รอยเตอร์/อีโคโนมิสต์/CNBC/วอชิงตันโพสต์ - เมื่อเวิลด์คอม ยักษ์เบอร์สองด้านโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา
ออกมายอมรับว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่ในระบบบัญชีของตัว ตลาดหุ้นทั่วโลกวานนี้
(26) ถึงกับช็อกระนาวไม่ว่าจะในเอเชีย ยุโรป หรือสหรัฐฯ เพราะมันคืออีกหนึ่งตัวตอกย้ำว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯยากจะฟื้นคืนความเข้มแข็งได้
และมันกระแทกหัวใจนักลงทุนอย่างแรงครั้งที่ร้อยกับแปดแล้วว่าหุ้นที่ยังถือไว้ในพอร์ตอีกมหาศาลนั้น
แพงเกินกว่าที่กลัวๆ กันอยู่เพียงใด ยิ่งกว่านั้น สถาบันการเงินที่พบว่าลูกหนี้ดูดีรายแล้วรายเล่ากลายเป็นลูกหนี้เน่าระนาว
อาจเป็นชนวนพาเศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดกลับไปสู่ภาวะหดตัวเอาง่ายๆ
บัดนี้ นักลงทุนไม่ยอมเชื่อกันแล้วว่าตลาดหุ้นคืออาณาจักรการลงทุนเพื่อทำกำไร
ในเมื่อภาคธุรกิจอเมริกันเต็มไปด้วยความเน่าเฟะซุกซ่อนรอเพียงเวลาที่หนอนจะไต่ออกมาฟ้อง
ในเมื่อบรรดาตัวเลขผลกำไรหรูหราในยุคเรืองรองของวอลล์สตรีทล้วนกลายเป็นตัวเลขที่เชื่อถือไม่ได้
และในเมื่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทธุรกิจทั้งหลายกลายเป็นธุรกิจเสี่ยงสูงเปี่ยมด้วยหนี้ธุรกิจอาการไม่ดี
นักลงทุนไม่อาจหลอกตัวเองได้อีกต่อไป แต่แห่กันผวาหนักว่า องค์ประกอบสำคัญส่วนนี้ของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีดีกรีความป่วยไข้เกินการเยียวยา
และเมื่อสหรัฐฯป่วย เศรษฐกิจเจ้าอื่นๆ ของโลกก็ย่อมจับไข้หนักไปด้วย ดังนั้นนักลงทุนในทุกตลาดทุกภูมิภาคเฮละโลกันหนีตายออกจากตลาดหุ้น
ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสำคัญสารพัดตัวดิ่งนรกอย่างระนาว
ดัชนีหุ้นคอสพีของตลาดหุ้นโซลควงสว่านโหม่งพสุธาลึก 7.16% ขณะที่ดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เสียหายสาหัส
4.02% ด้านดัชนีหุ้นชั้นแนวหน้าของยุโรปในตลาดเช้าร่วงเละเจ้าละ 3-4%
ในภาวะระส่ำอย่างนี้ นักลงทุนเสื่อมความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง
และยิ่งเมื่อคำนึงถึงคำพูดของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯที่กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
(25) ว่าไม่คิดจะเข้ายุ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ กระแสทิ้งเงินดอลลาร์ก็ยิ่งทวีตัว
เงินดอลลาร์อ่อนอย่างรวดเร็วไปสู่ระดับ 0.99 ดอลลาร์ต่อยูโร ในชั่วโมงการเทรดรอบเช้าของยุโรป
และดิ่งลงสู่ระนาบ 119 เยนต่อดอลลาร์โดยไม่คำนึงถึงปฏิบัติการของธนาคารกลางญี่ปุ่น
(บีโอเจ) ที่เข้าแทรกแซงตลาดเมื่อเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
CFOเวิลด์คอมอาจโกง 4 พันล้านดอลล์
หลังจากที่ตลาดหุ้นที่วอลล์สตรีทวันอังคาร ปิดการเทรดหลายชั่วโมงแล้ว บริษัทเวิลด์คอม
ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ แถลงว่าได้ไล่ออกประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน
หรือซีเอฟโอ นามสกอตต์ ซัลลิแวน หลังจากพบความผิดปกติในระบบบัญชี ซึ่งอาจเป็นการโกงครั้งมโหฬารร่วมๆ
3,000 - 4,000 ล้านดอลลาร์
ผลจากเรื่องนี้จะทำให้เวิลด์คอมต้องทำรายงานผลประกอบการขึ้นมาใหม่ให้ถูกต้อง
ตั้งแต่ผลประกอบการของ 4 ไตรมาสเต็มๆ ของปี 2001 และของไตรมาส 1/2002 ด้วย
แม้เวิลด์คอมยังไม่ให้รายละเอียดมาก แต่ตลาดพูดกันให้แซ่ดแล้วว่า เวิลด์คอมมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นบริษัทล้มละลายเจ้าใหม่
ซึ่งนั่นคือข่าวร้ายฉกรรจ์สำหรับวงการธนาคาร ที่มีพอร์ตลูกหนี้ยักษ์เน่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็ว
จนน่าสงสัยว่าระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯจะเข้มแข็งอยู่ได้อย่างไรในภาวะแย่ๆ
เช่นนี้
ข่าวเวิลด์คอมนับเป็นความน่าผิดหวังอย่างร้ายกาจสำหรับนักลงทุน ที่ต้องรับข่าวร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าบริษัทดูดีดูเลิศรายแล้วรายเล่า
ไล่เรียงได้ตั้งแต่จอมยักษ์อย่างเอนรอน คอร์ป มาจนถึงขาใหญ่อย่างไทโก้ ที่แท้แล้วก็รายงานฐานะการเงิน
รายงานผลประกอบการที่ไม่เป็นจริง
นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานว่า เท่าที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันกว่า 1,000
รายแล้วที่ออกมาประกาศตัวเลขผลประกอบการใหม่ โดยย้อนหลังแก้ไขไกลลงไปถึงปี
1997 ทีเดียว ในการนี้จะมีการสารภาพว่ารายงานก่อนหน้านี้ล้วนแต่เป็นการเผยแพร่ตัวเลขที่ผิดพลาด
ตลอดจนตัวเลขที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าดีเลิศดียิ่ง
หุ้นกลายเป็นของร้อนไปทั่วโลก DJIA ทรุดทะลุ 9,000 อย่างง่ายๆ
ตลาดหุ้นในสหรัฐฯเปิดตลาดวันวานในอาการดิ่งเหวเสมือนตลาดหุ้นพรรคพวกที่ทรุดเละล่วงหน้า
โดยมีหุ้นในกลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มไฮเทค ไปจนถึงกลุ่มสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะหุ้นซิตี้แบงก์
หุ้นเจพี มอร์แกน เชส หุ้นจีอี ล้วนถูกเทกระจาดเสียหายหนัก
ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ใช้เวลาไม่กี่นาที ก็ทรุดทะลุแนวรับอันแข็งแกร่งระดับ
9,000 อย่างง่ายดาย หลังจากที่ดัชนีซูเปอร์สตาร์ตัวนี้ไม่เคยต่ำกว่าพรมแดนเก้าพันนี้เลยนับจากเมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์ ต้นปีนี้
ก่อนหน้านั้น ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ทรุดไปปักหลักอยู่ในปริมณฑล 8,900 ในชั่วโมงทำการของฝั่งเอเชียและยุโรป
สถานการณ์ของหุ้นในเอเชียและยุโรปสาหัสล่วงหน้าก่อนสหรัฐฯ ในวิสัยทัศน์ว่า
หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯผู้เป็นลูกค้ารายใหญ่ตกสู่ภาวะป่วยหนัก เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ
