50 "ผู้จัดการ" 2548 The Real Model

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการโหวตคัดเลือก 50 "ผู้จัดการ" Role Model ประจำปี 2548 ได้สะท้อนแนวคิดบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมธุรกิจไทย

Role Model ที่เป็นรูปแบบในอุดมคติ และเคยมีอิทธิพลต่อแนวคิดของนักธุรกิจส่วนใหญ่ในอดีต กำลังถูกลดบทบาทลง ขณะที่รูปแบบที่สะท้อนถึงความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน รูปแบบชีวิตของคนที่จับต้อง และเข้าถึงได้ง่าย กลับเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของคนส่วนรวมมากขึ้น

เหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะรูปแบบของ Role Model ที่เคยมีอิทธิพลในอดีต การเติบโตของคนเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากสัมปทานที่ได้มาจากภาครัฐ ซึ่งสัมปทานเหล่านี้แทบจะไม่มีเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน

ดังนั้นรูปแบบความสำเร็จของคนที่ต่อสู้ด้วยลำแข้งของตนเอง รู้จักหยิบฉวยจังหวะ และตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สำคัญในการส่งต่อวิสัยทัศน์ไปยังกลุ่มคนที่เป็นตลาดเป้าหมาย จึงกลายเป็นรูปแบบชีวิตที่จับต้องได้ และโอกาสที่คนส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จกับรูปแบบชีวิตเช่นนี้ จึงมีมากกว่า

การที่ตัน ภาสกรนที ถูกคัดเลือกให้ขึ้นมาเป็น Role Model อันดับที่ 2 มีคะแนนแซงธนินท์ เจียรวนนท์ ที่เคยครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 3 ปีเต็ม จึงน่าจะมีเหตุผลมาจากจุดนี้

ขณะเดียวกัน ลำดับที่ตกลงของธนินท์กลับสวนทางกับคะแนนนิยมในตัวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่พุ่งขึ้นจนในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ชื่อของเจริญถูกเลือกให้เป็น Role Model อันดับ 1 ขณะที่ 3 ปีก่อนหน้า เขาอยู่อันดับที่ 3 มาโดยตลอด

วิเคราะห์จากบทบาทของทั้งเจริญ และธนินท์ ในรอบ 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสวนทางกันโดยสิ้นเชิง เพราะขณะที่กิจการของคนหนึ่งกำลังมีพลวัต เกิดการร่วมทุนใหม่ๆ ที่สำคัญคือการเริ่มเปิดตัวด้วยการนำกิจการที่เคยผูกขาดเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่กิจการของอีกคนหนึ่ง กลับต้องเผชิญปัญหาด้านภาพลักษณ์ที่ถูกสังคมเพ่งเล็งว่าไปผูกพันอยู่กับภาคการเมือง

และปีนี้เป็นปีแรกที่มีคนที่เป็นนักการเมืองจริงๆ ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามามีชื่ออยู่ใน 50 อันดับ Role Model

เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่ากรณ์ จาติกวณิช ในบทบาทของนักธุรกิจการเงินระดับชาติ กลับได้รับคะแนนนิยมน้อยกว่า บทบาทที่เขาเพิ่งเปลี่ยนมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องราวของ Role Model ทั้ง 4 น่าจะอธิบายความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทย ที่ได้มีพัฒนาการขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.