|
Beijing BOOM BOOM...
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเยือนนครปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีนก็คือ เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วเห็นทีจะต้องหาโอกาสไปเรียนภาษาจีนกันจริงๆ จังๆ เสียที ที่ต้องสัญญากับตัวเองเอาไว้เช่นนี้เพราะความสำคัญของจีนต่อระบบเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้นจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกันภาพของประเทศจีน (ปักกิ่ง) ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ต่อหน้านั้นต่างกันลิบลับกับประเทศจีนในความเข้าใจแต่ดั้งเดิม
เอาง่ายๆ แค่ว่า นับตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากสนามบิน เราได้พบเห็นการก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคมากมาย ตั้งแต่ถนน ทางด่วน โรงแรม อาคารสำนักงานไปจนถึงอาคารที่พักอาศัย จริงอยู่ว่าแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 (มีป้ายโฆษณาสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับ Beijing 2008 ติดให้พบเห็นเป็นเครื่องเตือนใจ จำนวนมาก) แต่สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งน่าจะมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงเกิน 7% มาตั้งแต่ปี 1999 ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่นนี้ ทำให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นในสังคมจีนเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่ต่างอะไรจากประเทศไทยในยุคโชติช่วงชัชวาลที่เศรษฐกิจช่วงนั้นได้ก่อกำเนิดมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ในสังคมไทยที่เรียกกันว่า "ยัปปี้" แต่ที่ต่างจาก ไทยก็คือ ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลถึง 1.3 พันล้านคน ถ้าใน จำนวนนี้มีอยู่ 10% ที่ก้าวขึ้นเป็นชนชั้นกลางได้ ก็คิดเป็นจำนวนถึง 130 ล้านคนแล้ว เท่ากับว่าประเทศ นี้มีชนชั้นกลางที่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ กล้าที่จะใช้จ่ายในจำนวนมากที่สุดในโลก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะได้พบเห็น คอนโดมิเนียมหรูกลางกรุงปักกิ่ง ที่สนนราคา ตารางเมตรละ 8,000 หยวน* และราคาขายตั้งแต่ 1 ล้านหยวนขึ้นไป ในขณะที่บนท้องถนนก็มีรถยนต์หรูวิ่งกันจนแทบลืมไปว่านี่กำลังยืนอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะมีให้เห็นทั้ง BMW Audi Jeep หรือแม้กระทั่งรถซดน้ำมันอย่าง Hummer รวมไปถึงผลพวงที่เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญอย่างรถติดก็เกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ปักกิ่งมีระบบขนส่งมวลชนพร้อม มีทั้งรถเมล์ไฟฟ้าราว 500 คันและรถไฟใต้ดินที่มีใช้มาแล้วถึง 40 ปี (นึกแล้วก็ให้เจ็บใจที่ลืมเกทับไกด์ไปว่า ถึงกรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้าใช้ทีหลัง แต่รถไฟใต้ดินชนกันของเรามีก่อน) และประชากรจำนวนมากก็ยังนิยมใช้จักรยานตามความคุ้นเคย ซึ่งที่นี่มี bike lane สำหรับจักรยานที่ผู้นิยมจักรยานในกรุงเทพฯ พยายามเรียกร้องกันมานานแล้วด้วย
พูดถึงโอลิมปิกและรถติด รัฐบาลจีนให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าการเดินทางของนักกีฬาจากที่พักไปยังสนามกีฬาแต่ละแห่งจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงแน่นอน พี่พรชัย (ไกด์ชาวจีนที่พูดและเข้าใจภาษาไทย ชนิดเล่นสำบัดสำนวนได้คล่อง) เล่าให้ฟังว่า ถ้าเป็นที่อื่นไม่แน่ใจ แต่ถ้าที่ปักกิ่งรับรองทำได้ไม่มีปัญหา เพราะมีคำสั่งห้ามไม่ให้รถของเอกชนและราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาออกมาวิ่งเพ่นพ่านในช่วงนั้น ดีไม่ดีทางรัฐบาลจีนอาจจะใช้มาตรการกระตุ้น และส่งเสริมให้คนปักกิ่งออกไปเที่ยวนอกเมือง กันเสียด้วยซ้ำ เหมือนเมื่อครั้งที่จัดประชุมซัมมิตที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลจัดงบพิเศษให้หน่วยราชการจัดทัวร์ไปเที่ยวภายในประเทศกันได้ ทำเอาเซี่ยงไฮ้โล่งไปถนัดตา