ย่อมต้องถูกหางเลขไปด้วย นอกจากนั้น ในเมื่อแท้ที่จริงแล้วผลประกอบการของเจ้าพ่อด้านโทรคมนาคมมิได้ดีจริง
นักลงทุนย่อมผวาว่าผลประกอบการในวงการโทรคมนาคมของประเทศต่างๆ ก็ยากจะดีไปด้วย
หากไม่ใช่ว่าเคยแย่ในอดีต ก็มีความเป็นไปได้ที่จะย่ำแย่ในอนาคต
หุ้นโทรคมนาคม ตลอดจนหุ้นต่างๆ ในแวดวงไฮเทค ไปถึงหุ้นพื้นฐานทั้งหลาย ล้วนแต่ถูกนักลงทุนเทกระจาดสาดเสียเทเสีย
ดัชนีหุ้นคอสพีของตลาดโซลตกตื่นย่ำแย่เกินใคร ปิดตลาดติดลบ 7.15% เหลืออยู่แค่
701.87 ดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดญี่ปุ่นคะมำคว่ำลงไป 4.02% ปิดตลาดที่ระดับ
10,074.56 และดัชนีหุ้นฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงร่วงลึก 2.4% ปิดตลาดที่ระดับ
10,355.92
ด้านดัชนีหุ้นของตลาดลอนดอน ตลาดแฟรงก์เฟิร์ต และตลาดปารีส ก็ดิ่งสาหัสตั้งแต่ตลาดเช้ายันตลาดบ่าย
ในดีกรีติดลบมากกว่าสามเปอร์เซ็นต์ไปจนถึงมากกว่าสี่เปอร์เซ็นต์
ดอลลาร์ดิ่งหาสะดือทะเล BOJทุบเยนอ่อนไม่สำเร็จ
ขวัญผวาและความเสื่อมศรัทธาต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลบั่นทอนค่าเงินดอลลาร์อย่างมโหฬาร
เงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่เงินเยนกับเงินยูโรดีดแข็งอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนแห่หนีตายออกจากตลาดการเงินสหรัฐฯ
ดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูโรจะแตะระดับหนึ่งต่อหนึ่งได้อย่างแน่นอน แล้วดอลลาร์จะอ่อนไปไกลกว่านั้นได้ไม่ยาก
นักวิเคราะห์ฟันธงอย่างนั้น
เงินเยนถูกกระแสเทขายดอลลาร์งัดขึ้นจากระดับ 120.42 เยนต่อดอลลาร์ ไปเคลื่อนไหวแถวๆ
119 เยนต่อดอลลาร์ภายในไม่ทันจะข้ามวันวานนี้
กระแสทุบเงินดอลลาร์ดันขึ้นเงินเยนเชี่ยวกราก โดยไม่หวั่นเกรงกับปฏิบัติการแทรกแซงตลาดที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจดำเนินการเมื่อวานเลย
บีโอเจแสดงจุดยืนแจ่มชัดมาหลายรอบแล้วว่า สามารถทำใจยอมให้เงินเยนแข็งได้ไม่เกิน
120 เยนต่อดอลลาร์ อันเป็นระดับที่ภาคธุรกิจบอกว่าหากแข็งกว่านี้จะส่งผลต่อยอดขายและผลกำไร
นักวิเคราะห์จึงค่อนข้างเชื่อว่า การแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายเงินเยนรับซื้อดอลลาร์จะปรากฏอีก
อย่างไรก็ตาม ดีลเลอร์บอกว่าแรงขายเยนซื้อดอลลาร์ที่บีโอเจกระทำเป็นคำรบที่สองในรอบสัปดาห์นี้
ยากจะต้านกระแสตลาดที่กำลังแรงอยู่ในขณะนี้
ยิ่งกว่านั้น ท่าทีของประธานาธิบดีจอร์จ บุชแห่งสหรัฐฯ ก็ช่วยโหมกระแสนี้โดยตรง
ล่าสุดบุชพูดจากที่ประชุมสุดยอดกลุ่มจี 8 ที่แคนาดาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า
“ดอลลาร์จะแสวงหาระดับของมันเอง โดยอิงอยู่กับพลังตลาด”
นักลงทุนวิ่งหาพื้นที่ปลอดภัย ทองกลับไป 325 บอนด์กระฉูด
เม็ดเงินที่หอบหิ้วกันหนีออกจากตลาดหุ้น ยังเดินยุทธศาสตร์หลักอย่างเคร่งครัด
คือวิ่งเข้าหาสินทรัพย์จำพวกกำไรต่ำมั่นคงสูง ตลาดทองคำและตลาดตราสารหนี้
