|
CRM แบบ ตัน ภาสกรนที
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ขอเชิญพบกับตัน ภาสกรนที เศรษฐี พันล้าน เจ้าของโออิชิ กรุ๊ป" ทันทีที่สิ้นเสียงประกาศของพิธีกร เสียงปรบมือก็ดังขึ้น สายตาทุกคู่จับตามองร่างหนึ่งที่ก้าวเดินขึ้นเวทีอย่างกระฉับกระเฉง
ภาพหนึ่งของตัน ภาสกรนที ที่หลายคนยังไม่เคยรู้ คือในช่วงเวลานี้เขาเดินสายไป บรรยายให้กับสถาบันต่างๆ บ่อยมาก บ่อยจนพนักงานต้องเอ่ยปากว่า "พี่ตันพอเถอะทำงานดีกว่า"
ทำไมตันจะไม่เข้าใจลูกน้อง เพราะวันนี้ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างมาก และยังมีการแข่งขันกันสูง แต่เวลาที่หมดไปสำหรับการพูดแต่ละครั้งก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งวันในกรุงเทพฯ หากเป็นต่างจังหวัดก็จะเสียเวลา เป็นวัน
มีการวิเคราะห์กันว่า การที่เขายินดีเปิดตัวเองออกมาเช่นนี้ เหตุผลสำคัญเป็นเพราะเขาทำแล้วมีความ "ภาคภูมิใจ" โดยเฉพาะเมื่อเห็นคนฟังหลายคนจบปริญญาตรีปริญญาโท มานั่งฟังอย่างตั้งใจ และเมื่อลงจากเวที หลายคนเดินเข้ามาขอลายเซ็น เข้ามาแสดง คำพูดชื่นชมเขา ทั้งๆ ที่ในอดีตเขาเป็นเพียงนักเรียนหลังห้อง ซึ่งเรียนไม่เก่ง และจบแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น
เหตุผลที่สำคัญกว่านั้น คือการเดินทางไปพูดตามสถานที่ต่างๆ ถือเป็นโอกาสของการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าโออิชิ และยังได้รับฟังความคิดเห็น การติชมในเรื่องต่างๆ กลับมา เพื่อนำมาปรับปรุงตัวสินค้า ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่เขายินดีอ่านจดหมายจากแฟนคลับที่ส่งมาถึงเขาทุกฉบับหากมีโอกาส เพราะจะยิ่งทำให้เขาได้รู้จักรูปแบบชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น
ข้อมูลเหล่านี้เขาสามารถนำมาใช้ในการวางกลยุทธ์การตลาด ตลอดจนการพัฒนาสินค้า ใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตันมีตารางการบรรยายหลายแห่ง เช่น วันที่ 6 กรกฎาคม ไปบรรยายที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา, วันที่ 9 กรกฎาคม บรรยายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, วันที่ 15 กรกฎาคม บรรยายในงานรวมพลคนทันหุ้น, วันที่ 16 กรกฎาคม บรรยายที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่, วันที่ 19 กรกฎาคม บรรยายที่มหาวิทยาลัย มหิดล
ตันยอมรับว่า ส่วนใหญ่หากว่างเขามักไม่ปฏิเสธเมื่อได้รับจดหมายเชิญ นอกเสียจากว่า งานนั้นเป็นการขายบัตร เก็บเงินคนฟัง
เรื่องที่พูดส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสำเร็จของโออิชิ กรุ๊ป เรื่องธุรกิจชาเขียว กลยุทธ์สไปเดอร์มาร์เก็ตติ้ง และการบริหารจัดการเวลาเกิดปัญหา
ก่อนปิดต้นฉบับ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม "ผู้จัดการ" มีโอกาสติดตามตันไปฟังการบรรยายที่โรงเรียนกาญจนาภิเษก ในอำเภอพนมสารคาม อำเภอเล็กๆ ที่ห่างจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นการพูดในโครงการ "รักการอ่าน" ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งมีบรรดาข้าราชการของจังหวัด อาจารย์และนักเรียน ประมาณ 600 คนมาร่วมงาน
เป็นงานหนึ่งที่ตันเล่าว่า เมื่อแรกเขาปฏิเสธ เพราะผู้จัดขอหนังสือ "ชีวิตนี้ไม่มีทาง ตัน" ของเขาฟรีถึง 1,000 เล่ม ส่วนอำนวย สุนทรโชติ กรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ไม่คิดว่าคุณตันจะมาเหมือนกัน
หนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน 13 เล่มที่สภาอุตสาหกรรมกำหนดให้นักเรียนอ่านแล้วมาสอบแข่งขันวัดความคิดที่ได้จากหนังสือ โดยมีนักเรียน นักศึกษา ทุกระดับชั้นของทุกสถาบันในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มเป้าหมายของการร่วมโครงการ
วันนั้นตันมีเวลาขึ้นพูดประมาณ 1 ชั่วโมง เกี่ยวกับเรื่องราวความสำเร็จในชีวิต โดยไม่ได้พูดในลักษณะประชาสัมพันธ์ตัวสินค้าเลย เพียงแต่โต๊ะบนเวที มีชาเขียวโออิชิ กรีนที วางอยู่ 1 ขวด ซึ่งเขายกจิบตลอดเวลา และทันทีที่เขาก้าวขึ้นบนเวที เบื้องล่างนักเรียนกลุ่มใหญ่ทยอยเดินแจกโออิชิในกล่องแช่เย็นเฉียบให้กับผู้นั่งฟังทุกคน
จะว่าไปแล้วนักการศึกษากลุ่มนี้อาจไม่สนใจเรื่องราวของนักธุรกิจอย่างเขามาก่อน เพียงแต่คุ้นเคยชื่อเขาอยู่บ้างตามสื่อต่างๆ คราวนี้จึงเหมือนกับการได้เปิดตัว ตอกย้ำแบรนด์กับตลาดกลุ่มใหม่ของเขา เป็นการเล่นกับความรู้สึกของคน ที่เมื่อมีโอกาสสัมผัสและคุ้นเคย การตัดสินใจที่จะซื้อหาสินค้าของคนรู้จักมาทดลองใช้น่าจะง่ายเข้า โดยที่ตันใช้เงินไปในวันนั้น ประมาณ 2 แสนบาท เป็นค่าชาเขียวโออิชิ 2 ลัง และค่าหนังสือ 1,000 เล่ม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|