ธุรกิจประกันภัย...สู่ยุคการเปลี่ยนแปลง


ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY) วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจประกันภัย ว่าช่วงวิกฤต เศรษฐกิจเมื่อปี 40 ถึงแม้ธุรกิจประกันภัยจะประสบปัญหาการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่โดยภาพรวมแล้วยังมีอัตราขยายตัวโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศ พิจารณาจากจำนวนเบี้ย ประกันรวมของธุรกิจประกันภัยปี 44 ที่ขยายตัวสูงเกือบ 150,000 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวประมาณ 28.62% เมื่อเทียบกับปี 40 โดยเฉพาะด้านประกันชีวิตที่ขยายตัวสูง

ประมาณ 61% สำหรับปี 45 กระทรวง พาณิชย์ ได้คาดการณ์อัตราการขยาย ตัวของธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้นประมาณ 13.7% เมื่อเทียบกับปี 44 โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมประมาณ 161,456 ล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิต 105,220 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 17% และเป็นเบี้ยประกันวินาศภัย 56,236 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 8% นอกเหนือจาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการขยายตัวของ ธุรกิจประกันภัยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี อาทิ

นโยบายและแผนการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุมดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง ได้แก่ กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ จะติดตาม กำกับ ดูแล และตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างฐานะความมั่นคงทางการเงิน และสภาพคล่องของบริษัทซึ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากความมั่นคงทางการเงิน นับเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบธุรกิจทุกประเภทที่ประชาชนจะให้ความเชื่อมั่นและเชื่อถือ

รวมถึงการส่งเสริมให้มีช่องทาง การลงทุนใหม่ๆ การปรับปรุง แก้ไข กฎหมายและกฎระเบียบในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ปัจจุบัน เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเสรีในอนาคต เสริมสร้าง ความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยแก่ ประชาชน ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลและฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการประกันภัย โดยมีเป้าหมายให้ธุรกิจ ประกันภัยเติบโตอย่างมั่นคง เป็นที่เชื่อใจของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการประกันภัยเพิ่มมากขึ้น

สำหรับนโยบาย แผนการดำเนินงาน กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ ของภาครัฐที่คาดว่าจะมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอย่างเด่นชัด ได้แก่

การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดาสำหรับเบี้ยประกันชีวิต จากการที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้เสนอต่อกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 45 ให้เพิ่ม ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 10,000 บาท ซึ่งใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เป็น 50,000 บาท ซึ่งยังคงต่ำกว่าเมื่อ เทียบกับค่าลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี ประมาณ 4.6 แสน บาท สวิตเซอร์แลนด์ ประมาณ 6.9 หมื่นบาท หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์และมาเลเซียสามารถหักค่าลดหย่อนได้ถึง 1.2 แสนบาท และ 6 หมื่นบาท ตามลำดับ กอปรกับภาครัฐได้มีการปรับ เพิ่มลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ เพื่อความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองนโยบายของ รัฐที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต ให้เติบโตและให้ประชาชนหันมาทำประกันชีวิตมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการทำประกันชีวิตเพียงร้อยละ 13 ของ ประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่อยู่ในระดับเกินกว่าร้อยละ 90 ภาค ธุรกิจ ประกันชีวิตโดยสมาคมประกันชีวิตไทยได้เสนอว่าการปรับเพิ่มการหักค่าลดหย่อนแม้จะส่งผลให้ภาครัฐมีรายได้ลดลงประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท

ในขณะที่กรมสรรพากรประเมิน ไว้ประมาณ 2 พันล้านบาท กรมการประกันภัยและกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ 1.5-1.6 พันล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ระยะยาวที่ภาครัฐจะได้รับแล้วถือว่าเป็นจำนวนที่เล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐจะได้รับรายได้กลับคืนมาในรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทประกันชีวิตจากผลกำไรของธุรกิจประกันชีวิต และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากตัวแทน ประกันชีวิตที่คาดว่าจะขายประกันได้มากขึ้น ทำให้ภาษีจากภาคธุรกิจประกันชีวิตนำส่งรัฐได้มากขึ้นและรัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าลดหย่อนในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำประกันชีวิตมากขึ้น คาดว่าจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโต ไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี และจำนวนผู้ทำประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 15-16 ของจำนวนประชากรทั้งหมด รวมทั้งจำนวนเบี้ย ประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแนวทางการระดมเงินออมและเงิน ทุนของประเทศทางหนึ่ง ดังนั้น ภาครัฐควรจะมีการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตโดยการปรับค่าลดหย่อนรายการนี้เพิ่มขึ้นอีก

