|
ตัน ภาสกรนที เป็นอย่างเขาไม่ยาก?
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
จากวิถีชีวิตที่ธรรมดามาตั้งแต่เกิด วันนี้ ตัน ภาสกรนที ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้อ่านนิตยสาร "ผู้จัดการ" ให้เป็น Role Model อันดับที่ 2 ในสังคมธุรกิจไทย มีคะแนนเป็นรองเพียงเล็กน้อยจากเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เพิ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปีนี้
ตัน ภาสกรนที ถือเป็น Role Model ที่มีบุคลิกเรียบง่าย เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้า "โออิชิ" ที่พยายามเข้าถึงผู้คนด้วยวิธีง่ายๆ โดยเขาเลือกใช้ "สื่อ" แทนสายสัมพันธ์ที่ทรง อิทธิพล ซึ่งต่างจาก Role Model อีกหลายคน
วิเคราะห์สาเหตุที่คะแนนนิยมในตัวของตัน พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ (ปี 2547 เป็นปีแรกที่ชื่อ ตัน ภาสกรนที ถูกเสนอชื่อให้เป็น Role Model โดยอยู่อันดับที่ 14) มีตัวแปรสำคัญ 3 ประการ
ประการแรก ตัวแบรนด์ "โออิชิ" เอง ที่เป็นแบรนด์สินค้าที่เพิ่มสีสันขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กระแสชาเขียวฟีเวอร์เมื่อ 2 ปี ก่อน จนมาสู่การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นไม่นานก็ถูกวิกฤติเล่นงาน จากกระแสชาเขียวปนเปื้อนกรดเกลือ จนกระทั่งนำมาสู่แคมเปญพบโชค 1 ล้าน ใต้ฝาโออิชิ รวมทั้งการเข้าเป็น 1 ในสปอนเซอร์หลักของ reality show อย่างรายการ Big Brother ที่มีสโลแกนว่า "เกมชีวิตจริง ของคนธรรมดา"
ประการที่ 2 วิธีการที่ตันใช้จัดการกับ ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงวิกฤติชาเขียว ปนเปื้อนกรดเกลือ ที่เขาใช้เวลาไม่นาน ในการฟื้นความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคกลับคืนมาสู่ตัวสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
"ระยะหลังหัวข้อที่คนส่วนใหญ่เชิญให้ผมไปพูด คือ crisis management" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ประการสุดท้าย รูปแบบชีวิตของตัน ซึ่งเป็นที่เปิดเผยเป็นรูปแบบพื้นๆ ที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ง่าย แตกต่างจาก Role Model คนอื่น ที่มักมีรูปแบบในเชิงอุดมคติ ยากที่คน ส่วนใหญ่ของสังคมจะเข้าถึงได้ ในสภาพเศรษฐกิจเฉกเช่นปัจจุบัน
ตันตอบ "ผู้จัดการ" ที่ถามว่าหากคน ส่วนใหญ่ต้องการจะเป็นได้อย่างเขา จะต้องทำอย่างไร "ง่ายนิดเดียว ขอเพียงเมื่อเจอกับ ปัญหาแล้วต้องไม่ท้อ"
ตันเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และตั้งรกรากในจังหวัดชลบุรี ด้วยฐานะครอบครัวที่ไม่ดีนัก ทำให้เขาได้เรียนแค่ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 3 เริ่มงานแรกเป็นคนแบกของเมื่ออายุ 17 ปี มีธุรกิจของตนเองเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี โดยยืมเงินจากพ่อและพี่สาวรวมกัน 5 หมื่นบาท เปิดร้านขายหนังสือในตึกแถวใกล้ๆ ท่ารถทัวร์ จังหวัดชลบุรี ก่อนที่จะขยายไปเปิดร้านกิ๊ฟต์ชอป ร้านเบเกอรี่ ร้านสุกี้ ฯลฯ