ราคาทองคำตลาดสปอตที่อ่อนลงไปแถวๆ 319 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันอังคาร พุ่งกระฉูดกลับไปยังระนาบ
324.5 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างรวดเร็ว
ตราสารหนี้ก็เป็นสินค้าซื้อง่ายขายคล่องไปเช่นกัน ราคาบอนด์กระทรวงการคลังสหรัฐฯกระเด้งขึ้น
ขณะที่ยีลด์อ่อนลงทันตา เช่น ยีลด์ของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯประเภท 2 ปี อ่อนลง
0.2106% อยู่ที่ระดับแค่ 2.63% อันเป็นระดับต่ำสุดๆ ที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
เวิลด์คอมยอมรับแต่งบัญชีเงินสดหมุนเวียน
เวิลด์คอม ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอันดับ 2 ของสหรัฐฯ สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว
ด้วยการเปิดเผยว่าได้ปรับแต่งตัวเลขเงินสดหมุนเวียนสูงเกินจริงเฉียด 4,000
ล้านดอลลาร์ระหว่าง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในกรณีการปลอมแปลงบัญชีครั้งมโหฬารที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจทั่วโลก
นอกจากนั้น ปัญหาดังกล่าวที่ถูกตรวจพบระหว่างการตรวจสอบบัญชีภายใน ยังก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความอยู่รอดของเวิลด์คอม
ตลอดจนเอ็มซีไอ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลที่ถูกซื้อเข้ามาในปี 1998 ทั้งนี้เพราะนอกจากถูกทางการตรวจสอบเรื่องวิธีการทำบัญชีแล้ว
เวิลด์คอมในขณะนี้ยังกำลังดิ้นรนหนักเพื่อหาเงินมาโปะหนี้มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์
เดือนที่แล้ว หุ้นของบริษัทถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปอยู่ระดับจังค์บอนด์
ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีหล่นวูบกว่า 94% ก่อนที่บริษัทจะออกมาเปิดเผยเรื่องราวฉาวโฉ่นี้ในคืนวันอังคารด้วยซ้ำ
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เวิลด์คอมจะขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลาย
ตามรอยเอนรอน, โกลบัล ครอสซิ่ง และอีกหลายบริษัทที่มีเรื่องอื้อฉาวทางบัญชีนับจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เวิลด์คอมพยายามหนีสถานะดังกล่าวด้วยการประกาศปลดพนักงาน 1
ใน 5 หรือ 17,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดหวังให้เวิลด์คอมสั่งปลดมาหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้ว
แทนที่จะมีกำไร 1,400 ล้านดอลลาร์อย่างที่รายงานไว้ในปี 2001 และ 130 ล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้
เวิลด์คอมสารภาพว่า ในช่วงเวลาเหล่านั้น บริษัทขาดทุน แต่ไม่ยอมระบุยอด
เวิลด์คอมยังประกาศปลด สก็อตต์ ดี. ซัลลิแวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน
(ซีเอฟโอ) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านการเงินระหว่างกลางถึงปลายทศวรรษ
1990 ที่นำเวิลด์คอมขึ้นมาจากบริษัทสื่อสารชั้นสองสู่ระดับเวิลด์คลาส มีธุรกิจใน
