ซี.พี.เดินเครื่อง"ดิจิตอลเพอร์ส" คาด5ปีมีคนใช้แทนเงินสด30%


ผู้จัดการรายวัน(6 สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น เผยโฉม 8 พันธมิตรทางธุรกิจ ลงขันตั้งบริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด ด้วยทุนจดทะเบียน 395 ล้านบาท ลงทุนสร้างระบบเครือข่ายรองรับการให้บริการบัตรเงินสด "ดิจิตอลเพอร์ส" เผย 3 ปี ติดตั้งเครื่องรับบัตรกว่า 15,000 เครื่อง และเครื่องเติมเงินกว่า 3,000 เครื่อง หวังลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตร 30% ของยอดผู้ใช้เงินสดซื้อสินค้าและบริการ ตั้งเป้ารายได้ปีแรก 25 ล้านบาท

นายก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเงินสด "ดิจิตอล เพอร์ส" เปิดเผยว่าบริษัทจัดตั้ง ด้วย ทุนจดทะเบียน 395 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมสร้างระบบเครือข่ายสำหรับให้บริการบัตรเงินสด และการทำตลาด เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการตื่นตัวของประชาชน ในการจับจ่ายใช้สอยด้วยรูปแบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด มีผู้ถือหุ้นหลัก 8 ราย ได้แก่ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) 10.76% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย บริษัท บัตรกรุงไทย ถือหุ้นรายละ 10% บริษัท เน็ทส์ แห่ง ประเทศสิงคโปร์ 8.5% บริษัทเอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) 3% ส่วนที่เหลือ อีกเกือบ 7% บริษัท วีซ่า อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด จะเป็นผู้ติดต่อหา ผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้เข้ามาถือหุ้น

ด้านโครงสร้างการบริหาร คาด ว่านายธนินท์ เจียรวนนท์ จะเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร และมีนายก่อศักดิ์ เป็นประธานกรรมการ บริหาร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารอื้อจือเหลียง ถ.พระราม 4 นายเฉลิมชัย ฉัตรชัยกนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ธุรกิจและการตลาด บริษัท ไทยสมาร์ทการ์ด กล่าว ว่า บัตรดังกล่าวจะเริ่มใช้ได้ปลายไตรมาสแรกของปี 2546 โดยปีแรก คาดว่าจะออกบัตรได้ 9 แสนใบ และจะออกเพิ่มปีละ 1 ล้านใบ และตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะออกบัตรให้ได้ 5.2 ล้านใบ โดยปีแรกบริษัทจัดงบการตลาดไว้ที่ 70 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนระบบเครือข่ายหลัก เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อระหว่าง บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด กับเครื่องรับบัตร หรือ POS terminal กว่า 15,000 เครื่องทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล และลงทุนเครื่องเติมเงินหรือ Loading terminal กว่า 3,000 เครื่อง รวมถึง ATM ตู้โทรศัพท์สาธารณะ และเครื่องเติมเงินตามร้านค้าทั่วไปและธนาคารผู้ให้บริการ ซึ่งจะใช้เวลาติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 3 ปี และหลังจากนั้นจะออกสู่ต่างจังหวัด

ตั้งเป้าผู้ใช้บัตรแทนเงินสด 30%

นายเฉลิมชัย กล่าวว่าหลังจาก ที่บริษัทออกบัตรดังกล่าวแล้ว คาดว่าในเวลา 5 ปี ลูกค้าจะหันมาใช้บัตร เงินสด"ดิจิตอล เพอร์ส"แทนเงิน สด ประมาณ 30% ของจำนวนผู้ใช้เงินสด เพื่อซื้อสินค้าและบริการทั้งหมด ซึ่ง จะเน้นผู้ซื้อสินค้าทุกเพศทุกวัย โดย ในช่วงนี้บริษัทได้ติดต่อกับพันธมิตร ทางธุรกิจที่จะรับบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแล้ว 22 รายได้แก่

เดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ดังกิ้นโดนัท, โอบองแปง, บีทีเอส, ซึทาญ่า, ระคุระคุ, อีจีวี, ปั๊ม น้ำมันปตท., ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ อินเตอร์เน็ท เป็นต้น นอกจากนี้ ยัง อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อ ให้บริการร่วมอีกหลายราย อาทิ โมเดิร์นเทรด

"บัตรดังกล่าวจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะมีความคล่องตัวในการซื้อสินค้าและบริการแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาโจรกรรมและการทุจริตได้ด้วย คาดว่าในไทยจะมีผู้ใช้บัตรประมาณ 6-7% ของจำนวนผู้ใช้เงินทั้งหมด ในขณะที่สิงคโปร์มี ผู้ใช้บัตรประมาณ 13% ของจำนวน ผู้ใช้เงินทั้งหมด"

บริษัทคาดว่าในปีแรกจะมีผู้ใช้จ่ายผ่านบัตร 500 ล้านบาท และบริษัทจะมีรายได้ 1% ของจำนวนเงิน ที่ใช้จ่ายผ่านบัตร หรือคิดเป็น 25 ล้านบาท นอกจากนี้ จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรสมาชิกและค่าเคลียริ่งการชำระเงินและการเติมเงิน อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.