|

แบงก์ชาติขึ้นอาร์/พี 0.25%
ผู้จัดการรายวัน(21 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท. ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยอาร์/พี ขยับไปอยู่ที่ระดับ 2.75% เหตุราคาน้ำมันพุ่งและค่าจ้างแรงงานที่จะปรับเพิ่มขึ้นจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่ง ระบุเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2547 ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชี้เหมาะสม แนะจับตาธปท.เตรียมออกบอนด์ดูดซับสภาพคล่องอีกรอบ
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรซื้อคืนระยะ 14 วัน (อาร์/พี) อีก 0.25% เป็น 2.75% ต่อปี จากเดิมที่อยู่ในระดับ 2.50% ต่อปี เนื่องจากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไปแล้วเห็นว่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ธปท. ตั้งไว้ 0-3.5% มีมากขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคภาคประชาชน
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน 6 เดือนแรกของปี 2548 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% และอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่ที่ 0.9% ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าเป้าหมาย มีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การที่ภาครัฐลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ราคาสินค้าควบคุมที่แพงขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ "
น้ำมันที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้น กนง.จึงเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายควรจะอยู่ในทิศทางขาขึ้น เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจระยะยาว" นางอัจนากล่าว
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.จะเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก แต่ต้องอยู่ในอัตราที่พอเหมาะพอควร เพื่อให้ได้ดุลยภาพระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า 0.25% เป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ เพราะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป "
กนง.ได้นำตัวเลข 0.50% มาพิจารณาเช่นกัน แต่เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วนัก ส่วนในระยะต่อไปหากมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ก็สามารถทำได้ เพราะส่งสัญญาณมาตลอด นอกจากนี้ กนง.ยังได้พิจารณาถึงเสถียรภาพภาย นอกมาประกอบด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ" นางอัจนากล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินยังพิจารณาว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน 5 เดือนแรกของปี 2548 ชะลอตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ ซึ่ง ธปท.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทหรือการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนจากต่างประเทศ มากนัก เนื่องจากการที่นักลงทุนจะนำเงินมาลงทุนหรือนำออกนอกประเทศจะพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน
สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุน คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง ธปท.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 5 ครั้ง แต่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียว คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะมีผลต่อการลงทุนในระยะยาว และการที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละแห่งด้วย
ด้านนายเกริกไกร จีระแพทย์ กรรมการ กนง. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปี 2549 เงินเฟ้ออาจเร่งตัวเกินเป้าหมายที่ ธปท. ตั้งไว้ที่ระดับ 3.5% โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่เหมาะสมด้วย
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยอาร์/พีของ ธปท. เป็นการทำเพื่อดูแลเสถียรภาพ แต่ขณะเดียวกันยังห่วงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งการประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 1.50% ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547
"แม้ว่าธปท.ทยอยขึ้นดอกเบี้ยมาหลายครั้งแล้ว แต่ธนาคารยังขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำ ดังนั้นหากธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% วานนี้ก็ไม่น่าจะมีผลทำให้ธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และเชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 7 ก.ย.นี้ ธปท.น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อลดแรงกดดันส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยต่างประเทศ"
นางสาวอุสรา กล่าวว่า ขณะนี้ธปท.มีเครื่องมือในการดูดซับสภาพคล่องมากขึ้น ด้วยการออกพันธบัตรซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ธปท.จะมีการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องได้ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการส่งผ่านนโยบายการเงินของธปท.เพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจทำได้ดีขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|