การท่องเที่ยวของจีนก็ถือเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในจีนเท่านั้น ชาวจีนเองก็ยังนิยมท่องเที่ยวในประเทศกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประวัตินับพันปีของจีนที่มีเรื่องราวให้หยิบมาขายได้แทบ ทุกช่วง จึงไม่แปลกใจเลยที่สถานท่องเที่ยว สำคัญของกรุงปักกิ่งจะเต็มไปด้วยผู้คน ไม่ว่า จะเป็นจัตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวังโบราณ หอฟ้าเทียนถาน พระราชวังฤดูร้อน และที่ขาดเสียไม่ได้คือ กำแพงเมืองจีน
เฉพาะที่พระราชวังโบราณแห่งเดียวก็มีนักท่องเที่ยวมาเข้าชมวันละร่วมๆ 50,000 คน แต่ถ้าเป็นวันหยุดสำคัญอย่างเช่น วันชาติ หรือวันแรงงานด้วยแล้ว ยอดนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นไปถึงวันละ 200,000 คนเลยทีเดียว จำนวน คนขนาดนี้กว่าจะเบียดเข้าไปดูที่ประทับว่าราชการของจักรพรรดิจีนได้ก็ต้องทั้งเบียดทั้งถองกันจนเหนื่อยพอตัว ขณะที่บางคนก็ยอมถอดใจขอดูจากภาพในกล้องถ่ายรูปของคนอื่นแทน
เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วประกอบกับการค่อยๆ เปิด ประเทศรับวัฒนธรรมตะวันตกของจีน ทำให้ร้านค้าและสินค้าตะวันตกเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ในใจคนรุ่นใหม่ของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านฟาสต์ฟู้ดทั้ง McDonald และ KFC มีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับร้านกาแฟ Starbucks ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นชาวจีนแทนการดื่มชาเฉกเช่นวัตรปฏิบัติของบุพการี และเป็น Starbucks นี่เองที่หักหาญบุกเข้าไปเปิดร้านอยู่ในบริเวณพระราชวังโบราณ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับไกด์ของเราจนไม่ยอม ชี้ให้ดูตำแหน่งที่ตั้ง ต้องอ้อนวอนกันอยู่นานกว่าจะยอมบอกว่าอยู่ตรงไหน
ด้วยความที่ประชากรจีนในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.3 พันล้านคน แต่ละครอบครัวจึงได้รับอนุญาตให้มีทายาทได้เพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ คู่สมรสที่อายุรวมกันแล้วยังไม่ถึง 50 ปียังห้ามมีลูกอีกด้วย โดยรัฐบาล จะให้การสนับสนุนในการคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดที่มีให้ใช้ได้ฟรี หรือหากฝ่ายหญิงสมัครใจจะใส่ห่วงคุมกำเนิดก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่นกัน รัฐบาลดูแลกันถึงขนาดนี้ แต่หากพลาดพลั้งตั้งท้องขึ้นก่อนถึงวัยที่ได้รับอนุญาต รัฐบาลก็จะสั่งให้ทำแท้งทันทีโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้เอง เด็กชาวจีนรุ่นใหม่จึงถูก ฟูมฟักเอาใจตั้งแต่เด็ก ประหนึ่งมังกรหรือหงส์ตัวน้อยก็ไม่ปาน ไกด์เล่าว่าเด็กบางคนแทบจะไม่รู้จักคำว่า "ให้" เลยด้วยซ้ำ เพราะ ชีวิตนี้เป็นฝ่ายรับมาตลอด ทั้งจากพ่อแม่และญาติๆ ทั้งหลาย ฟังอย่างนี้แล้วเด็กไทยอย่าเพิ่งนึก อิจฉา เพราะเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาภายใต้แรงกดดันไม่น้อย ด้วยความที่ประชากรมีมาก การแข่งขันกันเอง เพื่อให้ตัวเองโดดเด่นที่สุดจึงมีมากตามไปด้วย เด็กจีนบางคนอายุครบ 3 ขวบก็ถูกพ่อแม่จับส่งเรียนพิเศษกันแล้ว บางคนเพิ่งจะครบ 8 ขวบก็พูดได้แล้ว 3 ภาษา ยังไม่รวมถึงความสามารถพิเศษอื่นๆ จำพวกดนตรีหรือกีฬาที่ต้องมีแถมพ่วงไปด้วย
ได้ยินอย่างนี้แล้ว ใจกลับนึกไปถึงเด็กตัวน้อยที่กรุงเทพฯ ที่วันๆ ต้องวิ่งรอกเรียนพิเศษตามความหวังดี ของพ่อและแม่ที่อยากเห็นลูกมีอนาคตที่ดี จนวันนี้แทบไม่รู้เลยว่าชีวิตสดใสในวัยเด็กตามแบบอย่างของคนรุ่นพ่อแม่นั้นเป็นอย่างไร
หมายเหตุ : * อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวนต่อ 5.34 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|