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ กลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 45 ได้มีการอนุมัติกฎกระทรวงออกตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิต โดยผู้เอาประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับ กรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป และกรม ธรรม์ตลอดชีวิต โดยต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น และให้หักค่าลดหย่อนได้ปีต่อปีหรือเริ่มทำประกันปีใดก็หักได้ตั้งแต่ปีนั้น ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไปคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณปลายเดือน ก.ค. นี้หรือต้นเดือน ส.ค. 45 และกำหนดให้มีผลตั้งแต่รอบปีภาษี 2545 หรือ 1 ม.ค. 45 เป็นต้นไป โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า การลดหย่อนภาษีครั้งนี้จะทำธุรกิจประกันชีวิตขยายตัว 30% ต่อปี ยอด เบี้ยประกันเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนล้านบาท เป็น 1.3 แสนล้านบาท ตัวแทนประกันชีวิตจะมีรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลต่อ บริษัทประกันชีวิตให้มีรายได้เพิ่มตาม ไปด้วย นำไปสู่การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นประมาณ 37% ภาครัฐจะสามารถเก็บภาษีเงินได้ในปีต่อๆ ไปได้มากขึ้นเมื่อพิจารณารวมกับผลการขยายตัวของธุรกิจ

การขายกรมธรรม์แบบยูนิตลิงค์ (Unit Link : กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ขายควบหน่วยลงทุน) กรมการประกันภัยได้เสนอต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอ อนุญาตประกอบธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เพื่อ ที่จะสามารถขายกรมธรรม์ควบการลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดสรรเบี้ยประกันให้แก่ผู้เอาประกันว่าจะนำไปประกันชีวิตเท่าไรและนำไป ลงทุนเท่าไร เช่น หากผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันปีละ 500 บาท อาจจะนำไปทำประกันชีวิต 350 บาท อีก 150 บาท นำไปลงทุน เช่น ลงทุนใน หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน แล้วแต่เงื่อนไขที่ผู้เอาประกันเลือก โดยผู้เอาประกันภัยต้องรับความเสี่ยง ที่เกิดจากการลงทุนเอง เป็นการลดความเสี่ยงจากกรมธรรม์สะสมทรัพย์ที่ผู้รับประกันภัยรับประกันผลตอบ แทนขั้นต่ำในอัตรา 4% นอกจากนี้ยังเป็นการขยายฐานนักลงทุนในระบบกองทุนรวมซึ่งมีอยู่ประมาณ 5.4 แสน รายให้เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันมีผู้ถือกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ 3.5 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดของการขายกรมธรรม์กรณีนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. และกรมการประกันภัย โดยมีแนวทางที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก การให้บริษัทประกันชีวิตใช้บริการผ่าน บลจ. (ปัจจุบันมีประมาณ 14 แห่ง) โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ บลจ. แนวทางที่ 2 การแก้ไขกฎเกณฑ์

การถือหุ้นของบริษัทประกันซึ่งกำหนดห้ามบริษัทประกันถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เกิน 10% หากมีการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อดำเนินการด้านนี้ แนวทางสุดท้าย คือ การให้ใบรับอนุญาตในการบริหารกองทุนแก่บริษัท ประกัน เพราะปัจจุบันบริษัทประกันมีใบอนุญาตในการบริหารกองทุนส่วน บุคคลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากกรมธรรม์แบบยูนิตลิงค์ได้รับการผลักดันสำเร็จ จะสามารถขยายฐานของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้อย่างมาก ใน ระยะยาวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันด้วยเพราะมีโอกาสในการสร้าง ผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบอายุกรม ธรรม์ได้หากต้องการใช้เงินสด และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันชีวิต เป็นต้น ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย การขายประกันแบบยูนิต ลิงค์เป็นที่นิยมมาก ในประเทศอังกฤษก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน แต่มี 2 ลักษณะ คือ Unit Link และ Investment Link โดยแบบ Unit Link จะไม่ประกันความเสี่ยงด้านการ ลงทุนให้แก่ลูกค้าหรือผู้ถือกรมธรรม์ แต่แบบ Investment Link จะประกันความเสี่ยงขั้นต่ำให้แก่ลูกค้า

การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจนายหน้าของประกันชีวิตและประกันวินาศภัย (Ban-cassurance หรือ Bank Insurance) เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด ใหม่เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจประกันภัย และเป็นการเพิ่มช่อง ทางการหารายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคารพาณิชย์อีกทางหนึ่ง