พอมีเงินเก็บจำนวนหนึ่งก็คิดการใหญ่ ไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ต้องเจอกับวิกฤติ เศรษฐกิจในช่วงลอยตัวค่าเงินบาท ปี 2540 จนเป็นหนี้นับ 100 ล้านบาท ต้องขายทรัพย์สินเกือบทุกอย่างเพื่อเคลียร์หนี้ก้อนนี้
ชีวิตเริ่มต้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ด้วยธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพแต่งงาน ก่อนจะมาทำบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น และโออิชิกรีนที
จากหนี้สิน 100 ล้านบาท กลายเป็นทรัพย์สินในรูปมูลค่าหุ้นจำนวน 200 ล้านบาทใน เวลา 4-5 ปีต่อมา และเมื่อโออิชิได้เข้าตลาดหุ้นมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,000 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุด ณ วันปิดต้นฉบับ 19 กรกฎาคม ราคาหุ้นโออิชิปิดที่ 33.50 บาท ทำให้ มูลค่าทรัพย์สินของเขาและภรรยารวมกันเท่ากับ 2,090.4 ล้านบาท)
วิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร และการเริ่มอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้เรื่องราวในชีวิตของเขามีสีสัน จนหลายคนนำไปเป็นกรณีศึกษา เรื่องราวของตันถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องจากสื่อต่างๆ จนกลายเป็นนักธุรกิจที่มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง
ที่ได้รับผลดีต่อเนื่องไปด้วยคือแบรนด์ สินค้า "โออิชิ" ที่มีชื่อติดตลาดไปพร้อมกับการได้รับความสนใจในตัวตนของตัน ภาสกร นที
"2-3 ปีมานี้ ผมใช้สื่อเยอะมากยอมรับว่าสื่อมีส่วนอย่างมากในการปั้นผมขึ้นมา" ตันยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงหนึ่ง ของการสนทนาบนชั้น 20 อาคารยูเอ็มทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ของโออิชิ กรุ๊ป บนถนนรามคำแหง
ห้องทำงานของเขาตกแต่งอย่างเรียบๆ หลังโต๊ะทำงานตัวใหญ่เป็นชั้นวางของกระจุกกระจิก นอกจากตัวอย่างสินค้าและเครื่องมือในการทำตลาดของโออิชิแล้ว ยังมีของที่ระลึกจากเพื่อนฝูงและคนรู้จักวางอยู่ด้วย
ตันบอกว่าประตูห้องทำงานของเขาไม่เคยปิด ลูกน้องสามารถเข้ามาหาเพื่อปรึกษา งานได้เลย ไม่ต้องนัดเวลาล่วงหน้าผ่านเลขา เช่นเดียวกับนักข่าวและผู้คนทั่วไป ที่ตันมักให้เบอร์โทรศัพท์มือถือไว้เพื่อติดต่อได้โดยตรง ดังนั้น ไม่ว่าน้ำมันจะขึ้นราคา ค่าไฟฟ้าจะแพง ขึ้น นักข่าวสามารถโทรมาขอความเห็นจากเขาได้หมด
ผนวกกับวางแผนการทำงานของฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำให้เรื่องและภาพของตันปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสารธุรกิจ หรือแม้แต่นิตยสารผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เป็นรูปธรรมที่สุดของเขา หลังตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อประมาณต้นปี 2547
