|
เอกชนชี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นหลังจีนปล่อยหยวนลอยตัว
ผู้จัดการรายวัน(22 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอกชนชี้เงินบาทและเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น หลังจีนประกาศลอยค่าเงินหยวนเมื่อวานนี้ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับ 41.25 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินเยนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกันเงินดอลลาร์เช่นกัน
นายเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารเงินและการตลาด ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกรณีที่จีนลอยตัวเงินหยวนแบบมีการจัดการว่า หลังจากทางการจีนประกาศลอยตัวเงินหยวนเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นจากที่อยู่ในระดับ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นประมาณ 8.11 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2 และส่งผลทำให้เงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย โดยเงินเยนแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เช่นกัน และสิงคโปร์ดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้น ซึ่งเงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกัน
นายเสถียร กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอยู่ในระดับ 41.25 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะอ่อนค่าลงในช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.ค.) โดยเงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระดับประมาณ 41.50-41.60 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้ ไม่มากเท่ากับเงินหยวน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไปอยู่แล้ว และการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนในระดับนี้ แม้จะแข็งค่ามากกว่าเงินบาท หากพิจารณาแล้วถือว่า เป็นระดับการแข็งค่าของเงินที่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะทำให้ไทยได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางการค้า ดังนั้น นักธุรกิจไม่ควรเป็นห่วงมากจนเกินไป และเป็นไปไม่ได้ที่เงินบาทจะแข็งค่ากว่าเงินหยวน
นายเสถียร กล่าวถึงการลอยตัวค่าเงินหยวนของจีนแบบมีการจัดการในระบบตะกร้าเงินว่า ทางการจีนกำหนดให้เงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวได้ในช่วงแคบ ๆ ประมาณร้อยละ 0.3 บวกลบก่อน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนเอาไว้ และเมื่อเศรษฐกิจของจีนปรับตัวพร้อมแล้ว ทางการจีนจึงจะปล่อยลอยตัวค่าเงินหยวนได้มากกว่านี้ โดยหากจะมีการปรับช่วงการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปคงจะทำในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ไป ทั้งนี้ ในระบบตะกร้าเงินของจีนจะให้น้ำหนักเงินดอลลาร์มากกว่าสกุลอื่น ๆ เนื่องจากสหรัฐเป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีน ส่วนประเทศมาเลเซียที่ประกาศลอยตัวค่าเงินริงกิตเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) เช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบหรือการเสียหายทางการเงินของมาเลเซียเอง
“ทั้งนี้ ระบบตะกร้าเงินของจีนแตกต่างจากระบบตะกร้าเงินที่ประเทศไทยเคยใช้ และยกเลิกการใช้ระบบดังกล่าวไปในช่วงประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 1997 โดยระบบตะกร้าเงินของไทย ที่เงินบาทมีค่าในระดับ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.1 ในแต่ละวัน” นายเสถียร กล่าว
นายเสถียร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ราว 1 ปีเศษ มีแรงกดดันจากทั่วโลกให้จีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนสะท้อนความเป็นจริงให้มากขึ้น เพราะการที่จีนนำเงินหยวนไปผูกกับเงินดอลลาร์ ทำให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง จะทำให้มีการนำเงินเข้าไปในจีนมากขึ้น โดยสินค้าจากจีนถูกมองว่าราคาถูกลงในสายตาต่างชาติ โดยเฉพาะจากนักธุรกิจสหรัฐ ทำให้สหรัฐเสียดุลการค้ากับจีนค่อนข้างมาก สหรัฐจึงกดดันจีนให้ลอยตัวค่าเงินหยวนเพื่อให้ค่าเงินสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น และการที่จีนยอมให้เงินหยวนสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าจีนน้อยลงกว่าที่ผ่านมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|