ธปท. จึงได้ออกประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 44 โดยธนาคารพาณิชย์ที่จะประกอบ ธุรกิจการเป็นนายหน้าประกันภัยได้ต้องยื่นขออนุญาตและปฏิบัติตามประกาศนายทะเบียน (นายทะเบียนตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535) ธนาคารพาณิชย์ที่จะขอรับใบอนุญาตฯ ได้จะต้องมีพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัยเป็น ผู้กระทำแทนประจำสำนักงานไม่น้อยกว่าสำนักงานละ 1 คน และรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อติดต่อกับประชาชนและชี้แจงต่อนายทะเบียน เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้รับใบอนุญาตแล้วให้ถือว่าสาขาของธนาคารพาณิชย์ เป็นสาขาในการประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ประชาชน/ลูกค้าของธนาคารสามารถซื้อประกันผ่านธนาคารได้สะดวกและทั่วถึงกว่าเดิม บริษัทประกันภัยมีโอกาสในการทำธุรกิจได้กว้างขึ้นและมีโอกาสในการสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น เพราะสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยอาศัยการดำเนินธุรกิจผ่านสาขาจำนวนมากของธนาคาร

Bancassurance หรือ การทำประกันภัยผ่านธนาคาร โดยธนาคาร ทำหน้าที่เป็นผู้ขาย/จำหน่าย หรือชี้แนะช่องทางให้มีการขายสินค้าและบริการด้านประกันภัยให้แก่ลูกค้าของ ธนาคารหรือบุคคลอื่นๆ ผ่านทางสาขา หรือสำนักงานใหญ่ของธนาคาร มีต้นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส (จึงใช้คำว่า Banc แบบฝรั่งเศส) ประมาณปี 1970 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปี 1980 ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยมีหลายรูปแบบ เช่น การทำสัญญาความร่วมมือ (Co-operation Agreement) ระหว่างธนาคารและบริษัทประกันภัยหรือการร่วมเป็นพันธมิตรกันธนาคารสามารถจำหน่าย กรมธรรม์แบบต่างๆ ของบริษัทประกันฯ ให้แก่ลูกค้าของธนาคารได้ โดยโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารยังคงแยกกันอยู่เหมือนเดิม การเข้าถือหุ้นในบริษัทประกันภัยของธนาคาร (Equity Interest) ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การรวมกิจการ การซื้อกิจการ รวมถึงการที่ธนาคารเข้าถือ หุ้นส่วนใหญ่ (Majority Ownership) ซึ่งสินค้าและบริการของบริษัทประกันฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของธนาคาร (Integrated Products) โดยบริษัทประกันฯ จะทำหน้าที่ในการผลิตสินค้า และบริการเพื่อจำหน่ายผ่านธนาคาร การตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการ ด้านการตลาด(Joint Venture in Marketing Company) โดยธนาคาร และบริษัทประกันร่วมกันจัดตั้งบริษัทเพื่อทำหน้าที่การตลาด การออก แบบและจำหน่ายกรมธรรม์ให้แก่ลูกค้าของธนาคารหรือบริษัทประกันฯ การที่ธนาคารตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเอง (Greenfields Start-up) เป็นต้น

การแข่งขันกันระหว่างบริษัท ประกันภัย จะช่วยให้เกิดการพัฒนารูปแบบการประกันภัยและผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กรมธรรม์ ที่ผสมผสานระหว่างการออมทรัพย์ และการคุ้มครองชีวิตโดยได้รับผลตอบแทนเป็นช่วงระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

นอกจากการพัฒนารูปแบบสินค้าแล้ว บริษัทประกันภัยยังได้แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศให้มี ความก้าวหน้าและบริการลูกค้าได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการในหลายๆ รูปแบบ เช่น การบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce อาทิ การซื้อและการรับชำระเบี้ยประกันผ่านอินเทอร์เน็ต การบริการข่าวสารข้อมูล การบริการลูกค้าผ่านระบบ Call Center เป็นต้น

ธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องไปอีกจากปัจจัยสำคัญต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม นอกจากภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินของประเทศแล้ว ยังมีอุปสรรคปัญหาบางประการที่อาจ ส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยบ้างแต่คาดว่าไม่มากนัก อาทิ การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตลงจาก 5% เป็นไม่เกิน 4% ตั้งแต่ 24 ก.ย. 44 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของผลตอบแทนที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายให้กับผู้เอาประกันจะถูกลดลงมาเหลือแค่ 4% หรือการกำหนดให้มีการยกเลิกการนำอสังหาริมทรัพย์มาเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองประกันภัย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน 1 ม.ค. 46 ประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจัดสรรเป็นเงินสำรองประกันภัย (ค่าสินไหมทดแทน) ลดลง จำเป็นต้องมีการหาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ มาทดแทนส่วนที่ลดลงไป ตลอดจน การกำหนดให้มีการประเมินราคาทรัพย์สิน และหนี้สินของธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. 45 นี้ อาจ ทำให้สภาพคล่องของบริษัทประกันภัยลดลงและมีผลกระทบต่อการดำเนินงานได้ เนื่องจากราคาประเมิน ทรัพย์สินและหนี้สินของธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัยในปัจจุบันลดลงจากเดิมพอสมควร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.