ตลอดระยะเวลา 20 ปีของการทำธุรกิจ ก่อนหน้านี้ตันไม่เคยให้สัมภาษณ์ เขาทำงาน เบื้องหลังมาตลอด ประโยคเด็ดที่เขามักกล่าวกับนักข่าวก่อนหน้านี้ก็คือ "ขอโทษครับ ผมไม่สะดวกที่จะพูด ผมไม่ถนัด"
วันเปิดร้านโออิชิ สาขาแรกที่ทองหล่อ มีเรื่องราวที่เขาชอบเล่าให้ใครฟังเสมอว่า ในช่วงเวลานั้นนักข่าวน้อยคนที่จะรู้จักเขา เพราะส่วนใหญ่จะมีฐิติมา ศรีอุทัยศิริวงศ์ และดารุณี กฤตบุญญาลัย สองหุ้นส่วนเป็นคนรับหน้านักข่าวและแขกแทน
"วันนั้นห้องน้ำแตก ผมต้องอยู่ในห้องน้ำซ่อมท่อน้ำ เนื้อตัวเลอะไปหมด นักข่าวและแขกไม่รู้หรอกว่าผมเป็นใคร"
ตันเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในรายการเกมแก้จน ของปัญญา นิรันดร์กุล ซึ่งเป็นเกมที่ผู้แข่งจากทางบ้านต้องทายว่าคนไหนเป็นเจ้าของกิจการตัวจริง ตอนแรกเขาปฏิเสธให้เอาหุ้นส่วนไปออกรายการแทน ซึ่งทางรายการก็บอกว่า ถ้าเป็นคนอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักแล้ว
"ทุกวันนี้สื่อถึงตัวผมได้ง่าย เพราะเวลาสัมมนาหรือแถลงข่าว มีคำถามเยอะมาก เราก็ไม่สามารถตอบเขาได้หมด ผมก็ให้เบอร์ มือถือไป ลูกน้องว่าผมเป็นประจำเลย เขาบอกว่าไม่ควรให้ แต่ผมกลับมองว่าไม่เห็นเป็นไรเลย ตอบเขาเคลียร์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเราเอง อีกอย่างหนึ่ง ผมถือว่าที่มีวันนี้ก็เป็นเพราะว่าผมก็ไปถามคนอื่นมาเหมือนกัน" ตันอธิบายตัวตนของเขาเพิ่มเติม
การเปิดตัวมากขึ้นและ "เล่น" กับสื่อเป็น ทำให้ตันเป็นที่รู้จักในสังคมที่กว้างขึ้น ในขณะเดียวกันเขาได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการเดินสายพบปะลูกค้าด้วยตัวเอง รวมทั้งรับงานบรรยายให้กับสถาบันต่างๆ (อ่านล้อมกรอบ "CRM แบบตัน ภาสกรนที" ประกอบ)
ทุกวันนี้เขาบอกว่าเหนื่อยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ได้เงินมาง่ายขึ้น แต่ตารางชีวิตการ ทำงานเต็มเหยียดเช่นเดิม วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ยังใช้เวลาส่วนหนึ่งออกไปปฏิบัติการ "ซื้อใจ" ลูกค้าทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ด้วยการไปสอบถามยอดขาย ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ ด้วยตัวเอง ซึ่งในระยะหลังเมื่อเขาเริ่มเป็น "คนดัง" มักมีรายการจับมือขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับเขาด้วย
ครั้งหนึ่งลูกค้าจากจังหวัดยะลาคือผู้โชคดี เปิดใต้ฝาโออิชิพบโชค 1 ล้านบาท งานนั้น ทั้งภรรยาและทีมงานต่างพากันทักท้วงว่า ให้คนอื่นไปแจกรางวัลแทนดีกว่า มันอันตราย แต่เขากลับยืนยันที่จะลงไปเอง โดยให้เหตุผลว่าทุกคนต่างมีชีวิตเดียว ตายได้ครั้งเดียว ถ้างานที่เสี่ยงเจ้านายไม่ยอมทำ ต่อไปลูกน้องในระดับรองลงไปก็จะใช้วิธีการเดียวกัน
"ตอนไปก็ใส่หมวกใส่แว่นบ้าง ที่จริงไปเห็นแล้วไม่น่ากลัว แต่ก็คงน่ากลัว ถ้ามีข่าว ออกไปก่อนว่าผมจะไปแจกเงินล้านที่นั่น"
งานนี้ไม่เพียงแต่เขาได้ใจจากชาวจังหวัดยะลาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ลูกน้องต้องเล่าสู่กันฟังไปอีกนาน
