สยามพารากอนผนึก 3 ศูนย์ดัง ร่วมทำการตลาดระดับภูมิภาค


ผู้จัดการรายวัน(7 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

สยาม พารากอน เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 15 ส.ค.นี้ ด้วยงบกว่า 60 ล้านบาท หวังสร้าง ให้เป็นงานยิ่งใหญ่ตระการตา สมค่าโครงการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คาดจะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2548 นี้ ด้านศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ทุ่มงบ 250 ล้านบาทปรับโฉมศูนย์ใหม่ให้รับกับสยามพารากอน ส่วนเอ็มโพเรี่ยม คาดใช้งบ 200-400 ล้านบาทยกระดับให้เป็นศูนย์การค้าชั้นนำที่ดีที่สุดในเอเชีย ประกาศผนึกพลัง 4 ศูนย์ การค้าสยามเซ็นเตอร์-ดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์-สยามพารากอน-เอ็มโพเรี่ยม ทำการตลาดระดับภูมิภาค หวังดึงนักท่องเที่ยวเข้าศูนย์ฯเดือนละ 1 ล้านคน

นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรม การและผู้บริหารสูงสุด บริษัท สยาม พารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการสยามพารากอนว่าบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ โดยใช้งบประมาณกว่า 60 ล้านบาทสำหรับการเปิดตัวโครงการในช่วง 3 เดือน ในงบจำนวน ดังกล่าวจะใช้เพื่อการโฆษณาประ- ชาสัมพันธ์ผ่านสื่อถึง 40 ล้านบาท และใช้เฉพาะวันเปิดตัวโครงการ ในวันที่ 15 ส.ค. 20 ล้านบาท ซึ่ง จะเป็นการจัดงานที่ ยิ่งใหญ่ตระการตาให้สมกับเป็น event of the year

"บริษัทใช้เวลาในการเตรียมงานเปิดตัวมานานถึง 6 เดือน โดยจะใช้ทีมงานที่เป็นมืออาชีพมาร่วมจัดงาน ส่วนแขกที่เข้ามาร่วมงานนั้น จะมีทั้งผู้บริหารของรัฐบาล บุคคลจากสังคมชั้นสูง นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ที่คาดว่าจะเข้าร่วมงาน กว่า 3,000 คน" นางชฎาทิพกล่าว

หลังจากเปิดตัวโครงการแล้ว บริษัทจะเปิดให้จองพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ได้รับการติดต่อจากเจ้าของแบรนด์เนมชั้นนำที่แจ้งความจำนงที่จะเข้ามาเปิดร้านในสยามพารากอนแล้ว กว่า 300 ราย ในจำนวนนี้เป็นร้านจิวเวลรี่ถึง 200 ราย อย่างไรก็ตามบริษัทจะคัดเลือกร้านค้าที่เข้ามา เปิด จะต้องมีคอนเซ็ปต์ของร้าน ในลักษณะ แฟลกชิพ สโตร์ หรือร้านค้าต้นแบบ และร้านค้าที่มีคอน-เซ็ปต์ใหม่ไม่เหมือนใคร และจะพยายามเลือกสินค้าแฟชั่นแบรนด์ เนมชั้นนำทั้งจากอเมริกา ยุโรป และของเอเชีย ที่ยังไม่เคยเปิดร้านในไทยมาก่อนให้เข้ามาเปิดใช้บริการ ด้วย

"ทุกวันนี้เราไม่ได้มีปัญหาเรื่อง การหาร้านค้าเข้ามาเปิดให้บริการ แต่ปัญหาของเราก็คือจะเลือกร้านค้า อย่างใดบ้างต่างหาก ซึ่งในส่วนที่เป็นสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกได้ตอบรับที่จะเข้ามาเปิดในสยามพารากอนแล้วทุกราย"นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวและ ว่า ร้านค้าเหล่านี้จะทำสัญญาในลักษณะเซ้งพื้นที่ 25 ปี โดยอัตราค่าเซ้งพื้นที่นั้นจะคิดเท่ากับค่าเซ้งพื้นที่ของดิเอ็มโพเรี่ยม และบวกเพิ่มขึ้นมาอีก 20% โดยราคาจะอยู่ที่ 1 แสนบาทเศษต่อตารางเมตรต่อ 25 ปี ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบ กับการเซ้งพื้นที่ในย่านใกล้เคียง เช่น พื้นที่ในเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ค่าเซ้ง ประมาณ 2 แสนบาทต่อตารางเมตร ต่อสัญญาประมาณ 10 ปีเท่านั้น

