการชูความรู้ และประสบการณ์ของตนเองแล้ว สารที่ส่งออกมา ยังมีคุณค่า และเข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน
พ็อกเกตบุ๊กเรื่อง CEO PR & IMAGE เป็นผลงานชิ้นแรกของ เขาที่เพิ่งเริ่มวางตลาดเมื่อไม่นานมานี้
ปัจจุบันพจน์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ไทยพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย และมีขนาดใหญ่เป็น อันดับ 4 รองจากธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย และกสิกรไทย ทำหน้าที่ ดูแลงานด้านการสื่อข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนภาพลักษณ์องค์กรและ ผู้บริหารของธนาคารแห่งนี้
ประสบการณ์ในการดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับธนาคารและผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลประกอบ การของธนาคารกลับมาพลิกฟื้น มีกำไรอย่างต่อเนื่อง หลังจากต้อง เผชิญกับภาวะขาดทุนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ทำให้เขาตระหนักถึงความจำเป็นของงานประชาสัมพันธ์ และเห็นความสำคัญของบทบาทของสื่อ ที่ทุกวันนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการรับรู้ และความรู้สึกของสาธารณชนที่จะมีต่อองค์กร และผู้บริหารของแต่ละองค์กรนั้นๆ และสุดท้ายผลของการรับรู้และความรู้สึกดังกล่าว จะมีผลได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อผลประกอบการของแต่ละองค์กร
ดังนั้น การวางตัวหรือการที่ผู้บริหารขององค์กร ในการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ โดยอาศัยเครื่องมือและกระบวนการประชาสัมพันธ์ จึงมีความจำเป็น
พ็อกเกตบุ๊กเล่มนี้ อาจเป็นได้ทั้งคู่มือในการสร้างภาพลักษณ์ ของผู้บริหาร และเป็นคู่มือในการทำงานให้กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำงานที่จำเป็น ต้องสื่อสารข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อสาธารณชน
เนื้อหาในหนังสือ เริ่มต้นตั้งแต่การปูพื้นให้เห็นความสำคัญของฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ ที่มีความจำเป็นต่อการสร้างภาพลักษณ์ และความรู้สึกที่ดีของสาธารณชน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ขององค์กร และฝ่ายงานนี้จะสามารถสนับสนุนการทำงานของ CEO ของแต่ละองค์กรได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังเจาะลึกลงไปถึงวิธีการวางตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ ของ CEO กับสื่อต่างๆ เริ่มตั้งแต่การสร้างบุคลิกภาพของ CEO การปรากฏตัวต่อสาธารณะ การพูด การเขียน การให้สัมภาษณ์ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ CEO อาจต้องถูกสัมภาษณ์โดยกะทันหัน
บทส่งท้าย ยังพูดถึงกระบวนการชุมชนสัมพันธ์ การทำ branding การสื่อสารภายในองค์กร ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการสร้าง ภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และตัว CEO ขององค์กรแต่ละแห่ง
แม้รูปแบบการนำเสนออาจดูแข็ง และดูคล้ายกับตำราทางวิชาการไปบ้าง แต่ก็เป็นการนำเสนอสาระล้วนๆ ที่ไม่เยิ่นเย้อ เรียก ได้ว่ามีแต่เนื้อล้วนๆ ไม่มีน้ำ
CEO คนใดที่คิดว่าการประชาสัมพันธ์เป็นกระบวนการที่สำคัญ และต้องการพัฒนาภาพลักษณ์ของตนเองและองค์กรให้ดีขึ้น ตลอดจนฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะศึกษาประสบการณ์จากเพื่อนร่วมอาชีพ จะลองซื้อมาอ่านดู ก็ไม่น่าจะเสียหาย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|