ในทางกลับกันเป็นที่รู้กันว่า ตันไม่ค่อยชอบออกงานสังคมเลย นอกจากงานศพ และงานสังสรรค์ของเพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดจริงๆ
ตันยังยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องการแต่งตัว
"ผมรูปไม่หล่อ ไม่ชอบแต่งตัว เมื่อก่อนมีรองเท้าอยู่คู่เดียว งานศพ งานแต่ง งานบวช ใช้คู่นั้นตลอด ตอนหลังลูกน้องทนดูไม่ได้ ซื้อสูทมาให้ ซื้อรองเท้ามาให้ จนตอนนี้เสื้อผ้าที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นของคนอื่นที่ซื้อมาฝากทั้งนั้น ทั้งมีแบรนด์ และไม่มีแบรนด์ แล้วยังคอยกำชับว่า พี่ตันต้องใส่นะ ภาพที่ออกมาจะได้ดูดี"
แม้จะถูกติวเข้มเรื่องการแต่งกาย แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่ชอบใส่สูท นอกจากออกรายการทีวีที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน และยังชอบใส่ กางเกงยีนส์ มาทำงาน แต่บางวันอาจเปลี่ยน จากเสื้อยืด เป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาว เพื่อให้ดูเรียบร้อยขึ้น สีโปรดคือสีดำ สีฟ้าอ่อน หรือสีฟ้าเข้ม
เขาเป็นคนค่อนข้างมัธยัสถ์สำหรับตนเอง แม้แต่ตัดผมก็ไม่ยอมเสียค่าตัดร้านแพงๆ ในกรุงเทพฯ ร้านตัดผมประจำอยู่ที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เป็นร้านแบบโบราณ ไม่ติดแอร์ ค่าตัดครั้งละ 50 บาท
"อย่างวันนี้พอให้สัมภาษณ์พวกคุณเสร็จ ผมต้องไปงานวันเกิดเพื่อนสนิท เลยไม่ใส่เสื้อดำ เมื่อเช้าหยิบเสื้อดำมาใส่ เมียเขาก็ทักขึ้นมา"
วันนั้นเขาอยู่ในชุดสบายๆ กางเกงยีนส์ฟอกสีน้ำเงินจาง เสื้อแขนยาว ลายริ้วสีแดงขาวสดใส รองเท้าคัทชูสีดำ ไม่แขวนพระ ไม่ใส่แหวน ทั้งเนื้อทั้งตัวมีนาฬิกาเพียง เรือนเดียว (วันรุ่งขึ้นในงานแถลงข่าวโออิชิ กรีนคอมแบต เขานุ่งยีนส์ ใส่เสื้อยืดสีขาวมีโลโกโออิชิ วันถัดไปในงานโครงการรักการอ่าน ที่จัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ใส่ยีนส์และเสื้อเชิ้ตแขนยาว ลายริ้วสีฟ้า เขียว ขาว)
จากบุคลิกที่เข้าถึงผู้คน และเห็นหน้ากันบ่อยๆ ตามสื่อ รวมทั้งเรื่องราวในชีวิตจากหนังสือ "ชีวิตนี้ไม่มี ทางตัน" ที่พิมพ์เป็นครั้งที่ 9 จำนวน 30,000 เล่ม ในเวลา 3 เดือน เป็นส่วนหนึ่งทำให้เขาเป็น CEO คนเดียว กระมังที่มีแฟนคลับเดินเข้ามาขอลายเซ็น และมีจำนวน มากที่เขียนจดหมายเข้ามาหา
ในแฟ้มเล่มใหญ่ ตันให้ เลขาเก็บจดหมายทุกฉบับเอาไว้ เฉลี่ยแล้วมีเข้ามาเกือบทุกวัน บางฉบับเขียนมาขอเงิน บางฉบับขายที่ดิน บางคนเล่าถึงปัญหา และถ่ายเอกสาร ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต เรียงมา เป็นตับส่งมาให้เขาดู แต่ก็มีหลายคนที่เขียนขอคำแนะนำในการทำธุรกิจ
เมื่อก่อนเขาอาจมีเวลา อ่านเอง แต่ตอนหลังต้องให้คนอื่นอ่านแล้วสรุปย่อไว้ให้ และยอมรับว่ามีบางฉบับเท่านั้นที่โดนใจเขา และช่วยเหลือกันไปบ้าง