ซึ่งหลังจากที่สยามพารากอนเปิดให้บริการแล้ว บริษัทจะมีรายได้ จากค่าเซ้งของลูกห้อง คิดเป็นสัด ส่วนประมาณ 70% ของมูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินหลายแห่งได้สนับ สนุนปล่อยสินเชื่อให้แก่ร้านค้าทั้งการกู้เพื่อตกแต่งร้าน และการเซ้งพื้นที่ ในระยะยาวถึง 12 ปี สยามเซ็นเตอร์ทุ่ม 250 ล้านปรับโฉมใหม่

ทางด้านศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์นั้น นางชฎาทิพ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการปรับโฉมของสยามเซ็นเตอร์เพื่อให้รับกับการ เชื่อมต่อศูนย์เข้ากับโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว แต่ในขณะที่การก่อสร้างโครงการสยามพารากอนดำเนิน ไปในช่วง 3 ปี นี้ สยามเซ็นเตอร์ก็จำเป็นต้องปรับโฉมใหม่เพื่อให้ รับกับสยามพารากอนด้วย ซึ่งจะปรับทั้งรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร การปรับพื้นที่ร้านค้าบางส่วน โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องเชื่อมต่อกับสยามพารากอน ที่จะต้องปรับร้านค้า ใหม่ให้เข้ากับรูปแบบร้านค้าของสยามพารากอนด้วย โดยบริษัท บางกอก อินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด ได้เตรียมงบประมาณ ไว้ 250 ล้านบาทเพื่อการปรับปรุง ซึ่ง คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงในช่วงปลายปี 2546 แล้วเสร็จในปี 2547 เอ็มโพเรี่ยมเตรียมอัปเกรดศูนย์

ด้านดิ เอ็มโพเรี่ยมนั้น นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวว่า ทางกลุ่มเดอะมอลล์ ก็มีแผนที่จะพัฒนาทั้งในส่วนของศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า เพื่อยกระดับของห้างและศูนย์ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เนื่อง จากปัจจุบันมีร้านค้าเป็นจำนวนมาก ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำ ต้องการเข้ามาเปิดในศูนย์การค้าเอ็มโพเรี่ยม แต่เดอะมอลล์ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้ได้ ซึ่งการทำศูนย์การค้าระดับ ไฮเอนด์ เทรนด์แฟชั่นเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึง ทำให้ทางบริษัทได้เจรจากับเจ้าของห้องบางแบรนด์ ที่อาจมีความต้องการให้รายอื่นเข้ามา เปิดดำเนินการแทน ก็จะเป็นตัวกลาง เจรจาเพื่อให้แบรนด์ใหม่เข้ามาเซ้งต่อจากเจ้าของห้องเดิม ในขณะที่ภายในห้างสรรพสินค้าก็จะปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับในส่วนของโรงภาพยนตร์จะมีกลุ่มเอสเอฟเข้ามาดำเนินการแทนกลุ่มยูไนเต็ด อาร์ททิส ด้วย โดยคาดว่าจะใช้เงินในการปรับปรุง 200-400 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จใกล้เคียงกับการเปิดสยามพารากอน ก้าวสู่การตลาดระดับภูมิภาค

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากที่สยามพารากอน เปิดให้บริการในปี 2548 แล้ว ทั้ง 4 ศูนย์ การค้า ประกอบด้วย สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ ดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ และดิ เอ็มโพเรี่ยม จะรวม ตัวกับทำตลาดในลักษณะ Golbal Marketing ซึ่งเป็นการทำการตลาด ในระดับภูมิภาค ที่จะสร้างพลังให้นักท่องเที่ยวเห็นว่ากรุงเทพฯ คือ สวรรค์ของการชอปปิ้ง และเป็นสถานที่ชอปปิ้งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ จะร่วมมือกับรัฐบาล และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการโปรโมตโครงการ ชอปปิ้งสตรีท ที่จะเริ่มตั้งแต่ศูนย์ การค้ามาบุญครองไปจนถึงศูนย์ การค้าดิเอ็มโพเรี่ยม โดยคาดว่าเฉพาะโครงการสยามพารากอน เพียงโครงการเดียวจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าได้เดือนละ 1 ล้านคน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.