ช่อง3เล็งขึ้นราคาโฆษณาต.ค.นี้ ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวสูง


ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่อง 3 เตรียมปรับราคาโฆษณา ตามอัตราการขยายตัวของเม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณาที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 8-10% คาด สรุปตัวเลขปรับได้สิ้นเดือน ส.ค.นี้ ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไปได้สวย จีดีพีเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมั่นใจใช้จ่ายเงิน ลูกค้าเริ่มใช้เงินโฆษณาเพิ่ม เผยผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรก รายได้และกำไรต่ำกว่าปีก่อน จากสาเหตุภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เพิ่งฟื้นตัวชัดเจนเดือน ก.พ.

นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการเงิน บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เปิด เผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการ พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาของช่อง 3 หลังจากไม่ได้ปรับราคา มา 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2543 ที่ปรับขึ้น เฉลี่ย 20% ทั้งนี้ในปี 2544 ช่อง 3 ได้เตรียมปรับขึ้นราคาโฆษณาประมาณ 8-10% โดยเฉลี่ยเกือบทุก ช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ราคาโฆษณาอัตราสูงสุดในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ละครหลังข่าวภาคค่ำ จากเดิมนาทีละ 3.6 แสนบาท จะปรับเป็น 3.9 แสนบาท

แต่หลังเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมประเทศสหรัฐฯ เมื่อ วันที่ 11 กันยายน 2544 ทำให้ต้อง ยกเลิกการขึ้นค่าโฆษณาไว้ก่อน เพราะเกรงว่าลูกค้าจะได้รับผลกระทบ ในขณะที่ปี 2544 ช่อง 7 ได้ ปรับราคาโฆษณาช่วงละครหลังข่าว จากนาทีละ 3.6 แสนบาท เป็น 4.2 แสนบาท

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยดูได้จากการออกมาประกาศตัวเลขการเติบโตของ GDP ปีนี้ที่ 4% ของรัฐบาล ตัวเลขการส่งออกที่ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ อยู่ในระดับสูงขึ้น ประกอบกับในช่วง 6 เดือนแรก เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาขยายตัวเพิ่มขึ้น 10-12%

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าแนวโน้มภาพ รวมเศรษฐกิจประเทศน่าจะขยายตัวมากขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงครึ่ง ปีหลังของปีก่อนได้รับผลกระทบจากการก่อวินาศกรรม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทันที แต่ในช่วง ครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมองไม่เห็น เหตุการณ์ใดที่จะเข้ามากระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ แม้กระทั่งเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศสหรัฐอเมริกาก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคมากจนทำให้ชะลอการใช้จ่ายลงไปทันที

ดังนั้นในเดือน ต.ค.ปีนี้ช่อง 3 จะปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาแน่นอน แต่อัตราส่วนที่จะปรับขึ้นจะดูที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมอีกครั้ง โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ถึง 15% ภาย ในสิ้นปีนี้ ซึ่งอัตราส่วนการขึ้นราคาค่าโฆษณาของ ช่อง 3 จะสอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณา คาดว่าอย่างน้อยคงไม่ต่ำกว่า 8-10% ซึ่งเคยเป็นฐานตัวเลขเดิมที่ช่อง 3 เคย จะปรับขึ้นในปี 2544 แต่ในปีนี้หากภาพรวมมีแนว โน้มดีขึ้นอย่างชัดเจนเปอร์เซ็นต์การปรับค่าโฆษณาขึ้นอาจจะมากกว่าตัวเลขที่เคยทำไว้ในปี 2544 โดยจะสรุปตัวเลขอัตราการปรับที่แน่นอนในปลายเดือนส.ค.นี้

ส่วนแนวทางในการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (แตกพาร์) ของบีอีซี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และบริษัทยังไม่ตัดสินใจที่จะแตกพาร์ เนื่องจากเห็นสภาพตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศแตกพาร์ก่อนหน้านี้ หลังจากแตกพาร์ไป แล้วก็ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ส่วนกระแสข่าวการนำบริษัท บีอีซี เทโร-เอ็นเตอร์ เทนเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีอีซีที่ถือหุ้นอยู่ 60% เข้าตลาดนั้น ยังไม่ได้มีการหารือเรื่องดังกล่าว และยังไม่อยู่ในแผนของบริษัทแต่อย่างใด

นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทไตรมาส 2 ของปีนี้ มีรายได้ 1,410 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบ กับไตรมาส 2 ของปีก่อนที่มีรายได้ 1,449 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิไตรมาส2 ทำได้ 450 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2ของปีก่อนที่ทำได้ 455 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขรายได้ ในช่วงครึ่งปีแรก ของปีนี้จะอยู่ที่ 2,651 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,969 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 784 ล้าน บาท ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 956 ล้านบาท หรือลดลง 17.9% การลดลงของรายได้และกำไร ของช่อง 3 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มาจาก ช่วงครึ่งปีแรกของปี2544 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว การใช้เม็ดเงินโฆษณาขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด จน ทำให้บริษัทเตรียมแผนที่จะปรับขึ้นค่าโฆษณาในเดือน ต.ค.2544

แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมแล้ว ส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัวในทันที และต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ภาวะเศรษฐกิจ เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในเดือน ก.พ.เจ้าของสินค้า เริ่มใช้เม็ดเงินโฆษณามากขึ้น ประกอบการเปิดตัวของค่ายโทรศัพท์มือถือออเร้นจสŒ ทำให้ค่ายคู่แข่งจำเป็นต้องออกมาใช้เม็ดเงินโฆษณาเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาด

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ค่อนข้างสดใสและจะขยายตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนอุตสาห-กรรมโฆษณาได้รับผลกระทบจากการก่อวินาศ-กรรม เจ้าของสินค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติหยุดการ ใช้เงินโฆษณาในทันที เพื่อรอดูสถานการณ์ ทำ ให้ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้โฆษณาน่าจะขยายตัวได้สูงมากจากฐานตัวเลขต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจุบันเริ่มเห็นได้ชัดว่าเจ้าของสินค้าเริ่มมั่นใจในการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณามากขึ้น จะเห็น ได้จากโปรดักชั่น เฮ้าส์ หลายบริษัทเริ่มเพิ่มพนักงาน เพิ่มเงินเดือน สินค้าหลายประเภทกลับมาใช้เงินโฆษณาเพิ่มขึ้น เช่น การเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาของมิสทิน ที่เป็นซีรี่ส์ยาว การ ลงโฆษณาในช่วงหน้าฝนเจ้าของสินค้าจะมีต้นทุน ต่ำกว่าช่วงอื่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ชมจะเดินทาง ออกนอกบ้านน้อยลง และอยู่ชมรายการทีวีที่บ้านมากขึ้น ทำให้การลงโฆษณาต่อครั้งของเจ้า ของสินค้ามีผู้รับชมมากขึ้น

นายประวิทย์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจตลาดและผู้ชมรายการทีวีของเอซีนีลเส็น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี ด้านส่วนแบ่งการตลาดการใช้เม็ดเงินโฆษณา อันดับ 1 คือ ช่อง 7 สัดส่วน 28.7% ช่อง3 สัดส่วน 26.8% ช่อง 5 สัดส่วน 20.6% ไอทีวี 12.1% และช่อง 9 สัดส่วน 11.8% ส่วนความนิยมการชมรายการสูงสุด หรือเรตติ้ง อันดับ 1 ช่อง 7 จำนวน 39.7% ช่อง3 จำนวน 32.1% ช่อง 9 จำนวน 9.9% ช่อง5 จำนวน 8.9% ไอทีวี 6.3% และช่อง 11 จำนวน 3.2%

การที่ช่อง 3 มีส่วนแบ่งการตลาด และผู้ชม น้อยกว่าช่อง 7 ไม่ถือว่าเป็นสำคัญ หรือเสียหาย อะไร เพราะอันดับ 1 กับ 2 ระหว่างช่อง 3 และ 7 จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับละครที่ทั้ง 2 ช่อง นำเสนอว่าได้รับความนิยมจากผู้ชมหรือไม่ ซึ่งละครในปัจจุบันเปลี่ยนเรื่องเร็วใช้ระยะเวลา 1-1เดือนครึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค.นี้ ช่อง 3 จะปรับผังรายการในบางช่วง เช่น ช่วงกลางวัน เสาร์-อาทิตย์ และช่วงเมจิค ทรี หลัง 22.30 น.ของทุกวันใหม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.