|

เปิดแผนบริการ USO ใบอนุญาตกทช.
ผู้จัดการรายวัน(22 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กทช.เปิดแผนบริการ USO ในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องขยายจุดบริการโทรฯสาธารณะ 6,000 หมู่บ้านภายใน 3 ปี แจกบัตรโทรศัพท์สำหรับคนพิการ-ผู้มีรายได้น้อย ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกระทรวงพัฒนาสังคมฯ 30 นาที/คน/เดือน
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทช.ได้ออกร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)
กทช.เน้นการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร หมู่บ้านยากจน รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม คนพิการ เด็ก คนชรา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีความทัดเทียมเสมอภาค ในการใช้บริการโทรคมนาคมมาเป็นส่วนสำคัญในการเสริมกิจกรรมด้านการแพทย์ การศาสนา การศึกษา ในการสร้างจุดสมดุลให้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ขาดแคลนให้มีความรู้เท่าทันสถานการณ์และใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขกับโลกยุคใหม่
สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจัดให้มีบริการUSO โดยแบ่งออกเป็นส่วนที่ 1 แผนการดำเนินงาน ส่วนที่ 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ส่วนที่ 3 หน้าที่ผู้รับใบอนุญาต บทเฉพาะกาล และเอกสารแนบ1 (ระบุเงื่อนไขและมาตรฐานการให้บริการ ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม)
ส่วนที่ 1 เรื่องแผนการดำเนินงาน คณะกรรมการได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อให้มีบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดระยะเวลาและภารกิจที่ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการหลักๆ ดังนี้
"ภายใน 30 เดือน นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อ 1 หมู่บ้าน จำนวนไม่เกิน 6,000 หมู่บ้าน จัดให้มีบัตรโทรศัพท์สำหรับกลุ่มคนพิการ กลุ่มคนชราที่มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเวลา 30 นาทีต่อเดือนต่อคน เป็นระยะเวลา 30 เดือนนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงภายใน 24 เดือน ต้องจัดให้มีโทรศัพท์มีสายหรือไร้สาย ซึ่งติดตั้งประจำที่ และโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อยอย่างละ 1 เลขหมาย รวมอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อแห่ง ในสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคมจำนวนไม่เกิน 4,000 แห่งทั้งนี้การดำเนินการต้องให้เป็นตามพื้นที่เป้าหมายและระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด"
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 1 เลขหมายภายในรัศมีไม่เกิน 100 เมตร ของชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือน ที่ได้ยื่นความต้องการและอยู่ในเขตพื้นที่โครงข่ายของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยต้องสำรองเลขหมายไว้ไม่เกิน 2,600 เลขหมาย และจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะและบริการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวนความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544
ส่วนที่ 2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ในการพิจารณาแผนดำเนินการของผู้ขอรับใบอนุญาต ต้องพิจารณาและคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น กายภาพ เทคนิค ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการเงินและเศรษฐกิจ การสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสทางการแข่งขัน คณะกรรมการมีอำนาจให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจในการปรับปรุง แก้ไขแผนการจัดให้มีการบริการของผู้ขอรับใบอนุญาตก่อนพิจารณาอนุมัติ
ส่วนที่ 3 หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ทั้งประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 จะต้องแจ้งความจำนงที่จะจัดบริการและแสดงรายละเอียดต่อคณะกรรมการพร้อมกับแผนดำเนินการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานฯ ระยะ 3 ปี อาทิ บทสรุปผู้บริหาร แผนจัดหาติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ข้อกำหนดทางเทคนิคของโครงข่ายและรายละเอียดการเชื่อมต่อโครงข่าย ตำแหน่งของจุดติดตั้ง ประมาณการรายได้ และแผนการสนับสนุนแก่ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
อย่างไรก็ตามร่างประกาศฉบับนี้จะเปิดระดมความคิดเห็นในวันพฤหัสบดีที่ 28 ก.ค. นี้ ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น.เช่นเดียวกับร่างแผนจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|