สำหรับตัวเอง เขาบอกว่าทุกวันนี้เงินที่มีเยอะพอ ทั้งๆ ที่หากเทียบกับคนรวยจริงๆ ยังน้อยกว่ากันมาก ทรัพย์สินหลักๆ ของเขาที่ได้มาในช่วงไม่กี่ปีนี้คือ บ้าน 2 หลัง หลังแรกเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในโครงการบ้านอิสสระ ถนนพระราม 9 บ้านหลังที่ 2 อยู่ที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี เป็นบ้านที่เอาไว้พักผ่อน และต่อไปตั้งใจว่าจะอยู่ที่นั่น
มีรถ 3 คัน คันแรก Lexus ปัจจุบันเขาใช้รถ Honda สีขาว นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนภรรยาใช้รถใหม่ป้ายแดง BMW ซีรีส์ 7
"ตอนแก่ๆ ผมต้องการกลับไปอยู่บ้านนอก อยู่ที่นั่นมีเงินแค่ 10 ล้าน ก็หรูสุดแล้ว ผม ตั้งใจไว้ว่าไม่ทำงานไปตลอดชีวิตหรอก อายุ 70 ปีก็คงไม่นั่งเป็นประธานบริษัทไหนแล้ว"
เงินที่ได้มาส่วนใหญ่นำมาใช้ในการลงทุนต่อยอดธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่เก็บเงินด้วยการฝากประจำ ไม่ซื้อขายหุ้น ไม่ซื้อที่ดินเก็บ ที่ดินเปล่าที่เหลืออยู่แปลงเดียวขณะนี้ ก็เป็นที่ดินซึ่งเคยสร้างโครงการในจังหวัดชลบุรีแล้วขายไม่ออก
เศรษฐีใหม่หลายคนอาจจะไล่ล่าเครื่องประดับ ภาพวาด หรืองานศิลปะมาประดับเป็นของสะสมเพิ่มบารมี แต่ตันไม่เคยมี เล่นกอล์ฟไม่เป็น กีฬาที่เพิ่งให้ความสำคัญเมื่อไม่นานมา นี้คือ การออกกำลังกายด้วยการวิ่งทุกวันบนลู่วิ่ง
เขาเคยตอบเล่นๆ กับผู้ตั้งคำถามนี้ว่า "ผมสะสมพนักงาน จาก 11 คนเมื่อตอนทำสตูดิโอแต่งงาน ตอนนี้รวมทั้งหมดของโออิชิ กรุ๊ป ก็เกือบ 4 พันคน" และจากจำนวนที่เพิ่ม ขึ้นอย่างรวดเร็วนี่เอง ทำให้ค่อนข้างกังวลว่าไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง แต่จะพยายามจำกัดการเติบโตของพนักงานภายใน 3 ปีนี้ไม่ให้เกิน 5 พันคน
แม้เขาจะบอกว่า ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ ทรัพย์สินที่เคยมีแค่ 100-200 ล้านบาท ก็มากเกินพอ แต่ก่อนหน้านี้ที่เขาตัดสินใจนำโออิชิเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเหตุผลหนึ่งที่ว่า เขาเป็นคนมีการศึกษาน้อย หากทำงาน โดยใช้ความรู้สึกแบบเดิมๆ ไม่ถูกต้องแน่นอน การเข้าตลาดหุ้นทำให้การทำงานเป็นระบบมาก เพราะมีการตรวจสอบและติดตามผลตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้บริษัทและลูกน้องมั่นคงขึ้น
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันโออิชิ กรุ๊ป จำเป็นต้องสร้างคนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับงานที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะด้านไอที และพัฒนาบุคลากร
วัฒนธรรมองค์กรกำลังเปลี่ยนไป เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาต้องระวังในการคัดเลือกคนมาร่วมงาน ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่ง ซี.พี. อาจให้ความสำคัญในการดูโหงวเฮ้งของคน แต่ที่โออิชิ อย่างแรกเลยหากใครทำตัวไฮโซมาสมัครงาน อาจจะเสียเปรียบ เพราะเขาหรือเธอกำลังจะมาทำงานกับบริษัทที่เจ้านายมีบุคลิกแบบติดดิน และพร้อมลุยงานได้ตลอดเวลา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|