|
TOT ปรับสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เดินหน้า Re-Branding
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังการจดทะเบียนเป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) นับเป็นครั้งแรกที่ทีโอทีจัดงาน “TOT เปิดโสตสัมผัส สู่โลกแห่งการเรียนรู้” เพื่อสร้างความแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอก โดยมี นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที และพนักงานระดับบริหารทั่วประเทศกว่า 500 คน พร้อมใจประกาศพันธะสัญญาเพื่อร่วมนำ ทีโอที สู่วิสัยทัศน์ ในการเป็นบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำ ด้วยนวัตกรรมใหม่ พร้อมการส่งมอบความพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ซึ่งงานนี้มีนางทิพวรรณ์ วุฑฒิสาร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล รับนโยบายผลักดันเต็มที่
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของการปรับเปลี่ยนองค์กรซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการ Re-Branding ทีโอที
ทำไมต้องปรับองค์กรสู่การเรียนรู้
วันนี้หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับตัว เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นไปในลักษณะโลกาภิวัตน์ การแข่งขันมีความรุนแรงสูงขึ้น ทีโอทีก็ต้องปรับเพื่อให้ยังคงความเป็นหนึ่ง ปัจจุบันการบริหารจัดการที่ดี กลยุทธ์ หรือเทคโนโลยีไม่เพียงพอแล้ว วันนี้ทีโอทีจะต้องพัฒนาตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งก็คือองค์กรที่มุ่งเน้นให้บุคลากรมีความสนใจใฝ่รู้ กระตือรือร้น และพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายของการนำองค์กรสู่การเรียนรู้
ขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก การที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอดีตไม่จำเป็นว่าจะต้องเก่งในปัจจุบัน สิ่งสำคัญบุคลากรจะต้องมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโดยพร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทาย มุ่งการทำงานเป็นทีม รู้จักวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทดลองและค้นหาแนวทางใหม่ๆ และมีการถ่ายทอดความรู้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะให้พนักงานเริ่มที่ใจ คือ มีอัตตา (ตัว) ยอมรับวิธีคิดของผู้อื่น และมีมุมมองที่กว้างไกล ใฝ่พัฒนาตน คือ รู้จักตนเอง สมรรถนะของตน และพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง ร่วมสานวิสัยทัศน์ คือ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน สร้างสรรค์เป็นทีม คือ เรียนรู้ และการทำงานร่วมกันเป็นทีม คิดเป็นระบบ คือ คิดเป็นระบบครบวงจร เชื่อมโยงสัมพันธ์ และคำนึงถึงภาพรวม
ปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำ ทีโอที ไปสู่การเรียนรู้
การก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์หลักของทีโอที ซึ่งผมมีนโยบายสนับสนุนให้นำแนวทางการจัดการการคุณภาพทั้งองค์กร หรือ Total Quality Management ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ขององค์กรให้พนักงานที่จะร่วมกันพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงการจัดโครงสร้างที่กระจายอำนาจเพื่อให้พนักงานทุกระดับได้บริหารตนเอง การสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ในการทำงานเป็นทีม มีการแบ่งปันและการถ่ายโอนข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ผ่านทาง e- Learning ด้วยการเปิดให้บริการหลักสูตรกลยุทธ์การบริหารองค์กรไปสู่เป้าหมาย (Balanced Score Card) การเปิดบริการเว็บไซต์ http://kbs.intra.tot.co.th TOT KBS (TOT Knowledge – Base Society) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลาง องค์กรความรู้ ข่าวสาร บทความ ผลงานวิจัยต่าง ๆ พร้อมจัดทำกระดานบอร์ด ห้องสนทนา
การปรับสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้จะส่งผลในด้านใดบ้าง
การมองธุรกิจมองในระดับสากลภายใต้ Globalization คำว่าประเทศในทางธุรกิจมีความหมายน้อยลง โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจข้ามแดน ไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน การสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้จะทำให้ ทีโอที สามารถพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และบริการที่เป็นเลิศ เพิ่มผลผลิตและประสิทธิผลให้องค์กรสูงขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรอย่างยั่งยืนนั่นหมายถึงโอกาสที่ ทีโอที จะสามารถก้าวสู่ธุรกิจระหว่างประเทศได้เร็วขึ้นด้วย
ความพร้อมขององค์กร
ถ้าถามว่า ทีโอทีพร้อมมั้ย จากระบบงานต่าง ๆ ที่เป็นแบบราชการถึง 90% ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นว่าต้องใช้เวลา แต่วันนี้เวลารอช้าไม่ได้ ผมบอกได้เลยว่า ปีนี้ทีโอที ทำงานหนัก และหนักมากด้วย ซึ่งจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จะผลักดันให้ทีโอที หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องก้าวไปข้างหน้า ทั้งการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของลูกค้าที่ต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเหนือความคาดหมายและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายแรงกดดันจากคู่แข่งขันที่สร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ทั้งการควบรวมกิจการ การร่วมเป็นพันธมิตรต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การแข่งขันรุนแรง รวมถึงการที่ประเทศไทยจะเปิดเสรีโทรคมนาคมในปี 2549 และการนำหุ้นเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นภาระที่หนักมาก ซึ่งการที่ทีโอทีก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ จะทำให้มุมมองของทั้งผู้บริหารและพนักงานไปสู่วิสัยทัศน์ร่วมกัน คือเป็นภาพในอนาคตขององค์กร ที่ทุกคนต้องการไปให้ถึงร่วมกัน ไม่ใช่ภาพที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ ทุกคนจะเกิดการเรียนรู้ เป็นขบวนการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นหนึ่งเดี่ยว
ก้าวต่อไปของทีโอที
นอกจากการผลักดัน ทีโอที สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้แล้ว การปรับเปลี่ยนแบรนด์ของบริษัท (Re-brand) นับเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ การวางตำแหน่งของทีโอที จึงต้องพิถีพิถันเพื่อให้ภาพของ ทีโอที หลุดจากภาพที่เป็นราชการ เป็นความรู้สึกใหม่ ทันสมัย ไม่หยุดนิ่ง เป็นองค์กรรุ่นใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนชื่อและสัญลักษณ์บริษัท เป็นเพียงจุดเริ่มต้นภายนอกเท่านั้น การ Re-brand ที่แท้จริงคือการทำให้ทุกคนเห็นว่า ทีโอที เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและบริการที่เป็นเลิศ จากเดิมที่ ทีโอที ทำธุรกิจโครงข่าย และโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งเมื่อมองไปทั่วโลกธุรกิจที่ไม่มีธุรกิจเสริมจะมีอัตราการเติบโตที่ถดถอย วันนี้ ทีโอที ไม่เพียงรักษาธุรกิจเดิมไม่ให้ถอถอยแต่มีการทำธุรกิจใหม่เพื่อเสริมธุรกิจเดิมทั้งธุรกิจโทรคมนาคมไร้สาย และธุรกิจด้านมัลติมีเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพทั้งหมดจะต่อเป็นจิกซอร์ที่ชัดเจนในงาน TOT Re-branding Day ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|