65 ประเทศ และว่าจ้างพนักงาน 80,000 คนทั่วโลก ผ่านการกว้านซื้อกิจการ ซึ่งรวมถึงการเทคโอเวอร์เอ็มซีไอด้วยเงิน
30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1998
ซัลลิแวนใกล้ชิดสนิทสนมกับ เบอร์นาร์ด เจ. เอบเบอร์ส ที่รั้งตำแหน่งประธานบริหารเวิลด์คอมมายาวนาน
และเพิ่งลาออกกระทันหันในเดือนเมษายน เขาติดหนี้บริษัทอยู่มากกว่า 366 ล้านดอลลาร์
ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงหนี้ที่บริษัทค้ำประกันให้ด้วย
คณะกรรมการอำนวยการบริษัท (บอร์ด) ของเวิลด์คอมเผยว่า ซัลลิแวนพยายามอธิบายกระบวนการคิดและวิธีการบันทึกบัญชีที่เขาใช้
ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สามารถยอมรับได้สำหรับคณะอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีของบริษัท
และเคพีเอ็มจี
วิธีการดังกล่าวคือการเปลี่ยนต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ การลงบัญชีว่าการบำรุงรักษาเครือข่ายพื้นฐาน
เป็นรายการการลงทุน ซึ่งถือเป็นอุบายทางบัญชีเพื่อปิดบังค่าใช้จ่ายของบริษัท
ทำให้เงินสดหมุนเวียนมีจำนวนสูงเกินจริง และรายงานผลกำไรแทนการขาดทุน
ทั้งนี้ จนถึงเดือนที่แล้ว ผู้ตรวจสอบบัญชีของเวิลด์คอมยังคงเป็น อาร์เธอร์
แอนเดอร์เซน ที่เคยตรวจสอบบัญชีให้เอนรอน และโกลบัล ครอสซิ่ง แต่เดือนที่แล้ว
เวิลด์คอมตัดสินใจเลิกสัญญากับ อาร์เธอร์ แอนเดอร์เซน และจ้างเคพีเอ็มจีมาตรวจสอบบัญชีแทน
และขอให้เคพีเอ็มจีเข้ามาจัดการรายงานการเงินประจำปี 2001 และ 2002 ของบริษัท
“คณะผู้บริหารอาวุโสของเราช็อกไปตามๆกันกับสิ่งที่ตรวจพบเหล่านี้ ผมอยากรับประกันกับลูกค้าและพนักงานของเราว่า
บริษัทจะยังคงอยู่รอดและยังคงยึดมั่นกับอนาคตระยะยาว” จอห์น ดับเบิลยู. ซิดมอร์
ผู้รับตำแหน่งประธานบริหารต่อจากเอบเบอร์ส กล่าว
เวิลด์คอม ที่เคยมีมูลค่าสูงสุด 115,300 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน 1999
เมื่อราคาหุ้นของบริษัทพุ่งไปยืนจังก้าอยู่ที่ 62 ดอลลาร์ต่อหุ้น มาวันนี้กลับกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าไม่ถึง
1,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากข่าวนี้แพร่งพรายออกไป ราคาหุ้นของบริษัทหล่นไปเหลือแค่
26 เซนต์เท่านั้น
นอกจากซัลลิแวนแล้ว เวิลด์คอมยังอนุมัติการลาออกของ เดวิด มายเออร์ส จากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้ควบคุมการเงิน
บริษัทยังแจ้งเรื่องนี้ไปยังเอสอีซีที่เริ่มตรวจสอบบัญชีของบริษัทมาตั้งแต่เดือนมีนาคม
สำหรับในสายตานักลงทุนนั้น การที่เวิลด์คอมยักย้ายถ่ายเทตัวเลขเงินสดหมุนเวียน
ไม่ใช่แค่รายงานผลกำไร ถือเป็นเรื่องใหญ่เอาการ เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมา นักลงทุนจะเชื่อว่าเงินสดหมุนเวียนเป็นดัชนีบ่งชี้สถานะการเงินของบริษัทที่เชื่อถือได้มากกว่า
เพราะปลอมแปลงไม่ง่ายเหมือนตัวเลขผลกำไร