ครึ่งปีหลังค้าปลีกกระอักจัดแคมเปญเน้นจุดเด่นสู้


ผู้จัดการรายวัน(25 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

อดีตนายกสมาคมค้าปลีกไทย วิเคราะห์ตลาดค้าปลีกครึ่งปีหลัง "ผู้ประกอบการเหนื่อย ผู้บริโภคมึน" ชี้ 3 ปัจจัยหลักกระแทกใส่ ควบคุมไม่ได้ ส่งผลตลาดค้าปลีกปีนี้ส่อแววนิ่งไม่เติบโต เผยยักษ์ค้าปลีกต่างปรับแผนจัดกิจกรรมถี่ขึ้นและเร็วขึ้น พร้อมสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อกู้ยอดขาย

นายวิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด และอดีตนายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้วงการค้าปลีกจะต้องเผชิญกับศึกหนักเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจในเวลานี้ ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกทุกรายจะต้องเหนื่อยหนักกว่าเดิม ขณะที่ผู้บริโภคเองก็อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ไม่รู้ชะตากรรมอนาคต

เขากล่าวด้วยว่า ปัจจัยลบที่ยังเป็นปัญหาในการทำตลาดของค้าปลีกคือ 1.ค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งดีเซลและเบนซิน และแนวโน้ม ครึ่งปีหลังยังไม่มีความมั่นใจเลยว่า ราคาน้ำมันจะยังเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้อีกหรือไม่ 2.อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน และ 3. กำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะควบคุมได้เพราะเป็นปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น

ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักดังนี้ คือ 1. ค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน 2.ดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากของสถาบันการเงิน 3.ค่าบริหารรวมทั้งค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอัตราราคาน้ำมัน

นายวิโรจน์มองว่า ตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกในปีนี้คงจะเติบโตไม่มากนักอาจจะไม่เกิน 5% หรือหากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้อีกค้าปลีก อาจจะไม่เติบโตเลยก็ได้อยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งๆ ที่โดยเฉลี่ยแล้วธุรกิจค้าปลีกจะเติบโตประมาณ 10%

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในต่างจังหวัดนั้นจะยิ่งได้รับผลกระทบมากกว่าค้าปลีกที่อยู่ในกรุงเทพฯหรือปริมณฑล เนื่องจากผู้บริโภคในต่างจังหวัดนั้นมีรายรับที่น้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เมื่อมาเจอกับปัญหาต่างๆที่ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินชีวิตสูงขึ้นแต่รายรับไม่ได้เพิ่มตามนั้นก็ยิ่งทำให้กำลังซื้อที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยถอยลงตามไปอีก เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักก็จะเป็นคนระดับรากหญ้าด้วย

ช่วงนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าบรรดาโมเดิร์นเทรด ดิสเคานต์สโตร์ต่างก็งัดกิจกรรมแคมเปญลดราคามาฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วง ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้รับผลดีที่ซื้อสินค้าราคาถูก แต่บรรดาค้าปลีกรายเล็กก็จะยิ่งลำบากหนักขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะถูกยักษ์ใหญ่ขายราคาต่ำกว่าเพื่อกู้ยอดขายในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้"

แนวทางการทำธุรกิจค้าปลีกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องอัดกิจกรรมมากขึ้นโดยเพิ่มทั้งความถี่และความแปลกใหม่เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายซื้อของให้ได้ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยจะลำบากกว่าสินค้าอื่น เพราะผู้บริโภคมองว่าไม่มีความจำเป็นจะถูกตัดออกไปก่อนเป็นอันดับแรก อีกทั้งค้าปลีกจะต้องใช้กลยุทธ์การสร้างตลาดนิชมาร์เกตให้ได้หรือการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองให้โดดเด่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีหลายค้าปลีกที่ปรับตัวและเริ่มสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการอัดแคมเปญ ที่ถี่ยิบมากขึ้น

นางณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สายการตลาด ดิ เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เปิดเผยว่า การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีหลังนี้มองว่าจะไม่เน้นทางด้านราคา แต่มีแนวโน้มว่าแต่ละรายจะหันมาเน้นการสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวเองให้มีความชัดเจนและแตกต่างจากรายอื่น ซึ่งในส่วนของดิ เอ็มโพเรียมเองก็มีการสร้างคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนว่าเป็น The Ultimate Shopping Complex

ล่าสุดดิ เอ็มโพเรียมจัดแคมเปญใหญ่ "Midyear Celebration" ซึ่งเป็นการรวม 2 รายการใหญ่อย่าง Emporium Deluxe Duet ที่จัดระหว่าง 16 มิ.ย.-13 ก.ค. 48 และ Emporium Midyear Midnight ที่จัดระหว่าง 29 มิ.ย.-3 ก.ค. 48 เพื่อเป็นการฉลองที่ดิ เอ็มโพเรียม ครบรอบ 8 ปี โดยแคมเปญดังกล่าวใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท คาดแคมเปญนี้จะทำรายได้สะพัดกว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีแคมเปญใหญ่ๆ อีก 2 รายการ

ขณะที่ศูนย์การค้าเกษรนั้นก็จะเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในทุกช่วงของเดือนให้มากขึ้นด้วย จากเดิมที่มีการจัดทุกๆ 2 เดือนเท่านั้นเอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้ามาในศูนย์มากขึ้นและเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าเช่าต่างๆ

ทางด้านเดอะมอลล์ โคราช นายปรีชา แซ่อั่ว ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า แนวทางของห้างฯ จากนี้จะหันมาเน้นการทำโปรโมชันในส่วนของสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น เนื่องจากว่าผู้บริโภคคงจะให้ความสนใจมากเพราะโอกาสที่สินค้าแบรนด์เนมจะลดราคานั้นมีน้อยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจะจัดรายการลดราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย โดยหมุนเวียนกันไปครั้งละ 15 รายการ ลดราคาประมาณ 20%

นางสอางทิพย์ อมรฉัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์ บาย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ จะต้องปรับแผนการตลาดใหม่ในครึ่งปีหลัง เช่น การจัดอีเวนต์ฉุกเฉินช่วงนี้ คืองาน Power Buy Mid-Year CLEARANCE SALE ระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคมศกนี้ เป็นงานที่นำสินค้าค้างสต๊อกมาลดราคาประจำปี 20-80% ทั้งๆที่แต่เดิมงานนี้จะจัดขึ้นช่วงปลายปี แต่ที่ปรับมาจัดเร็วขึ้นเพราะว่าช่วงนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจึงต้องจัดรายการลดราคาเพื่อดึงตลาดกลับคืนมา และยังลดราคามากกว่าเดิมด้วยจากปีที่แล้วลดเฉลี่ย 20-50% แต่ปีนี้ลดสูงสุด 20-80% คาดว่าจะช่วยสร้างยอดขายได้ 50 ล้านบาท ในช่วงจัดงานนี้ เนื่องจากเป็นอีเวนต์พิเศษเน้นกลยุทธ์ราคาถูก ซึ่งอีเวนต์ธรรมดาไม่สามารถ กระตุ้นตลาดได้ดีเท่า นอกจากนั้น เรายังไม่แน่ใจสถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากนี้อีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.